x close

ป.ป.ช. แจง 5 ปมสงสัย กรณีไต่สวนนายกฯ คดีจำนำข้าว



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ข่าวสด

           ป.ป.ช. ร่อนหนังสือ แจง 5 ปมสงสัย จากกรณีไต่สวน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คดีทุจริตจำนำข้าว ยันให้ความเป็นธรรม

            วันนี้ (1 เมษายน 2557) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีร้องขอถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ข้อหาทุจริตโครงการจำนำข้าว

          โดยเอกสารแถลงของ ป.ป.ช. มี 5 ประเด็นด้วยกัน ซึ่งสาระสำคัญนั้น เป็นการชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายการเมือง ที่พุ่งเป้าโจมตีการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าไม่ให้ความเป็นธรรมกับนายกฯ ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ดังนี้..
          
        1. การที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวด้วยความเร่งรีบ และใช้เวลาเพียง 21 วัน ก็มีการแจ้งข้อกล่าวหานั้น เรื่องนี้ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว

           จากการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้กำหนดให้มีนโยบายโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศ ดังนั้นในการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้นับตั้งแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริงจนกระทั่งให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ มารับทราบข้อกล่าวหา รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ปี 10 เดือน จึงไม่ได้ใช้เวลาไต่สวนเพียง 21 วันแต่อย่างใด

          2. การที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุว่าการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้ามาเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ ทำให้กลายเป็นคู่กรณีกับผู้ถูกกล่าวหาเสียเอง แทนที่จะเป็นคนกลางในการอำนวยความยุติธรรมนั้น ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ. ป.ป.ช.) มาตรา 66 ระบุว่าเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับรายงานจากการไต่สวนข้อเท็จจริงว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงต้องดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และตามกฎหมายยังกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถหยิบยกเรื่องขึ้นไต่สวนข้อเท็จจริงได้เอง

        อย่างไรก็ดี แม้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะเป็นผู้กล่าวหาเอง แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็จะต้องดำเนินการไต่สวนให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. โดยไม่ได้มีการยกเว้นในเรื่องหนึ่งเรื่องใดทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาทุกรายรวมถึงนายกรัฐมนตรีจึงได้รับการอำนวยความยุติธรรมเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายดังกล่าว

        3. การที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุว่าเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกกล่าวหา จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณานั้น ในกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคำนึงระดับตำแหน่งของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นการคุ้มครองผู้ถูกกล่าวหาตามสมควร จึงได้กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง

        ดังนั้น การที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจว่าจะต้องมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนนั้น จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และการให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงนั้น เป็นการคุ้มครองและให้เป็นธรรมแก่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีตามกฎหมาย

        4. การที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุว่าประสงค์จะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อขอตรวจสอบพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งในกรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เคยอนุญาตให้ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาเข้าตรวจพยานหลักฐานแทนผู้ถูกกล่าวหาเนื่องจากมีพฤติการณ์พิเศษ และได้คัดถ่ายเอกสารหลักฐานในสำนวนการไต่สวนให้ไปจำนวน 49 แผ่น ซึ่งได้ครอบคลุมการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาตามที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว

        ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาได้มีหนังสือขอตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมจำนวน 19 รายการนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเนื้อหาของเอกสารทั้ง 19 รายการดังกล่าว เป็นเอกสารประกอบเรื่องตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยให้ทนายความของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ตรวจดูและคัดถ่ายให้แล้วจำนวน 49 แผ่น ยกเว้นเอกสารบางรายการซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป และมีอยู่ที่ตัวผู้ถูกกล่าวหาแล้ว หรือหน่วยงานที่ผู้ถูกกล่าวหาบังคับบัญชาอยู่

        อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงอนุญาตให้ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาเข้าตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ และคัดถ่ายไปจำนวน 280 แผ่น ก่อนที่จะถึงกำหนดยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 3 วัน ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความประสงค์ของผู้ถูกกล่าวหาเอง และไม่ทำให้รูปของคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุว่าเพิ่งได้รับเอกสารเพียง 3 วัน ทำให้ไม่อาจชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ทันนั้น จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

        5. การที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุว่าการขอเลื่อนคดีของผู้ถูกกล่าวหาจะมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ และการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจะมีเหตุผลมากน้อยเพียงใดนั้น ป.ป.ช  ได้มีมติอนุญาตให้ขยายระยะเวลามาจนถึงวันที่ 31 มีนาคม หากนับจากวันรับทราบข้อกล่าวหาถึงวันที่อนุญาตให้ขยายเวลา รวมแล้วเป็นเวลา 32 วัน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าระยะเวลาดังกล่าว รวมทั้งเอกสารหลักฐานที่อนุญาตให้คัดถ่ายไปครั้งแรกจำนวน 49 แผ่น ครอบคลุมข้อเท็จจริงที่จะใช้ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว จึงมีมติไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ไม่ว่าจะทำเป็นหนังสือหรือชี้แจงด้วยวาจาภายในกำหนดเดิม

        ทั้งนี้ หากผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะเพิ่มเติมพยานหลักฐานในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ก็สามารถกระทำได้โดยให้ระบุมาในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ป.ป.ช. แจง 5 ปมสงสัย กรณีไต่สวนนายกฯ คดีจำนำข้าว อัปเดตล่าสุด 1 เมษายน 2557 เวลา 15:22:05 12,067 อ่าน
TOP