x close

คณะรัฐบุคคล เสนอ ป๋าเปรม นำทูลเกล้านายกฯ ม.7 ผ่าวิกฤตการเมือง


คณะรัฐบุคคล เสนอ ป๋าเปรม นำทูลนายกฯ ม.7 ผ่าวิกฤตการเมือง


ชง‘ป๋า’นำผ่าทางตัน รัฐบุรุษรับสนองราชโองการแม้วฟุ้งหลังเมษามีเรื่องใหญ่ (ไทยโพสต์)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ Pvisetsingh สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

            "พล.อ.สายหยุด-นายปราโมทย์" นำทีมคณะรัฐบุคคล เสนอแนวคิดใช้รัฐบุรุษที่มีหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการช่วยผ่าทางตันการเมือง ทำหนังสือถึง "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" พูดคุยกับตุลาการ-ทหาร-ผู้นำทางสังคม ร่างพระบรมราชโองการทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อเสนอให้ทรงลงพระปรมาภิไธยแก้วิกฤติเหมือนในอดีต

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14  เมษายน 2557 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น คณะรัฐบุคคลซึ่งนำโดย พล.อ.สายหยุด เกิดผล อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด, นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ, พล.อ.อ.เทิดศักดิ์ สัจจะรักษะ อดีตรอง ผบ.ทอ. และ ร.อ.ปราศรัย ทรงสุรเวทย์ อดีตผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง "ทางออกประเทศไทยเมื่อยิ่งลักษณ์หมดความชอบธรรมในการปกครองประเทศทั้งทางด้านนิตินัยและพฤตินัย"

            พล.อ.สายหยุด เกิดผล  อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแกนนำคณะรัฐบุคคล กล่าวว่า จากวิกฤติทางการเมืองขณะนี้ คณะรัฐบุคคลได้ย้อนดูประวัติศาสตร์และอำนาจหน้าที่ของส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม, พฤษภาทมิฬ ประเทศเราต่างผ่านวิกฤติมาได้ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น วิกฤติทางการเมืองในครั้งนี้ก็เห็นว่า พระบารมีจะทำให้ประเทศไทยผ่านไปได้ แต่เนื่องจากพระองค์ท่านทรงไม่อาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองได้ ซึ่งคณะรัฐบุคคลเห็นว่า โครงสร้างของประเทศไทยยังมีตำแหน่งรัฐบุรุษอยู่ และตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงตำแหน่งที่มีเกียรติศักดิ์ศรี แต่มีหน้าที่ที่รับสนองพระบรมราชโองการ

            และปัจจุบัน รัฐบุรุษในประเทศไทยขณะนี้ก็มีเพียง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่จะทำหน้าที่ได้ในการรับสนองพระบรมราชโองการ และพยายามที่จะร่างพระบรมราชโองการขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อเสนอเมื่อเกิดเหตุการณ์บ้านเมืองยุ่งเหยิง ดังนั้น คณะรัฐบุคคลจึงเสนอให้ รัฐบุรุษทำหน้าที่พูดคุยกับองค์กรต่าง ๆ ที่เป็นหลักของบ้านเมือง ทั้งตุลาการ ทหารและผู้นำทางสังคม เพื่อร่างพระบรมราชโองการนำเสนอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้ทรงลงปรมาภิไธย แต่กรณีดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับการเสนอใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7
   
            "เราเชื่อว่าเมื่อมีพระบรมราชโองการออกมาแล้ว สังคมไทยจะยอมรับเหมือนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ขณะที่หน้าที่ของเราเป็นเพียงการเสนอแนวทางว่า ใครมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง ส่วนเนื้อหาร่างพระบรมราชโองการเป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่ต้องเป็นผู้ดำเนินการและรับผิดชอบ"

            เมื่อถามว่า ได้มีการนำข้อเสนอนี้แจ้งไปยัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้รับทราบ และมีการตอบกลับมาแล้วหรือไม่ อย่างไร พล.อ.สายหยุด เปิดเผยว่า คณะรัฐบุคคลได้มอบหมายให้นายปราโมทย์ เป็นผู้ประสานงานในเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้มีการส่งทั้งในรูปแบบของจดหมายและบทความไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  และสำหรับการแถลงข่าวครั้งนี้เราต้องการให้ทุกฝ่าย รวมถึงสื่อมวลชนเข้าใจเนื้อหาดังกล่าว หากสื่อมวลชนเห็นด้วยก็จะได้ช่วยกันเรียกร้องดำเนินการแนวทางดังกล่าว    

            "เราเห็นว่าแนวทางดังกล่าวสามารถดำเนินการได้เลยในขณะนี้ เพราะเห็นว่าประเทศมีปัญหามากแล้ว ไม่ต้องรอให้เข้าสู่สภาวะสุญญากาศ เพราะหากฝ่าย กปปส. สามารถปฏิรูปแล้วตั้งรัฐบาลใหม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งก็คงจะออกมาต่อต้านใหม่ แล้วดำเนินการเหมือน กปปส. ในขณะนี้ สุดท้ายสถานการณ์ก็ยังจะไม่ยุติลง" พล.อ.สายหยุด แกนนำคณะรัฐบุคคลกล่าว

            ด้าน นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ กล่าวยืนยันว่า ข้อเสนอนี้ไม่ได้เป็นการบีบคั้นแล้วทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เหมือนที่หลายฝ่ายโจมตีว่า เราเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่พูดจาเลอะเทอะ โดยแนวทางของกลุ่มได้มีการศึกษาและย้อนดูประวัติศาสตร์แล้ว และเราในฐานะประชาชนก็มีสิทธิ์และหน้าที่ในการตรวจสอบให้ทุกฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตน

            ขณะที่นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า แนวทางเรื่องของรัฐบุรุษดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในหลายแนวทางที่สังคมพยายามหาทางออก แต่ก็คงมีประเด็นสำคัญในเรื่องช่วงเวลาว่า ต้องรอให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองหรือไม่ โดยคณะรัฐบุคคลมองว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดสุญญากาศ  แต่อีกมุมมองหนึ่งอาจมองว่าต้องให้มีสุญญากาศ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ซึ่งจะให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้เสนอและรับสนองพระบรมราชโองการ

            นายบรรเจิด ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยสถานภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีการย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ด้วยว่า กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความแตกต่างกับกรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกร้องให้สิ้นสุดสถานภาพ ส.ส. จากกรณีการหนีการเกณฑ์ทหาร เพราะเมื่อยุบสภาฯ นายอภิสิทธิ์ ก็สิ้นสุดจากการเป็น ส.ส. ไปโดยปริยาย แต่กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีอยู่ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัวด้วยเหตุการตาย ลาออก ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 174

            แต่เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่พ้นสภาพการเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ประเด็นที่มีการกล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจที่จะรับวินิจฉัยได้ แต่ถ้าระหว่างนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออกแล้ว ฐานะความเป็นรัฐมนตรีย่อมสิ้นสุดลงเฉพาะตัว แล้วจะทำให้วัตถุแห่งคดีที่ศาลจะทำการวินิจฉัยหมดไป ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอีก และถ้านายกรัฐมนตรีพ้นจากสภาพแล้ว ส่วนตัวก็มองว่าในทางปฏิบัติและหลักรัฐศาสตร์ คณะรัฐมนตรีก็ไม่น่าจะอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป แต่กรณีนี้อาจมีการตีความอย่างหลากหลาย





ขอขอบคุณข้อมูลจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คณะรัฐบุคคล เสนอ ป๋าเปรม นำทูลเกล้านายกฯ ม.7 ผ่าวิกฤตการเมือง อัปเดตล่าสุด 15 เมษายน 2557 เวลา 11:29:08 15,142 อ่าน
TOP