x close

บวรศักดิ์ เสนอ 7 แนวทางปฏิรูปประเทศ ยกอำนาจศาล รธน. เหนือทุกองค์กร

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ


             บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เสนอ 7 แนวทางปฏิรูปประเทศ แนะแก้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ให้สามารถเข้าตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาทุกครั้งโดยอัตโนมัติ ควบคุมการหาเสียงประชานิยม ชี้สื่อต้องไม่ถูกแทรกแซง

                วันที่ 24 เมษายน 2557 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า ขณะนี้ในประเทศไทย มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศ ทั้งฝ่าย กปปส. และรัฐบาล ที่ก่อนหน้านี้เคยพยายามตั้งสภาปฏิรูป ตลอด 20 ปีที่ผ่านมากระแสปฏิรูปในโลกมีความรุนแรงขึ้น โดยมีจุดหมายเดียวกันคือ เพื่อเพิ่มอำนาจความทรงธรรม และจำกัดอำนาจเสียงข้างมากให้อ่อนลง 

                นอกจากนี้ นายบวรศักดิ์ ยังได้เสนอว่า ประเทศไทยควรจะปฏิรูปด้านความเป็นธรรมใน 7 แนวทาง คือ 

                1. ปฏิรูปรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายทรงธรรมเหนือองค์ทุกองค์ที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งต้องมีการลงประชามติจากประชาชน และพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยทุกครั้ง ซึ่งถ้าประชาชนไม่เห็นชอบและพระมหากษัตริย์ไม่ลงพระปรมาภิไธยให้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป และต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาทุกครั้งโดยอัตโนมัติก่อนการลงประชามติของประชาชน ถึงแม้ในขณะนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ต้องมีผู้ยื่นเรื่องเข้ามาถึงจะตรวจสอบได้ 

                2. การปฏิรูปต้องไม่ทำตามอำเภอใจของทุกองค์กร ก่อนหน้านี้แม้แต่ระบอบราชาธิปไตย นิติธรรมยังอยู่เหนือพระมหากษัตริย์ ยิ่งในระบอบประชาธิปไตยจึงมิอาจปฏิเสธหลักนิติธรรมได้ แต่หลักนิติธรรมไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร เพราะเป็นแนวทางในการปกครองที่มาจากหลักนิติธรรมตามธรรมชาติ ปราศจากอคติมาแอบแฝง ซึ่งทุกองค์กรต้องยึดในแนวทางปฏิบัติ ดังนั้นหลักนิติธรรมจึงอยู่เหนือกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่จะออกมาเพื่อขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้ 


                3. การปฏิรูปใหม่จะต้องจัดการผลประโยชน์ ยกเลิกประชานิยม เปลี่ยนเป็นรัฐสวัสดิการ รัฐธรรมนูญ ปี 40 และปี 50 ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าถึงทรัพยากร เป็นช่องว่างให้พรรคการเมือง นักการเมืองฉวยโอกาสหาเสียงนโยบายประชานิยม ดังนั้น การปฏิรูปการเมือง ต้องยกเลิกประชานิยม และการหาเสียงประชานิยมต้องระบุค่าใช้จ่ายในนโยบายอย่างละเอียด ให้หัวหน้าพรรคที่มีเสียงในรัฐสภา ต้องดีเบตนโยบายประชานิยมทางทีวี และต้องกำหนดว่าการกู้เงินของรัฐบาลต้องทำเพื่อลงทุนเท่านั้น จะไปกู้เงินมาใช้เรื่องอื่นไม่ได้ พร้อมกันนี้ต้องจัดตั้งองค์กรจัดสรรทรัพยากร ที่มีอำนาจในการเสนอแนะและจัดสรรให้แก่ประชาชน โดยตราเป็นกฎหมาย ไม่ใช่ให้ตามอำเภอใจ 

                4. ควรปฏิรูปการแบ่งแยกอำนาจจากพรรคการเมือง และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรมาจากพรรคการเมือง ส่วนวุฒิสภามาจากผู้เเชี่ยวชาญจากสาขาอาชีพต่าง ๆ เพื่อคานอำนาจกัน และในสภาผู้แทนต้องยกเลิกผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรค เพื่อให้อิสระในการทำงาน พร้อมกันนี้ต้องมีการคุ้มครองฝ่ายเสียงข้างน้อยทางการเมือง โดยเฉพาะเฉลี่ยเวลาการออกสื่อต่าง ๆ ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลให้เท่าเทียมกัน นอกจากนั้นให้ข้าราชการตั้งสหภาพได้ เพื่อตรวจสอบการทำงานฝ่ายบริหาร และจัดให้มีการประเมินเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รัฐสภา ได้ตลอดเวลา

                5. ต้องปฏิรูปสื่อ ต้องให้สื่อมวลชนเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากรัฐและนายทุน ถึงแม้วันนี้จะมีสื่อมวลชนที่ไม่ถูกแทรกแซงการทำงานจากรัฐ แต่ก็ยังตกอยู่ภายใต้นายทุน ทำให้ไม่เป็นอิสระในการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ต้องยุติสื่อมวลชนที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง สื่อมวลชนเลือกข้าง ไม่ว่าจะเป็นสื่อสีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง

                6. ต้องออกกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ 

                7. ปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมต้นทาง คือ ตำรวจ ต้องปฏิรูปทุกระดับ 

                นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ ปี 50 วางรากฐานไว้ดีแล้ว แต่เราต้องช่วยกันใส่เครื่องมือลงไป ฝ่ายบริหารต้องเคารพกฎหมาย ต้องเคารพคำวินิจฉัย เพราะถ้าฝ่ายบริหารไม่เคารพกฎหมาย หลักนิติธรรมจะล่มสลาย รัฐจะล้มเหลว ปัญหาต่าง ๆ จะเกิดขึ้นกับสังคมโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราคงไม่อยากเห็นคนไทยทุกคน ต้องตั้งกองกำลังของตนเอง ถ้ากฎหมายศักสิทธิ์ ก็ไม่จำเป็นตั้งกองกำลัง ถ้ารัฐเป็นผู้พิทักษ์กฎหมายเสียเอง


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บวรศักดิ์ เสนอ 7 แนวทางปฏิรูปประเทศ ยกอำนาจศาล รธน. เหนือทุกองค์กร โพสต์เมื่อ 24 เมษายน 2557 เวลา 16:45:44 11,033 อ่าน
TOP