x close

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ประวัติอดีต ผบ.ทบ. สู่ที่ปรึกษา คสช.

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย

                รู้จักประวัติ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง คสช. อดีตทหารเสือราชินี ผู้มีความสนิทสนมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ในฐานะอดีตผู้บังคับบัญชา

                หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานต่อเนื่องหลายเดือน จนกระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ โดยหนึ่งในผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญใน คสช. คือ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งได้รับเชิญ คสช. ให้มาเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคง และวันนี้กระปุกดอทคอมก็มีประวัติของ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา มาฝากกัน

                สำหรับ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา มีชื่อเล่นว่า ป็อก เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2492 เป็นบุตรชายของ ร.ท.เชาว์ เผ่าจินดา ต่อมาได้สมรสกับ นางกุลยา เผ่าจินดา และมีบุตรธิดา 2 คนคือ นายยุทธพงษ์ เผ่าจินดา และนางสาววิมลิน เผ่าจินดา


 ประวัติการศึกษา

                โดยพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนพันธะศึกษา แผนกมัธยม พ.ศ. 2508 และโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร พ.ศ. 2509 จากนั้นได้เข้าเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 ซึ่งเป็นรุ่นที่มีทหารและตำรวจคนดังมากมาย อาทิ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ, พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี ฯลฯ 

                ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 นี้ ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา เนื่องจากในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น บุคคลร่วมรุ่นเหล่านี้ล้วนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ที่มีบทบาทในการคุมกำลังพลของกองทัพและฝ่ายความมั่นคงของประเทศ ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ทำให้นายทหารในรุ่นหลายคนถูกปรับโยกย้ายไปในตำแหน่งที่ไม่ได้มีบทบาทในการคุมกำลังพลอีกเช่นเคย

                นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ ยังได้ศึกษาเพิ่มเติมนอกเหนือจากหลักสูตรทางด้านการทหารและได้จบปริญญาตรีทางด้าน รัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจบปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 26


ประวัติการรับราชการ

                พล.อ.อนุพงษ์ เป็นนายทหารที่อยู่ในสายงานคุมกำลังรบมาตั้งแต่เริ่มรับราชการใหม่ โดยเติบโตในเส้นทาง ทหารเสือราชินี กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) เริ่มจากเป็น พ.ท.ในตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 พัน 1 รอ.) พ.อ.ในตำแหน่งเสนาธิการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (เสธ.ร.21 รอ.) และเป็นรองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (รอง ผบ.ร.21 รอ.) เป็น พ.อ. (พิเศษ) ในตำแหน่งผู้บังคับ การกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 รอ.)

                จากนั้น ได้ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (รอง ผบ.พล. ร.2 รอ.) และเป็น พล.ต.ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.ร.2 รอ.) และข้ามมาเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ. พล.1 รอ.) เมื่อปี 2547 ถูกขยับเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 และปี 2548 เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 

                หลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 ได้เลื่อนยศเป็น พล.อ. ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หรือที่เรียกว่า 5 เสือ ทบ. และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คู่กับ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร และเป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ คมช.

                นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 2 กันยายน 2551 ถึง 14 กันยายน 2551 และรับตำแหน่งผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 4 กันยายน 2551 ถึง 14 กันยายน 2551 

                ปัจจุบัน ภายหลังการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้มีการแต่งตั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เป็นรองประธานที่ปรึกษา คสช.

อนุพงษ์ เผ่าจินดา

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา กับเส้นทางการเมือง

                พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นหนึ่งในทหารผู้ก่อการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 โดยขณะนั้น พล.อ.อนุพงษ์ อยู่ในยศ พลโท (พล.ท.) และเป็นแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 ถูกมองว่าแม้จะเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 (ตท.10) เหมือน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคพวก แต่กลับไม่เข้าร่วมหรือเห็นดีเห็นชอบด้วยกับการกระทำของกลุ่ม จึงถูกมองว่าเป็นฝ่ายต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วย จนถูกเรียกว่าเป็น ตท.10/1

                ในคืนเกิดเหตุรัฐประหาร พล.ท.อนุพงษ์ เป็นผู้ดำเนินการ เพราะกองทัพภาคที่ 1 มีขอบเขตหน้าที่ดูแลกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ๆ ในภาคกลางอยู่แล้ว โดยใช้แผน "ปฐพี 149" โดยวางกำลังเป็นจุด วางเป้าหมาย รวมถึงจัดกำลังจากหน่วยทหารต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย และมีกองกำลังจากกองทัพภาคที่ 3 ของ พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นฝ่ายประสาน โดยการดำเนินการครั้งนี้กระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังอย่างที่สุด เพราะเป็นการเดิมพันด้วยชีวิต หากการไม่สำเร็จก็จะกลายเป็นกบฏในทันที โดยผู้ที่คิดวางแผนให้ใช้ริบบิ้นเหลืองผูกปลายปืนก็คือ พล.ท.อนุพงษ์ เอง เพื่อเป็นการป้องกันกองกำลังของฝ่ายที่ต่อต้าน

                หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร พล.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เลื่อนยศเป็น พล.อ. ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หรือที่เรียกว่า 5 เสือ ทบ. และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) คู่กับ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร และเป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ คมช.


พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา กับตำแหน่ง ผบ.ทบ.

                พล.อ.อนุพงษ์ ได้รับเลือกให้เป็น ผู้บัญชาการทหารบก (คนที่ 36) ต่อจาก พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2550 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ได้รับตำแหน่งเป็น หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 ถึง 14 กันยายน พ.ศ.2551 และรับตำแหน่งผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551 ถึง 14 กันยายน พ.ศ. 2551

                โดยในช่วงที่ พล.อ.อนุพงษ์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. นั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านนายกรัฐมนตรีถึง 4 คน ได้แก่ สุรยุทธ์ จุลานนท์, สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนที่ พล.อ.อนุพงษ์ จะเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 และส่งไม้ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกคนต่อไป ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ถือได้ว่ามีความสนิทชิดเชื้อกันเป็นอันมาก ด้วยความเป็นผู้ใต้บังคับบัญชามาตลอดใน ร.21 รอ. (ทหารเสือราชินี) โดย พล.อ.ประยุทธ์ นับถือ พล.อ.อนุพงษ์ เสมือนพี่และอาจารย์คนหนึ่ง

                ทั้งนี้ หลังเกษียณอายุราชการ พล.อ.อนุพงษ์ ก็ไม่ได้มีบทบาทใด ๆ ทางการเมืองมากนัก กระทั่งในกลางปี 2557 มาปรากฏชื่อในการดำรงตำแหน่งรองประธานที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  

อนุพงษ์ เผ่าจินดา

ประวัติ

ชื่อ : พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา 
ชื่อเล่น : ป็อก
วันเกิด : วันที่ 10 ตุลาคม 2492

การศึกษา

- พ.ศ. 2508 : โรงเรียนพันธะศึกษา แผนกมัธยม
- พ.ศ. 2509 : โรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร
- พ.ศ. 2510 : โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10
- พ.ศ. 2515 : โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 21

 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก

- พ.ศ. 2517 หลักสูตรชั้นนายร้อย โรงเรียนทหารราบ ศูนย์การทหารราบ
- พ.ศ. 2520 หลักสูตรชั้นนายพัน โรงเรียนทหารราบ ศูนย์การทหารราบ
- พ.ศ. 2525 หลักสูตรเสนาธิการทหารบก หลักสูตรหลักประจำชุดที่ 61

วุฒิการศึกษา

- พ.ศ. 2536 ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- พ.ศ. 2544 รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการสำหรับนักบริหาร) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
- พ.ศ. 2547 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ปี 2546
- พ.ศ. 2556 ปริญญาโทมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ วิชาคอมมิวนิสต์ จาก มหาวิทยาลัยแห่งชาติรัสเซีย


 ตำแหน่ง

- พ.ศ. 2515 ผู้บังคับหมวดอาวุธกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
- พ.ศ. 2520 นายทหารยุทธการ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
- พ.ศ. 2524 รองผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
- พ.ศ. 2526 รองผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
- พ.ศ. 2529 ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
- พ.ศ. 2533 เสนาธิการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
- พ.ศ. 2535 รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
- พ.ศ. 2539 ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
- พ.ศ. 2541 เสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์
- พ.ศ. 2541 รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์
- พ.ศ. 2545 ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์
- พ.ศ. 2546 ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์
- พ.ศ. 2547 รองแม่ทัพภาคที่ 1
- พ.ศ. 2548 แม่ทัพภาคที่ 1
- พ.ศ. 2549 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
- พ.ศ. 2550 ผู้บัญชาการทหารบก

 ตำแหน่งราชการพิเศษ

- พ.ศ. 2515-2517 ปฏิบัติราชการสงคราม  บก.หน่วยผสม ๓๓๓
- พ.ศ. 2518-2519 ปฏิบัติราชการพิเศษปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในพื้นที่อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน
- พ.ศ. 2521–2545 ปฏิบัติหน้าที่ตามแผนป้องกันประเทศในกองกำลังบูรพา
- พ.ศ. 2525–ปัจจุบัน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์เวร รับราชการสนองพระเดชพระคุณ
- พ.ศ. 2545 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษประจำ ร.๒๑ รอ.
- พ.ศ. 2546 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษประจำ ร.๒ รอ.
- พ.ศ. 2546 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษประจำ ร.๑ รอ.
- พ.ศ. 2549 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษประจำ ร.๑๑ รอ.

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

- พ.ศ. 2517 เหรียญชายแดน
- พ.ศ. 2518 เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้น ๒
- พ.ศ. 2525 ตริตาภรณ์มงกุฏไทย  (ต.ม.)
- พ.ศ. 2530 เหรียญจักรมาลา
- พ.ศ. 2540 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก  (ท.ช.)
- พ.ศ. 2543 ประถมาภรณ์มงกุฏไทย (ป.ม.)
- พ.ศ. 2546 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
- พ.ศ. 2549 มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ. 2551 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)








อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ประวัติอดีต ผบ.ทบ. สู่ที่ปรึกษา คสช. อัปเดตล่าสุด 2 มิถุนายน 2557 เวลา 17:35:39 22,022 อ่าน
TOP