x close

อดีตรองประธาน สสร. ชี้ ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ไม่ขัด รธน.

 
อดีตรองประธาน สสร. ชี้ ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ไม่ขัด รธน.
  เสรี สุวรรณภานนท์ ชี้ ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ไม่ขัด รธน.

 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก เสรี สุวรรณภานนท์
 
          เสรี สุวรรณภานนท์ ชี้ ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เหตุ สนช. มีหน้าที่เลือก แนะ ตอนนี้ควรสนับสนุนคนที่ทำให้ประเทศเดินหน้ามากกว่า
 
          เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2557 เฟซบุ๊ก เสรี สุวรรณภานนท์ ของนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว และประธาน สนช. เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ และปกติหัวหน้า คสช. ก็ทำหน้าที่เหมือนนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว
 
          อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้ ใครเป็นคนทำให้ประเทศเดินหน้าได้ ก็ควรสนับสนุนมากกว่า เพื่อลดปัญหาประเทศให้มากที่สุด
 
          สำหรับข้อความทั้งหมดของนายเสรี มีดังนี้
 
          พลเอก ประยุทธ์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ขัดกับรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ?
 
          นี่แหละการเมืองไทย ที่ต้องอาศัยความอดทน และต้องรับฟังความเห็นที่แตกต่างในคนหมู่มาก หากมีคนเห็นไปในทางเดียวกันหมด นั่นซิเป็นเรื่องแปลก
 
          ปัจจุบัน ก็ทราบกันว่า สถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ มันไม่ปกติ รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นการใช้ "ชั่วคราว" อย่างที่ว่ากัน เพื่อให้ประเทศชาติผ่านพ้นวิกฤติไปชั่วเวลาหนึ่ง แล้วให้ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ด้วยการปฏิรูปประเทศไทยก่อนมีการเลือกตั้ง
 
          ซึ่งจากการที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีมติให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เริ่มมีปัญหาข้อถกเถียงให้ตีความกันแล้วว่า ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ? ก็ชักเริ่มเป็นห่วงประเทศไทยขึ้นมาแล้วว่า จะเดินไปข้างหน้าได้ไกลแค่ไหน และจะต้องตีความกันอีกกี่เรื่อง กว่าจะปฏิรูปประเทศไทยได้สำเร็จ
 
          ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จากการที่มีการส่งตีความดังกล่าว ซึ่งเมื่อดูตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 6 ที่บัญญัติให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำ และมาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภาและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ"
 
          ส่วนรัฐธรรมนูญ มาตรา 19 ได้บัญญัติว่า "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" และวรรคสี่ ของมาตรา 19 บัญญัติว่า "การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงนามสนองพระบรมราชโองการ"
 
          นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ยังได้กำหนดหน้าที่ของ คสช. และหัวหน้า คสช. อีกหลายเรื่อง เช่น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ที่บัญญัติว่า "ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินสองร้อยห้าสิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง.... ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ" และวรรคสาม ของมาตรา 28 บัญญัติว่า "ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และประธานสภาและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ"
 

          ส่วนรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มาตรา 42 ได้บัญญัติว่า "ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 6/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติต่อไป และมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" คือ ให้ คสช. มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาความมั่นคงของประเทศ ในการปฏิรูปประเทศ ส่งเสริมความสามัคคี และความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ เพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ให้หัวหน้าและ คสช. มีอำนาจในการสั่งการเพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยได้
 
          การที่รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มาตรา 42 ได้บัญญัติไว้ดังกล่าว ก็เพื่อให้ คสช. คงทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศต่อไป
 
          ส่วนคุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไว้แล้ว ซึ่งความเป็นหัวหน้า คสช. จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่นั้น รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ก็มิได้บัญญัติห้ามไว้
โดยเฉพาะ หากไปเปิดดูรัฐธรรมนูญ หลาย ๆ ฉบับที่ผ่านมา ได้กำหนดหน้าที่ในความรับผิดชอบในการรับสนองพระบรมราชโองการ ก็มีหลายลักษณะ โดยในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

 
          ส่วนในการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภา ก็ให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ
 
          ส่วนในขณะที่ไม่มีนายกรัฐมนตรี คนที่มีอำนาจบริหารปกครองเทศสูงสูด คือ หัวหน้า คสช. ซึ่งรัฐธรรมนูญ ก็กำหนดให้มีหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งประธานและรองประธาน สนช. ก็ผลัดกันรับผิดชอบกันไปกันมาเช่นนี้ เป็นปกติ มิได้ถือว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน หรือผิดจริยธรรมแต่อย่างใด
 
          ส่วนการที่ประชุม สนช. ซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย (มาตรา 11) ได้มีมติให้หัวหน้า คสช. ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีก็เป็นอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ตามมาตรา 19 วรรค 4 ซึ่งอำนาจหน้าที่เดิมของ หัวหน้า คสช. ได้บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว มาตรา 43 ที่บัญญัติว่า "ในระหว่างที่ยังไม่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้การดำเนินการเรื่องใดต้องได้รับความเห็นชอบหรือรับทราบจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา ให้เป็นอำนาจของหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ในการให้ความเห็นชอบหรือรับทราบแทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา" ก็เท่ากับว่า ที่ผ่านมา หัวหน้า คสช. มีอำนาจให้ทำงานต่าง ๆ ได้ทุกเรื่องทั้งหมด และวรรคสอง ของมาตรา 43 บัญญัติว่า "ก่อนที่คณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ"
 
          ว่าไปแล้ว ก็เท่ากับว่า ความเป็นหัวหน้า คสช. กับ นายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมา ก็เป็นคน ๆ เดียวกันอยู่แล้ว ตามมาตรา 43 วรรคสอง การที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติให้ หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี มันก็คงเหมือนเดิม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 วรรคสอง อยู่นั่นเอง
 
          มติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี จึงไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ประการใด
 
          สิ่งสำคัญมันอยู่ที่ว่า ตอนนี้หากมีใครที่ทำให้บ้านเมืองสงบร่มเย็น ประชาชนไม่แตกแยก ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ก็ควรช่วยกันสนับสนุน เพื่อให้ประเทศชาติ ได้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้ และควรช่วยกันลดปัญหาให้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเราก็บอบช้ำและเสียหายมามากมาย และถูกประเทศอื่นๆ ทิ้งห่างแซงเราไปมากแล้ว .

 
          เสรี สุวรรณภานนท์










เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อดีตรองประธาน สสร. ชี้ ประยุทธ์ นั่งนายกฯ ไม่ขัด รธน. โพสต์เมื่อ 24 สิงหาคม 2557 เวลา 12:59:21 6,579 อ่าน
TOP