x close

นักวิทย์จับปลามาเลี้ยงบนบก ศึกษาวิวัฒนาการจากปลาสู่สัตว์บก


นักวิทย์จับปลามาเลี้ยงบนบก ศึกษาวิวัฒนาการจากปลาสู่สัตว์บก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          นักชีววิทยาเผยการทดลองน่าสนใจ จับปลามาเลี้ยงบนบก ศึกษารูปแบบการวิวัฒนาการจากสัตว์น้ำสู่สัตว์บก

          เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2557 เว็บไซต์เดอะเวิร์จ เปิดเผยการทดลองที่น่าสนใจ เมื่อนักชีววิทยาได้จับเอาปลาที่หายใจบนบกได้ มาเลี้ยงบนบก 8 เดือน เพื่อศึกษาว่าสัตว์น้ำอย่างปลาวิวัฒนาการเป็นสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์บกได้อย่างไรเมื่อ 400 ล้านปีก่อน

          การทดลองดังกล่าวเป็นผลงานของทีมนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยออตโตวา ประเทศแคนาดา นำทีมโดย เอมิลี่ สแตนเดน พวกเขาได้นำปลาเซเนกัล ไบเชอร์ หรือที่เรียกว่า ปลาไหลไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นปลาที่มีเหงือกไว้หายใจในน้ำและมีปอดไว้หายใจบนบก มาเลี้ยงในห้องทดลองเป็นเวลานาน 8 เดือน โดยแบ่งปลาเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเลี้ยงในน้ำ ส่วนอีกกลุ่มเลี้ยงบนพื้นที่มีลายนูนตาข่ายและมีน้ำตื้น ๆ เพียง 3 มิลลิเมตรพอให้ตัวปลาไม่แห้ง จากนั้นก็เฝ้าสังเกตพฤติกรรมการใช้ชีวิตและความเปลี่ยนแปลงด้านสรีระของปลาที่เลี้ยงบนบก ก่อนจะอัดคลิปวิดีโอการเคลื่อนไหวของมันบนบกมาวิเคราะห์ และนำไปเปรียบเทียบกับปลาชนิดเดียวกันที่อาศัยอยู่ในน้ำ

          ผลการทดลองปรากฏออกมาอย่างน่าสนใจ เมื่อสแตนเดนพบว่า ปลาเซเนกัล ไบเชอร์ ที่ถูกเลี้ยงบนบกสามารถเดินได้ดีและเร็วกว่าปลาเซเนกัล ไบเชอร์ ที่ถูกเลี้ยงในน้ำ แถมการเคลื่อนไหวบนบกยังไม่เหมือนกันด้วย ปลากลุ่มที่เลี้ยงบนบกจะวางครีบชิดกับตัวและยกหัวขึ้นในระดับที่สูงกว่า และลื่นน้อยกว่ามาก

          นอกจากนี้ สแตนเดนยังพบว่า ไม่ใช่แค่พฤติกรรมของปลาเซเนกัล ไบเชอร์ ที่เปลี่ยนไปเมื่อถูกเลี้ยงอยู่บนบก แต่โครงสร้างทางสรีระของมันก็เปลี่ยนไปจากธรรมชาติด้วย นั่นคือ ส่วนของกระดูกที่ช่วยในการทำงานของครีบมีรูปทรงที่เปลี่ยนแปลงไป กระดูกบริเวณคอก็ยาวขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้สัตว์น้ำกลายเป็นสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์บกได้ นั่นก็คือ จะต้องพัฒนาให้มีคอ เพื่อให้หัวขยับได้อย่างเป็นอิสระจากลำตัว

          อย่างไรก็ดีผลการทดลองนี้ยังไม่อาจสรุปวิวัฒนาการของสัตว์น้ำสู่สัตว์เลื้อยคลานได้อย่างชัดเจน 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะปลาชนิดนี้ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันกับปลาสายพันธุ์แรกที่ขึ้นมาเดินบนบก และนักชีววิทยาเองก็ไม่สามารถหาตัวอย่างปลาสายพันธุ์แรกมาศึกษาได้แล้ว เนื่องจากเป็นปลาดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปนานแล้ว แต่ถึงกระนั้นผลการทดลองครั้งนี้ก็ทำให้นักชีววิทยามองเห็นเค้าลางของวิวัฒนาการของสัตว์น้ำสู่สัตว์เลื้อยคลาน ก่อนที่จะกลายเป็นสัตว์บกและสัตว์ปีกได้ดีเลยทีเดียว


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิทย์จับปลามาเลี้ยงบนบก ศึกษาวิวัฒนาการจากปลาสู่สัตว์บก อัปเดตล่าสุด 13 สิงหาคม 2563 เวลา 10:52:07 64,371 อ่าน
TOP