x close

คำนูณ แนะทบทวน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ให้คนไทยใช้น้ำมันถูก


คำนูณ แนะทบทวน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ให้คนไทยใช้น้ำมันถูก
คำนูณ แนะทบทวน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ให้คนไทยใช้น้ำมันถูก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn

          นายคำนูณ สิทธิสมาน แนะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทบทวน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อคนไทยจะได้ใช้น้ำมันในราคาที่ถูกลง
         
           วันนี้ (30 สิงหาคม 2557) เมื่อเวลาประมาณ 07.20 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต ส.ว.สรรหา ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn ระบุว่า อยากขอให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระงับการส่งออกปิโตรเลียมเป็นการชั่วคราว พร้อมขอให้มีการทบทวนและแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ใหม่ทั้งหมด ก่อนที่จะมีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อให้คนไทยได้ใช้น้ำมันที่ผลิตได้ในราคาที่ถูกลง

    
          สำหรับข้อความที่ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn มีรายละเอียด ดังนี้

          เร่งทบทวนระบบสัมปทานเถิดท่านนายกฯ ตู่

          ไม่แน่ใจว่าการเปิดเผยของรองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ว่าหัวหน้า คสช. หรือนายกรัฐมนตรี ขอให้งดส่งออกปิโตรเลียมเป็นการชั่วคราว มีสาระรายละเอียดที่เป็นทางการอย่างไร

          จะเป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 61 หรือไม่

          "ในกรณีที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศหรือเพื่อให้มีปิโตรเลียมเพียงพอกับความต้องการใช้ในราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศห้ามส่งปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานผลิตได้ทั้งหมดหรือบางส่วนออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามส่งไป ณ ที่ใดเป็นการชั่วคราวได้"

          น่าจะยังเป็นเพียงการหารือและขอร้องเฉย ๆ ก่อน

          แต่ก็เหมาะสมกับการเป็นข่าวพาดหัวตัวไม้ของ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันนี้ เพราะถือเป็นความพยายามแก้ปัญหาพื้นฐานที่ดี

          คงเป็นความพยายามที่จะให้ประชาชนคนไทยได้ใช้พลังงานในราคาที่ถูกลง หากเป็นการใช้ปิโตรเลียมที่ผลิตในประเทศทั้งหมด

          แต่ก็ต้องบอกว่าจะยังมีข้อติดขัดอยู่ดี

          เพราะระบบสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทยที่มีมาตั้งแต่ปี 2514 โดยใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 24 เมษายน 2514 ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้ปิโตรเลียมที่ขุดขึ้นมาได้มีโอกาสใช้ในประเทศในราคาถูก เพราะบัญญัติไว้ในมาตรา 64 (2) ว่า

          "ให้ผู้รับสัมปทานได้รับหลักประกันว่า รัฐจะไม่จำกัดการส่งปิโตรเลียมออกนอกราชอาณาจักร"

          นอกจากให้สิทธิผู้รับสัมปทานส่งออกปิโตรเลียมที่ขุดขึ้นมาได้โดยไม่จำกัดแล้ว พ.ร.บ.ปิโตรเลี่ยม พ.ศ. 2514 ยังระบุไว้ว่าหากจะขายภายในราชอาณาจักรให้คิดราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในมาตรา 57 (1) และ (2) และมาตรา 58 (1) ตามราคาตลาดโลก ดังนี้

          "ในกรณีที่ยังไม่มีผู้รับสัมปทานส่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้ออกนอกราชอาณาจักรเป็นประจำ ให้ขายไม่เกินราคาน้ำมันดิบที่สั่งซื้อจากต่างประเทศส่งถึงโรงกลั่นน้ำมันภายในราชอาณาจักร" - มาตรา 57(1)

          "ในกรณีที่มีผู้รับสัมปทานส่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้ออกนอกราชอาณาจักรเป็นประจำ ให้ขายไม่เกินราคาเฉลี่ยที่ได้รับจริงสำหรับน้ำมันดิบที่ผู้รับสัมปทานทุกรายส่งออกนอกราชอาณาจักรในเดือนปฏิทินที่แล้วมา..." - มาตรา 57(2)

          "ในการขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้เพื่อใช้ในราชอาณาจักร ให้ผู้รับสัมปทานขายในราคาดังต่อไปนี้ (1) ราคาที่ตกลงกับคณะกรรมการโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี แต่ราคาที่ตกลงกันนั้นต้องไม่สูงกว่าราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติที่ส่งออกนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความแตกต่างของคุณภาพและค่าขนส่งด้วย" - มาตรา 58 (1)

          กฎหมายเขียนเพื่อประโยชน์ผู้รับสัมปทานเพื่อการส่งออก เพราะถึงจะให้ขายในราชอาณาจักรได้ก็ให้ขายในราคาตลาดโลก

          คำว่า 'ไม่เกิน' และ 'ไม่สูงกว่า' ในทั้ง 3 อนุมาตราที่ยกมาคุ้มครองผู้บริโภคในราชอาณาจักรเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมแต่เดิมเพียงไม่ให้ต้องบริโภคทรัพยากรของตัวเองแต่เดิมในราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกเท่านั้น

          อาจเกิดคำถามขึ้นมาตรงนี่ว่าทรัพยากรขุดได้ในราชอาณาจักรแท้ ๆ ทำไมยังต้องซื้อขายกันในราคาตลาดโลก แล้วเราจะมีทรัพยากรไว้ทำอะไร

          คำตอบง่าย ๆ ก็คือเมื่อเราให้สัมปทานไปก็เท่ากับยกกรรมสิทธิ์ให้ผู้รับสัมปทานไปตลอดอายุสัมปทาน หาใช่กรรมสิทธิ์ของเราไม่ กฎหมายก็ต้องคุ้มครองสิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์

          นี่แหละคือปัญหาของระบบสัมทปานที่ภาคประชาชนเรียกร้องให้ทบทวน

          จะมีกรณีเดียวที่การขายปิโตรเลียมในราชอาณาจักรจะถูกลงกว่าราคาตลาดโลก ก็ต่อเมื่อเกิดเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 57(3) ในกรณีของน้ำมันดิบ และมาตรา 58 (2) ในกรณีของก๊าซธรรมชาติเท่านั้น

          "ในกรณีที่น้ำมันดิบที่ผลิตได้ทั่วราชอาณาจักรมีปริมาณถึงสิบเท่าขึ้นไปของความต้องการใช้ในราชอาณาจักร ให้ขายในราคาที่มีกำไรตามสมควร โดยคำนึงถึงข้อตกลงที่เทียบเคียงกันได้ในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่" - มาตรา 57 (3)

          "ในกรณีที่ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ทั่วราชอาณาจักรมีปริมาณมากกว่าความต้องการใช้ภายในราชอาณาจักร ให้ขายในราคาที่มีกำไรตามสมควร โดยคำนึงถึงกรณีแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งมวล และข้อตกลงที่เทียบเคียงกันได้ในประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่"

          เงื่อนไขทั้งสองไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะโดยข้อเท็จจริงเราผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติได้ไม่พอใช้ในประเทศ

          จะเห็นได้ชัดเจนว่าในกรณีของน้ำมันดิบนั้นกฎหมายเขียนไว้โหดมาก จนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนไทยจะได้ใช้น้ำมันดิบที่ขุดได้ในประเทศต่ำกว่าราคาตลาดโลก

          ถึงจะให้งดการส่งออกน้ำมันดิบชั่วคราว ก็ยากที่จะให้ราคาน้ำมันภายในประเทศถูกลงได้หากไม่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ชนิดทบทวนใหม่หมด

          และก่อนจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ระบบสัมปทานตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ต้องได้รับการทบทวนอย่างจริงจัง

    












เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คำนูณ แนะทบทวน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ให้คนไทยใช้น้ำมันถูก อัปเดตล่าสุด 30 สิงหาคม 2557 เวลา 12:03:37 15,131 อ่าน
TOP