x close

ประวัติคณะรัฐมนตรีแต่ละคน ในรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา





ประวัติ รมต. แต่ละคน ในรัฐบาลประยุทธ์

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          ประวัติ ครม. ในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ละคนมีความเป็นมาอย่างไร หลังจากในหลวงโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่ 31 สิงหาคม 2557

          เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลายรายชื่อก็เป็นไปตามโผที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ แต่ละคนมีประวัติความเป็นมาคร่าว ๆ อย่างไรบ้าง มาดูกัน

1. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

          เป็นนายทหารที่เติบโตมาในสายบูรพาพยัคฆ์ และเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวัดนวลนรดิศ ปัจจุบันเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งนี้ เมื่อรัฐประหารปี 2549 พล.อ. ประยุทธ์ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ในฐานะรองแม่ทัพภาคที่ 1 ก่อนที่ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จะได้ทำการรัฐประหารอีกครั้ง

2. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

          ปัจจุบันอายุ 69 ปี นับเป็นพี่ใหญ่ของสายบูรพาพยัคฆ์ และเคยเป็น ผบ.ทบ. ขณะที่ตำแหน่งทางการเมืองก็เคยได้เป็น รมว.กลาโหม ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะด้วย

3. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ

          มีดีกรีเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในยุคที่มี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และได้เป็น รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ภายหลังจากรัฐประหาร 2549 ในรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์

4. นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านสังคม

          ปัจจุบันอายุ 70 ปี นับว่าเป็นนักวิจัยอาวุโสเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และเคยเป็น รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ อีกด้วย

5. พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ

          ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 รุ่นเดียวกับ พล.อ. ประยุทธ์

6. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย

          เคยเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ หลายมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะมาเป็นข้าราชการประจำในตำแหน่ง เลขาธิการ ครม. ต่อมา ได้มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ และเป็น สนช. หลังจากรัฐประหาร 2549 ส่วนบทบาทใน คสช. ก็เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

7. พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม

          เป็นเตรียมทหารรุ่น 13 รุ่นน้องของ พล.อ. ประยุทธ์ โดย พล.อ.อ. ประจิน เป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงได้รับการมอบหมายให้ดูแลด้านเศรษฐกิจในยุค คสช.

8. พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์

          เป็น ผบ.ตร. ในยุคของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนที่จะถูก คสช. สั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี

9. พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม

          เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. และมีบทบาทสำคัญในการรัฐประหารปี 2557 ทั้งนี้ พล.อ. ไพบูลย์ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับ พล.ท. ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 และมีโอกาสเป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก พล.อ. ประยุทธ์ เช่นกัน

10. นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน

          เคยเป็น รมว.พาณิชย์ สมัยรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ และเคยเป็น ส.ว. ปี 2535 นอกจากนี้ เคยเป็น สนช. ปี 2549 อีกด้วย

11. นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง

          เคยรับราชการในกระทรวงการคลังหลายตำแหน่ง เช่น ผู้ช่วยชาญด้านเงินกู้, รอง ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และรองปลัดกระทรวงการคลัง ต่อมาเมื่อเข้าสู่รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ ก็รับตำแหน่งผู้ช่วย รมว.คลัง แต่ก็พ้นจากตำแหน่งเพราะถูกศาลอาญาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ สั่งพักงานนายทัศพงษ์ วิชชุประภา ผู้บริหารบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด

12. นายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยี และสารสนเทศ

          เคยเป็นอดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ และกระทรวงพลังงาน อีกทั้งยังเป็นประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

13. พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

          อดีต ผบ.ทบ. ในสายบูรพาพยัคฆ์ นับเป็นพี่คนกลางระหว่าง พล.อ. ประวิตร และ พล.อ. ประยุทธ์ โดยมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐประหาร 2549 ในฐานะแม่ทัพภาคที่ 1

14. พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์

          ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับ พล.อ. ประยุทธ์ โดยตำแหน่งที่เคยรับราชการนั้น เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจก็มี เช่น เจ้ากรมการเงินทหารบก, อดีตรองปลัดบัญชีทหารบก เป็นต้น

15. นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม

          เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมถึงเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่วนบทบาทด้านการเมืองเคยเป็น สนช. ปี 2549

16. นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์

          เคยเป็นรองเลขาธิการสำนักการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ก่อนขยับมาเป็นเลขาธิการ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งการที่มาทำตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ ก็นับเป็นลูกหม้อของกระทรวงอยู่แล้ว

17. นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข

          เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับวุฒิบัตรมากมายเกี่ยวกับการแพทย์ ทั้งนี้ นพ.รัชตะ ได้เคยแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ยุติการทำหน้าที่รักษาการด้วย

18. พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          เคยเป็นรอง ผบ.ทบ. และอดีตเสนาธิการทหารบก ซึ่งในการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 พล.อ. ดาว์พงษ์ ก็ถูกมองว่าเป็นหนึ่งผู้ทำแผนปฏิบัติการกระชับพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้อีกด้วย

19. นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา

          เป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด และเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

20. พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน

          เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม หลังจากที่ คสช. รัฐประหาร และเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับ พล.อ. ประยุทธ์

21. พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ

          ผบ.ทร. ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในปีนี้ เคยรั้งตำแหน่งสำคัญเช่น เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ, รองเสนาธิการทหารเรือ เป็นต้น

22. นายวีระ โรจน์พจน์รัตน์ รมว.วัฒนธรรม

          เป็นอดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร

23. นายพิเชษ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ไอซีที

          มีดีกรีเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ และเป็นบอร์ดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และมีบทบาทสำคัญด้านวงการไอทีของประเทศไม่น้อย

24. นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ

          เป็นการรับตำแหน่งแบบพลิกโผของแท้ สำหรับ ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

25. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ

          นับเป็นผู้ที่มีบทบาทในช่วงหลัง หลังจากที่ คสช. รัฐประหาร โดยเป็นทีมตรวจสอบสต็อกโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ด้วย

26. พล.ท. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ

          เคยเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 3 และรองเสนาธิการทหารบก

27. นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข

          เป็นนักวิชาการที่รับราชการในกระทรวงมาอย่างยาวนาน และเป็นเลขานุการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

28. นายอาคม เติมพิทยาไพศิฐ รมช.คมนาคม

          เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนมารับตำแหน่งในกระทรวงคมนาคม

29. นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย

          จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเริ่มรับราชการในกระทรวงมหาดไทยมาโดยตลอด รวมถึงเคยเป็นผู้ว่าฯ ในหลายจังหวัดด้วย

30. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์

          รับราชการที่กระทรวงพาณิชย์โดยตลอด ในหลาย ๆ ตำแหน่ง ก่อนมาปิดฉากชีวิตรับราชการที่รองปลัดกระทรวง

31. นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ

          ขึ้นชื่อว่าเป็นเทคโนแครตด้านการศึกษาคนหนึ่งของประเทศไทย

32. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ

          เป็นนักการทูตที่สำคัญของกระทรวงต่างประเทศคนหนึ่ง เริ่มทำงานตั้งแต่รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ จนถึงนายอภิสิทธิ์




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติคณะรัฐมนตรีแต่ละคน ในรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา อัปเดตล่าสุด 1 กันยายน 2557 เวลา 16:02:11 145,731 อ่าน
TOP