โค้ชอ๊อต ประวัติโค้ชวอลเลย์บอลทีมชาติ ผู้พลิกวงการกีฬาไทย



โค้ชอ๊อด เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร
โค้ชอ๊อต เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Thailand Volleyball, fivb.org

         โค้ชอ๊อต เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ประวัติโค้ชวอลเลย์บอลหญิงไทย ผู้พลิกวงการวอลเลย์บอลไทย จนกลายเป็นทีมชั้นแนวหน้าของเอเชียและของโลก

         โค้ชอ๊อต เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ถือเป็นหนึ่งบุคคลทรงคุณค่าของวงการวอลเลย์บอลไทย ซึ่งโค้ชอ๊อตได้มีโอกาสเข้ามาคุมงานวอลเลย์บอลทีมชาติ และพัฒนาให้วอลเลย์บอลหญิงไทย รุดหน้าเป็นทีมแถวหน้าของเอเชีย ได้ลงแข่งขันในรายการใหญ่ ๆ และมีลุ้นเหรียญอยู่ตลอด จนทำให้กระแสวอลเลย์บอลฟีเว่อร์ จุดประกายในเมืองไทยอีกครั้ง และล่าสุด กับการที่โค้ชอ๊อต ออกมาประกาศว่า กำลังจะแต่งงานกับ เฟง คุน อดีตนักวอลเลย์บอลทีมชาติจีน ทำให้เหล่าแฟนวอลเลย์บอลของไทยต่างออกมาแสดงความยินดีกับโค้ชอ๊อตเป็นอย่างมาก และวันนี้เราจะพาไปรู้จักโค้ชอ๊อตให้มากขึ้นกัน

ประวัติส่วนตัวของ โค้ชอ๊อต ก่อนก้าวเข้าสู่วงการวอลเลย์บอล

         โค้ชอ๊อต หรือ จ่าอากาศเอก เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร เกิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 ภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.นครราชสีมา จบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาพลศึกษา โค้ชอ๊อตเติบโตมาในครอบครัวนักกีฬา สูง 195 เซนติเมตร มีคุณพ่อเป็นนักวอลเลย์บอล และเป็นผู้ฝึกสอนคนแรกของโค้ชอ๊อต ส่วนคุณแม่เป็นนักวิ่ง 

เส้นทางนักวอลเลย์บอล : เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร สมัยทีมชาติ

          ด้วยความที่เติบโตมาในค่ายทหาร และมักจะเห็นคนเล่นวอลเลย์บอลในค่ายบ่อย ๆ ประกอบกับการที่คุณพ่อเป็นนักวอลเลย์บอล ทำให้โค้ชอ๊อตเจริญรอยตามคุณพ่อ และเริ่มฝึกวอลเลย์บอลตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยมีคุณพ่อคอยเทรนด์ ปลุกขึ้นมาวิ่งตอนตี 5 ของทุกวัน

          โค้ชอ๊อต เริ่มเข้าไปคัดตัวทีมชาติตั้งแต่อายุ 17 ปี และติดทีมชาตินับตั้งแต่นั้น โดยในช่วงแรก โค้ชอ๊อต ต้องนั่งอยู่ในทีมสำรองก่อน และเมื่อตอนที่อายุ 19 ปี โค้ชอ๊อต ก็ติดทีมชาติชุดใหญ่ ไปลุยศึกซีเกมส์ 1985 (พ.ศ. 2528) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งโค้ชอ๊อตต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก ทั้งซ้อมตามปกติและซ้อมเดี่ยว เพื่อฝึกความแข็งแกร่งและพร้อมรับกับแรงกดดัน ซึ่งในตอนนั้น ทีมชาติไทยก็สามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้เป็นผลสำเร็จในรอบ 26 ปี และเป็นครั้งแรกที่โค้ชอ๊อตได้รับรางวัลสูงสุดในฐานะผู้เล่นทีมชาติ

          ส่วนผลงานในสมัยทีมชาติของ โค้ชอ๊อต มีมากมาย อาทิ การคว้าเหรียญทองซีเกมส์ในปี พ.ศ. 2528, พ.ศ. 2538 การคว้าเหรียญเงินซีเกมส์ในปี พ.ศ. 2534, พ.ศ. 2536 และ พ.ศ. 2540 และการคว้าเหรียญทองแดงซีเกมส์ในปี พ.ศ. 2530, พ.ศ. 2532 อีกทั้งโค้ชอ๊อต ยังได้เข้าร่วมแข่งขันในกีฬาเอเชียนเกมส์ ปี พ.ศ. 2533, พ.ศ. 2537 และ พ.ศ. 2541 และปิดฉากการรับใช้ทีมชาติ ในปี พ.ศ. 2541 จากการนำทีมชายไปแข่งชิงแชมป์โลก ในฐานะตัวแทนทวีปเอเชีย

          ทั้งนี้ในระหว่างที่โค้ชอ๊อตเรียนอยู่ โค้ชอ๊อตก็เล่นให้กับทีมชาติ และสโมสรทหารอากาศด้วย ส่วนสาเหตุที่ตัดสินใจเลิกเล่นเพราะกระดูกหัวเข่าแตก เล่นไม่ไหวเพราะเป็นตัวตบ ต้องกระโดดเยอะ

โค้ชอ๊อต กับบทบาทหน้าที่ในฐานะโค้ชทีมชาติไทย

          โค้ชอ๊อต ได้รับข้อเสนอจากสมาคมหลังจากที่เลิกเล่นทีมชาติ เพื่อให้มาทำโปรเจคท์ยุวชนหญิง National team 2001 พร้อมสร้างยุวชนวอลเลย์บอลในอีก 4 ปีข้างหน้า และดันนักวอลเลย์บอลดาวรุ่ง เพื่อแทนตัวรุ่นพี่คนสำคัญอย่าง ปริม อินทวงศ์, มาลินี คงทัน, บุษบรรณ พระแสงแก้ว, แอนณา ไภยจินดา ฯลฯ พร้อมกับที่สมาคมส่งโค้ชอ๊อตไปเรียนหลักสูตรผู้ฝึกสอนที่ประเทศสเปน

          ในการคัดเลือกวอลเลย์หญิงชุดดรีมทีมนั้น โค้ชอ๊อต ได้นำนักวอลเลย์บอลอายุประมาณ 15-17 ปี มาร่วมเข้าค่ายและใช้ชีวิตร่วมกันที่ จ.ยะลา เพื่อเป้าหมายการติด 1 ใน 4 ของเอเชีย ซึ่งทีมชุดนั้นประกอบด้วย นราพร ผงทอง, ปิยมาศ ค่อยจะโป๊ะ ฯลฯ ประเดิมการคว้าอันดับ 4 วอลเลย์บอลเยาวชนเอเชียในปี พ.ศ. 2540 คว้ารองแชมป์ถางลอง คัพ ที่เวียดนาม และกลับมาคว้าอันดับ 5 ศึกยุวชนหญิงชิงแชมป์โลก

          หลังจากนั้น โค้ชอ๊อต ก็รับงานเป็นผู้ฝึกสอนทีมชาติชุดใหญ่ในปี พ.ศ. 2541 และสามารถพาทีมไปเล่นถึงรายการเวิลด์แชมเปี้ยนชิพ ก่อนที่จะจบที่อันดับ 15 และใน พ.ศ. 2543 โค้ชอ๊อตก็สร้างผลงาน พาทีมชาติชุดใหญ่ไปลุยศึกเวิลด์กรังด์ปรีซ์ในสมัยแรก และทีมชาติไทยก็เป็นขาประจำในศึกเวิลด์กรังด์ปรีซ์มาโดยตลอด พร้อมทั้งยังคว้าอันดับ 3 ในการแข่งขันวอลเลย์บอลกีฬามหาวิทยาลัยโลกที่จีนในปีนั้นด้วย

          เพียงระยะเวลา 3 ปี ที่โค้ชอ๊อตรับงานเป็นผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย ก็สามารถพาทีมคว้าเหรียญทองแดงในรายการชิงแชมป์เอเชีย เมื่อ พ.ศ. 2544  และในปี พ.ศ. 2552 โค้ชอ๊อตก็สามารถพาทีมชาติไทยล้มมหาอำนาจวอลเลย์บอลอย่างจีน ที่ตอนนั้นอยู่อันดับ 4 ของโลก คว้าแชมป์เอเชียมาครองได้เป็นผลสำเร็จ ถือเป็นการคว้าแชมป์เอเชียครั้งประวัติศาสตร์ของไทย

          ส่วนปี พ.ศ. 2554 โค้ชอ๊อตก็พาทีมชาติไทยจบอันดับที่ 6 ในศึกเวิลด์กรังด์ปรีซ์ และคว้าอันดับ 4 ในรายการชิงแชมป์เอเชีย และในปี พ.ศ. 2555 โค้ชอ๊อตสามารถพาทีมชาติไทย จบอันดับ 4 ในรายการเวิลด์กรังด์ปรีซ์ และอันดับ 1 ในรายการเอเชียนคัพ

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 โค้ชอ๊อตสามารถพาทีมชาติไทย ล้มทีมชาติญี่ปุ่น มหาอำนาจทางวอลเลย์บอลที่อยู่ในอันดับ 3 ของโลก และเจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิก คว้าแชมป์เอเชียมาครองได้เป็นสมัยที่ 2 จุดกระแสวอลเลย์บอลให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

เฟงคุน (Feng Kun)
เฟง คุน (Feng Kun)

ชีวิตส่วนตัว และแฟนโค้ชอ๊อต

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โค้ชอ๊อตไม่มีครอบครัวหรือลูก แต่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 โค้ชอ๊อต ก็ได้ประกาศว่าจะแต่งงานกับ เฟง คุน อดีตนักวอลเลย์บอลมือเซตของจีน ชุดโอลิมปิกปี ค.ศ. 2004 หลังจากที่ทั้งสองคนคบหากันมา 4 ปี โดยที่โค้ชอ๊อตและ เฟง คุน จะเข้ารับพระราชทานน้ำสังข์จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557 และจะมีงานเลี้ยงฉลองวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย และการฝึกสอนของโค้ชอ๊อต

          โค้ชอ๊อต เคยออกมาเผยว่า ตนเองมีวิธีการฝึกสอนที่ดุดัน หรือจะเรียกว่าโหดก็ว่าได้ เพราะต้องการให้นักกีฬามีระเบียบวินัย รับมือต่อความยากลำบาก และความกดดันได้ เช่น การให้ทั้งทีมวิ่ง 2,000 เมตร ใน 9 นาที หากมีคนใดคนหนึ่งตกหล่นก็ต้องวิ่งใหม่ทั้งทีม เพื่อเป็นการฝึกให้ช่วยเหลือกัน หรือการกำหนดให้มีทีมเอและทีมบี มี 23 คะแนนเท่ากัน ทีมเอเป็นผู้ชาย ทีมบีเป็นผู้หญิง ช่วยกันจนกว่าทีมหญิงจะชนะทีมชาย เพื่อเป็นการทดสอบจิตใจ และรับมือกับความกดดันในสภาวะที่แต้มสูสีได้

          เขาบอกด้วยว่า ส่วนตัวตนก็ได้ความรักจากนักวอลเลย์บอลเยอะ บางครั้งรุ่นพี่ที่อำลาทีมชาติไปแล้วยังโทร. หา บางครั้งพอถึงวันเกิดก็เอาเทียนมาให้เป่าเค้ก แม้ในชีวิตจริงโค้ชอ๊อตจะไม่มีลูก แต่ก็มีเหล่าสาว ๆ นักวอลเลย์บอลที่เป็นเหมือนลูก... ความสำเร็จของเขาคือความสำเร็จของตน



ประวัติ โค้ชอ๊อต เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร

         ชื่อจริง เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร
         ชื่อเล่น อ๊อด
         วันเกิด 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2509
         ภูมิลำเนา จ.นครราชสีมา
         การศึกษา จบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาพลศึกษา

ผลงานในฐานะทีมชาติ

         เหรียญทองซีเกมส์ในปี พ.ศ. 2528, พ.ศ. 2538
         เหรียญเงินซีเกมส์ในปี พ.ศ. 2534, พ.ศ. 2536, พ.ศ. 2540
         เหรียญทองแดงซีเกมส์ในปี พ.ศ. 2530, พ.ศ. 2532
         เข้าร่วมแข่งขันในกีฬาเอเชียนเกมส์ ปี พ.ศ. 2533, พ.ศ. 2537 และ พ.ศ. 2541
         ตัวแทนทวีปเอเชีย ในการแข่งขันวอลเลย์บอลชายชิงแชมป์โลก  พ.ศ. 2541

ผลงานในฐานะโค้ชทีมชาติ

         - พ.ศ. 2540 อันดับ 4 วอลเลย์บอลเยาวชนเอเชีย
         - พ.ศ. 2540 รองแชมป์ถางลอง คัพ ที่เวียดนาม
         - พ.ศ. 2540 อันดับ 5 ศึกยุวชนหญิงชิงแชมป์โลก
         - พ.ศ. 2541 อันดับ 15 รายการเวิลด์แชมเปี้ยนชิพ
         - พ.ศ. 2543 อันดับ 3 ในการแข่งขันวอลเลย์บอลกีฬามหาวิทยาลัยโลกที่จีน
         - พ.ศ. 2544 เหรียญทองแดงในรายการชิงแชมป์เอเชีย
         - พ.ศ. 2552 คว้าแชมป์วอลเลย์บอลหญิงเอเชีย ครั้งแรก
         - พ.ศ. 2554 อันดับที่ 6 ในศึกเวิลด์กรังด์ปรีซ์
         - พ.ศ. 2554 อันดับ 4 ในรายการชิงแชมป์เอเชีย
         - พ.ศ. 2555 อันดับ 4 ในรายการเวิลด์กรังด์ปรีซ์
         - พ.ศ. 2555 อันดับ 1 ในรายการเอเชียนคัพ
         - พ.ศ. 2556 คว้าแชมป์วอลเลย์บอลหญิงเอเชีย ครั้งที่ 2

ผู้ฝึกสอนในระดับสโมสร

         ทีมแสงโสม  พ.ศ. 2549-2551
         ทีมเฟดเดอร์บรอย พ.ศ. 2552-2554
         ทีมช้าง พ.ศ. 2554-2555
         ทีมอิกติซาดชิ บากู พ.ศ. 2555-2556

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

         พ.ศ. 2556 - Order of the White Elephant - 3rd Class (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[6]
   
         พ.ศ. 2553 - Order of the Direkgunabhorn 4th class (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นจตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)

หนังสือ

         โค้ชอ๊อต เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ได้ออกหนังสือพ็อกเกตบุ๊กเล่มแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 ใช้ชื่อหนังสือว่า โค้ชอ๊อต
 







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โค้ชอ๊อต ประวัติโค้ชวอลเลย์บอลทีมชาติ ผู้พลิกวงการกีฬาไทย อัปเดตล่าสุด 12 กรกฎาคม 2559 เวลา 10:18:23 74,516 อ่าน
TOP
x close