x close

สมชาย หนุน พิมพ์เขียว คสช. แต่ไม่ชอบที่มานายกฯ

สมชาย หนุน พิมพ์เขียว คสช. แต่ไม่ชอบที่มานายกฯ
สมชาย หนุน พิมพ์เขียว คสช. แต่ไม่ชอบที่มานายกฯ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ค สมชาย แสวงการ

           สมชาย แสวงการ เปิดพิมพ์เขียวปฏิรูป 11 ด้าน บอกน่าสนใจ  แต่ไม่ชอบที่มาการเลือกตั้งนายกฯ และการลดอำนาจศาล

           สืบเนื่องจากกรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้รับแจกเอกสารข้อมูล 11 ด้าน หรือ "พิมพ์เขียว" จากคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ  ด้วยความเห็นชอบของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้ สปช. นำไปศึกษาและเตรียมความพร้อมในการทำงานนั้น

           ล่าสุด (10 ตุลาคม 2557) นายสมชาย แสวงการ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กสมชาย แสวงการ โดยระบุว่า สนับสนุนพิมพ์เขียวสร้างชาติของ คสช.  ซึ่งแจกแจงความน่าสนใจไว้อย่างละเอียด ถือเป็นการปฏิรูปที่น่าสนใจ  แต่แนะว่าประเด็นด้านการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี รวมถึงการลดบทบาทการเข้าสู่อำนาจของนิติบัญญัติและตุลาการ ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ นอกจากนี้ยังได้เปิดเผยรายละเอียดเอกสารปฏิรูป 11 ด้าน พร้อมเสนอความเห็นในแต่ละข้อไว้อย่างละเอียด ซึ่งทั้งหมดมีข้อความดังต่อไปนี้
 
           ข้อเสนอน่าสนใจมากครับ หลายเรื่องตรงกับปัญหาเเละเสนอเเนวทางไว้ได้ดีน่าพิจารณาในการยกเครื่องประเทศครับ

           "คสช." ส่งต่อพิมพ์เขียวสร้างชาติถึงมือ "สปช." แล้ว ฮือฮาสาระสุดก้าวหน้าตบหน้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ชูรัฐสภาเดี่ยว ดึงระบบ Primary Vote ใช้กลั่นกรองผู้สมัคร ส.ส. และอาจไม่ต้องสังกัดพรรค ห้ามเป็นติดต่อกันเกิน 2 สมัย วางที่มานายกฯ 2 แบบ ทั้งจากการเลือกตั้งโดยตรงและทางอ้อม ใจถึง! เลือกผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง ยุบควบรวมองค์กรท้องถิ่นขนาดเล็กไร้ประสิทธิภาพ สังคายนาวงการสีกากี ให้ขึ้นตรงต่อกระทรวงยุติธรรม เล็งหั่นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เหลือเพียงตีความกฎหมายที่มีข้อสงสัยขัด รธน.เท่านั้น ไม่ให้ชี้ถูกชี้ผิดข้อพิพาทระหว่างองค์กรอีก

           "ประยุทธ์" เผยข้อเสนอมาจากประชาชนทุกฝ่าย กลุ่มการเมืองทุกสีเสื้อ ในการรับรายงานตัวของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ สปช. เปิดให้สมาชิก สปช.เข้ารายงานตัวระหว่างวันที่ 8-15 ตุลาคมนี้ ได้มีการแจกเอกสารข้อมูลปฏิรูป 11 ด้านให้แก่ สปช. ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นประธาน ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังรับฟังปัญหาและรวบรวมเป็นกรอบความเห็นร่วมของประชาชน

           เอกสารดังกล่าวระบุว่า

           1. ด้านการเมือง มีข้อเสนอที่เป็นแนวทางแก้ปัญหาได้แก่ รูปแบบรัฐสภา ถูกเสนอใน 2 รูปแบบ คือ

           1.1 รัฐสภาแบบเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ด้วยการเลือกนายกฯ จากรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาคราวเดียวกัน มีข้อดีคือหัวหน้าฝ่ายบริหารมีฐานความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมืองให้แก่นายกฯ ที่จะกำหนดนโยบายต่างๆ ได้อย่างอิสระจากรัฐสภา และการทำงานมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ข้อเสียคือหาก ส.ส.หรือ ส.ว.ส่วนใหญ่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ทำให้เป็นปัญหาต่อการประสานงานและองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนายกฯ ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

           1.2 รัฐสภาแบบการเลือกตั้งนายกฯ รัฐมนตรีโดยอ้อม ถูกเสนอ 3 แบบ ได้แก่ แบบแรกสภาเดี่ยว มีเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร แบบที่สองคือสภาคู่ โดยมีการเสนอ 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบสภา ส.ส.-ส.ว. และแบบสภาผู้แทนราษฎร กับสภาประชาชนที่มาจากกลุ่มวิชาชีพ, กลุ่มจังหวัด, กลุ่มข้าราชการ และแบบที่สาม คือแบบ 3 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา และสภาประชาชน โดยข้อดีคือประชาชนมีส่วนร่วมในการถ่วงดุลอำนาจทางการเมือง แต่มีข้อจำกัดคือการวางบทบาทของสภาประชาชนเพื่อให้กระบวนการทำงานไม่ซ้ำซ้อน

          ในส่วนของพรรคการเมือง มีกรอบเสนอแนวทาง คือการจัดตั้งพรรคการเมืองต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภูมิภาคเข้าสู่ระบบพรรคการเมืองได้ง่ายและปราศจากการครอบงำของทุน

          ขณะที่การคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง เสนอให้มีกระบวนการกลั่นกรองโดยพรรคการเมืองที่มีหลักเกณฑ์ คือมีความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น การเสนอชื่อบุคคลหรือคัดค้านบุคคลที่มีชื่อส่งแข่งขัน เป็นต้น

           ด้านการสนับสนุนเงินทุนพรรค ต้องมีระเบียบห้ามพรรคการเมืองจ่ายเงินพิเศษให้ ส.ส. เพื่อออกเสียงสนับสนุนหรือเข้าร่วมประชุม สำหรับการเสนอนโยบายพรรคการเมือง กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีบทบาทตรวจสอบนโยบายพรรคที่ไม่เป็นประชานิยม สร้างความเสียหาย รวมถึงผลกระทบกับประชาชน ที่สำคัญนโยบายของพรรคที่ใช้หาเสียงต้องมีวงเงินใช้จ่ายรวมกันไม่เกินกรอบวงเงินงบประมาณในช่วง 4 ปีข้างหน้า ตามที่กระทรวงการคลังประกาศไว้ ส.ส. อาจไม่ต้องสังกัดพรรค

           เอกสารของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ระบุถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีกรอบความเห็นที่ต้องแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง และคุณสมบัติของคนที่ปฏิบัติหน้าที่ จากเดิมที่พบว่ามีคนไม่ดีเข้ามาทำงาน ดังนั้น มีหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งมีข้อเสนอคือ ให้คนที่อายุ 20 ปีขึ้นไปเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากเกณฑ์อายุ 20 ปีถือเป็นผู้บรรลุนิติภาวะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

           ขณะที่คุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง มีข้อเสนอ คือ ไม่สังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถลงสมัครได้ง่าย เพิ่มความหลากหลาย แต่มีข้อจำกัดคือ ส.ส.ไม่มีวินัย มีการขายเสียง, ผู้สมัครรับเลือกตั้งควรมีอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 70 ปี เพื่อให้ผู้สมัครมีวุฒิภาวะที่เหมาะสม ส่วนระดับการศึกษาไม่มีข้อกำหนด เพื่อเปิดโอกาสให้ปราชญ์ชาวบ้านมีสิทธิ์รับเลือก
 
           "และที่สำคัญต้องให้มีการกลั่นกรองบุคคลก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยวิธี Primary Vote จากประชาชนในพื้นที่ หรือต้องได้รับใบรับรองจากนายทะเบียนว่ามีผู้สนับสนุนในเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 200 คน เพื่อเป็นการคัดกรองคนดีเข้าสู่สภา ขณะที่ข้อห้ามของการสมัครรับเลือกตั้ง เสนอให้จำกัดวาระดำรงตำแหน่ง ส.ส. ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน และห้ามไม่ให้บุคคลที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ลงสมัครรับเลือกตั้ง" เอกสารระบุ

           มีข้อเสนอเกี่ยวกับวิธีออกเสียงลงคะแนน โดยให้นำคะแนน Vote No มาเปรียบเทียบกับคะแนนของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ถ้าคะแนน Vote No มากกว่าให้เลือกตั้งใหม่, ให้ยกเลิกการลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและนอกเขตจังหวัด เพราะมีช่องทำให้เกิดทุจริตได้ง่าย ให้มีการเลือกตั้ง 2 รอบ โดยการเลือกรอบแรก ผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือกตั้งทันที แต่หากคะแนนเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ให้นำผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 1 และ 2 แข่งขันกันอีกครั้ง หากใครได้เสียงข้างมากเกินร้อยละ 50 ให้ถือว่าเป็นผู้ชนะ

           ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีข้อเสนอให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งและสรรหา โดยเสนอวิธีสรรหาจากกลุ่มอาชีพ ขณะที่จำนวนต้องเท่ากับ ส.ส.เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลที่เหมาะสม นอกจากนั้นหลักเกณฑ์และวิธีเลือกตั้ง เสนอให้กำหนดอายุผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ว. ระหว่าง 50-70 ปี ไม่จำกัดระดับการศึกษา และไม่สังกัดพรรคการเมือง ขณะที่ลักษณะต้องห้าม ต้องประกอบด้วยห้ามไม่ให้คนที่เคยกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็น ส.ว. และห้าม ส.ว. ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 6 ปี เล็ง 2 แบบเลือกนายกฯ

           ที่น่าสนใจคือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี มีข้อเสนอรูปแบบการคัดเลือกนายกฯ 2 วิธี คือ 1. จากการเลือกตั้ง ผ่านระบบบัญชีรายชื่อ จากการเลือกตั้งโดยตรงหรือเลือกตั้งโดยอ้อม คือให้ ส.ส.โหวตเลือกนายกฯ และ 2. จากการแต่งตั้งบุคคลภายนอก ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขณะที่การตรวจสอบและถอดถอนให้ใช้มาตรการเดียวกับ ส.ส. และ ส.ว.

           เอกสารยังระบุถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยว่า ด้านโครงสร้างองค์กรตุลาการทางการเมือง มีข้อเสนอให้จัดตั้งศาลเลือกตั้ง และศาลทุจริต ส่วนศาลฎีกาต้องมีข้อกำหนดและกรอบการดำเนินคดีทางการเมือง และไม่จำกัดอายุความคดีทางการเมือง และยกเลิกมาตรการคุ้มครองนักการเมืองในระหว่างสมัยประชุม

           ศาลรัฐธรรมนูญเสนอให้ปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ ให้ทำในรูปแบบตุลาการพระธรรมนูญ ที่มีอำนาจพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไม่ควรจัดในรูปศาลที่มีอายุ 9 ปี ส่วนอำนาจหน้าที่ต้องแบ่งองค์คณะของศาลรัฐธรรมนูญเป็น 2 องค์คณะ โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ พิจารณาความทั่วไป และวิธีพิจารณาเฉพาะ โดยมีหน่วยสนับสนุนทางวิชาการทำงาน นอกจากนั้นแล้วกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจชี้ถูกชี้ผิดในกรณีพิพาทระหว่างองค์กร แต่ทำหน้าที่ตีความทางกฎหมายที่มีข้อสงสัยขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น

           คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีข้อเสนอให้ปรับโครงสร้าง กกต.ให้มีบุคคลจากหลายฝ่าย เช่น ตุลาการ, ฝ่ายการเมือง, ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญจากสายอาชีพเข้ารับการสรรหาเป็น กกต. ขณะที่ กกต.จังหวัดต้องประกอบด้วยผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดหรือตุลาการศาลปกครองในเขตเลือกตั้งนั้นๆ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปรับโครงสร้าง ป.ป.ช. โดยเพิ่มสัดส่วนกรรมการสรรหา ป.ป.ช.จากสายการเมืองที่ไม่น้อยกว่าคณะกรรมการสรรหาจากสายอื่น และ 10.การเมืองภาคพลเมือง มีข้อเสนอให้เปิดพื้นที่ให้เข้าร่วมกับภาครัฐในด้านตรวจสอบ มีส่วนร่วมการพัฒนา

           2. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในเอกสารมีข้อเสนอให้ปรับปรุงพัฒนากฎหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนและสังคม อาทิ กฎหมายภาษีทรัพย์สิน, กฎหมายภาษีก้าวหน้าพร้อมค่าปรับ, กฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ, กฎหมายที่เกี่ยวกับการทุจริตเชิงนโยบาย รวมถึงพัฒนากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะที่การปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม มีข้อเสนอให้เพิ่มสิทธิกับประชาชนที่เข้าถึงความอำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาค รวดเร็ว โปร่งใส สตช. ขึ้นตรงกระทรวง ยธ. ส่วนการปฏิรูประบบงานตำรวจ มีข้อเสนอ อาทิ ปรับโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีส่วนบริหารจัดการระบบตำรวจในพื้นที่ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม ไม่ขึ้นตรงกับฝ่ายบริหารเพื่อให้เกิดความอิสระ ปลอดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

           3. ด้านเศรษฐกิจ มีข้อเสนอปฏิรูปที่น่าสนใจ อาทิเช่น ปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยใช้อัตราก้าวหน้า และปรับลดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) "ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ต้องปรับให้ใกล้เคียงมาตรฐานสากล โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และคำนึงถึงการกระจายรายได้ ส่วนภาษีที่ดิน ภาษีสิ่งปลูกสร้างในอัตราก้าวหน้า ต้องใช้ฐานภาษีที่เป็นธรรม เพื่อลดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน"

           4. ด้านพลังงาน มีข้อเสนอการปฏิรูปด้านธุรกิจพลังงาน อาทิ นโยบายต่อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้บริษัท ปตท.เข้าสู่ระบบตลาดแข่งขันเสรีด้านพลังงาน โดยไม่มีสิทธิพิเศษภายใต้รัฐวิสาหกิจ ที่ว่าหน่วยงานรัฐต้องจัดหาน้ำมันจากบริษัท ปตท.เท่านั้น และให้บริษัท ปตท.อยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันการค้า, แยกท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกจากบริษัท ปตท. และทำให้เป็นองค์กรแยก เพื่อเปิดโอกาสให้การบริการขนส่งก๊าซธรรมชาติแก่บุคคลที่สามเพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ใช้ นอกจากนี้ บริษัท ปตท.ต้องลดการถือครองหุ้นในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและกิจการพลังงานอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในกลไกตลาดที่แท้จริง "กสทช." คุมสื่อแท้-สื่อเทียม

           5. การปฏิรูปกิจการและการประกอบการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทุกรูปแบบ ด้วยกำหนดให้องค์กรอิสระ โดย กสทช. เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแล จัดระเบียบสื่อมวลชน ที่จำแนกสื่อแท้ สื่อเทียม และผู้บริโภคที่ทำหน้าที่สื่อ รวมถึงกำหนดมาตรการควบคุมจัดระเบียบสื่อมวลชนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

                "ขณะที่ด้านการครอบงำสื่อผ่านผลประโยชน์ทางธุรกิจ ต้องแก้ไขด้วยการเปิดเผยงบประมาณประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรของรัฐอื่นๆ ต่อสาธารณะ ขณะที่ผู้ประกอบการสื่อต้องเปิดเผยรายได้หรือค่าโฆษณาและรายละเอียดจัดซื้อจัดจ้างต่อสาธารณะ ส่วนการแทรกแซงสื่อจากฝ่ายการเมือง ต้องกำหนดข้อห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาถือหุ้นในกิจการสื่อ" เอกสารระบุ

            6.  ด้านการปกครองท้องถิ่น โดยให้มีการปรับโครงสร้างราชการส่วนภูมิภาค เพื่อปรับบทบาทหน่วยราชการระดับจังหวัด ให้เป็นหน่วยสนับสนุนทางวิชาการและเป็นสาขาของส่วนกลางเพื่อให้รัฐปฏิบัติหน้าที่เฉพาะภารกิจที่รัฐต้องดำเนินการเองเท่านั้

            "การให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทางตรง โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ภายใต้แนวคิดแบบจังหวัดจัดการตนเอง โดยเริ่มต้นจังหวัดที่ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นมีความพร้อมก่อน ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จในกรณีกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา" เอกสารระบุ และว่า ทั้งนี้มีข้อเสนอยุบเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทางตรง

           ส่วนการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก ควรมีเพียง 2 ระดับ คือ อบจ.และเทศบาล สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลขนาดเล็กที่มีพื้นที่ต่อกันให้ยุบรวมเป็นเทศบาลขนาดใหญ่ เล็งลดขนาดองค์กรภาครัฐ

           7.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มีกรอบความเห็นร่วมจากการรับฟัง เช่น ทบทวนบทบาท ภารกิจ และอำนาจหน้าที่ของภาครัฐและองค์กรต่างๆ ของรัฐ ด้วยการลดขนาดองค์กร ลดจำนวนข้าราชการให้เหมาะสมกับภารกิจและความรับผิดชอบ, ปรับรูปแบบวิธีการจ้างให้หลากหลาย เน้นคุณภาพการปฏิบัติงานได้จริง, พัฒนาระบบบริหารงานภาครัฐให้โปร่งใส ยกระดับค่าตอบแทนและสวัสดิการข้าราชการให้เท่ากับภาคเอกชน, กำหนดมาตรการลงโทษและการให้รางวัลที่ชัดเจน เป็นต้น

           8.ด้านการศึกษา มีข้อเสนอ เช่น ปรับระบบโครงสร้างและการบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมการกำหนดนโยบาย ปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการเปิดโอกาสบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในหลากหลายสาขาวิชาชีพเข้ามาเป็นครู ลดภาระงานของครูที่นอกเหนือจากการสอน พร้อมกับทบทวนวิธีการประเมินวิทยฐานะของครูโดยสะท้อนถึงผลลัพธ์ที่นักเรียน และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนา กำกับดูแลและประเมินครู

           9.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มีข้อเสนอให้ปฏิรูปสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม อย่างมีมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ปราศจากโรค โดยครอบคลุมถึงนโยบายด้านสาธารณสุข พัฒนากฎหมาย สร้างระบบธรรมาภิบาลและมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุล และที่สำคัญคือเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรด้านสาธารณสุข ขณะที่ระบบการคลังสาธารณสุข และหลักประกันสุขภาพ ต้องทำให้โปร่งใส เป็นธรรมกับบุคคลทุกระดับ รวมถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างรัฐและเอกชน

            10.ด้านสังคม มีข้อเสนอต่อการปฏิรูป ได้แก่ ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เป็นรูปธรรม ด้วยการบรรจุหลักสูตรด้านคุณธรรม จริยธรรม และหน้าที่พลเมืองไว้ในหลักสูตรบังคับของระดับชั้นการศึกษา รวมถึงสร้างระบบและแจ้งเบาะแสและตรวจสอบการทุจริต ประเด็นความเหลื่อมล้ำ ด้วยการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา โดยกำหนดนโยบายเรียนฟรีเป็นเวลา 15 ปี ขณะที่นักเรียนที่ยากจนรัฐต้องสนับสนุนค่าเดินทาง ค่าอาหารกลางวัน นอกจากนี้เพิ่มโอกาสทางสังคมในประเด็นการเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน ด้วยการกระจายอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรไปสู่ อปท.และยกระดับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 เป็นกฎหมายเพื่อสร้างความยั่งยืนปฏิรูปแบบบูรณาการ

           11.ด้านอื่น ๆ มีข้อเสนอการปฏิรูปประเทศในภาพรวมจำเป็นต้องบูรณาการทุกด้าน และ 10 ประเด็นที่มีที่มาของสาเหตุและสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน สภาพปัญหาการนำศาสนธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต การพัฒนาประเทศและการพัฒนาวิถีชีวิต สภาพปัญหาคุณธรรมจริยธรรม สภาพปัญหาวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย สภาพปัญหาศิลปวัฒนธรรม สภาพปัญหาการปลูกฝังและเผยแพร่ค่านิยมที่เหมาะสมต่อสังคมไทย สภาพปัญหาความสามัคคีปรองดอง สภาพปัญหาระเบียบวินัยในสังคม สภาพปัญหาเอกลักษณ์ของชาติ สภาพปัญหากีฬา สภาพปัญหาสิ่งบันเทิงอันมีผลต่อพฤติกรรมของเยาวชน










เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สมชาย หนุน พิมพ์เขียว คสช. แต่ไม่ชอบที่มานายกฯ อัปเดตล่าสุด 10 ตุลาคม 2557 เวลา 16:21:56 14,124 อ่าน
TOP