x close

กรณ์ จวกรัฐล้มเหลว เอาผิดคนทำผิดไม่ได้ โยงคดี กิตติรัตน์

กรณ์ จวกรัฐล้มเหลว เอาผิดคนทำผิดไม่ได้ โยงคดี กิตติรัตน์
กรณ์ จวกรัฐล้มเหลว เอาผิดคนทำผิดไม่ได้ โยงคดี กิตติรัตน์

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  เฟซบุ๊ก Korn Chatikavanij

          กรณ์ จาติกวณิช จวกรัฐบริหารงานล้มเหลว ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายผ่านสภา แต่ฝ่ายบริหารไม่ทำตาม แต่สุดท้ายไม่สามารถเอาผิดใครได้

          วันที่ 30 ตุลาคม 2557 มีรายงานว่า นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว ผ่านเฟซบุ๊ก Korn Chatikavanij โดยเฉพาะกรณี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ไม่ยอมดำเนินการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผ่านสภาออกมาแล้ว ทว่า กลับไม่สามารถเอาผิดนายกิตติรัตน์ได้ เนื่องจาก ป.ป.ช. ยกคำร้องในเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเจตนาทำผิดทางอาญา และไม่ส่อไปในทางทุจริต หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งถือเป็นการทำงานของรัฐที่ล้มเหลว พร้อมฝากถึง คสช. ว่า หากมาตรา 157 ใช้กับกรณีนี้ไม่ได้ ก็ควรมีการแก้ไขให้ใช้ได้เสีย

          ทั้งนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช ได้โพสต์ข้อความว่า...

          ระบบรัฐล้มเหลว
 
          นิติบัญญัติออกกฎหมาย - ฝ่ายบริหารไม่ทำตาม - องค์กรอิสระไม่มีทางไป
 
          เรื่องนี่ยาวนิดนึง แต่มีผลต่อเราทุกคนครับ
 
1. ข้อเท็จจริง
 
           “รัฐสภา” สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ออกกฎหมาย “กองทุนการออมแห่งชาติ” (กอช.) เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการส่งเสริมการออมให้กับประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญประมาณ 25 ล้านคน กฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2554 โดยผู้รักษาการกฎหมายคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
 
           กลางปี 2554 เปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีคุณธีระชัยและคุณกิตติรัตน์ มาเป็นรัฐมนตรีคลังตามลำดับ คุณธีระชัยอยู่ในตำแหน่งไม่นาน พอคุณกิตติรัตน์เข้ามาสานต่อก็ปฏิเสธที่จะดำเนินการจัดตั้ง กอช. ตามที่กฎหมายกำหนด การละเว้นโดยเจตนานี้พิสูจน์ได้จากบทสัมภาษณ์ จากการรายงานโดยข้าราชการ และจากการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ได้จัดสรรงบประมาณตามกำหนดเพื่อจัดตั้งกองทุนตามบทบัญญัติของกฎหมาย กองทุนเพื่อส่งเสริมเงินออมของคนไทย 25 ล้านคนจึงเกิดไม่ได้
 
           ทั้งหมดนี้คือความจงใจของฝ่ายบริหาร ที่จะไม่ทำตามกฎหมายของบ้านเมือง กฎหมายที่มาจากการลงคะแนนสนับสนุนโดยนักการเมืองจากทุกพรรค รวมไปถึงวุฒิสภา
 
2. คำถามสามข้อ
 
           คำถามข้อที่หนึ่ง ผมขอถามว่า ฝ่ายบริหารควรมีสิทธิ์หรือไม่ ในการที่จะเลือกว่าจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับที่ผ่านสภามาแล้ว
 
          ผมมั่นใจว่าทุก ๆ คนก็ต้องตอบว่า "ไม่มีสิทธิ์ !” รัฐบาลรวมถึงรัฐมนตรีทุกคนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกฉบับ มิเช่นนั้นยุ่งแน่ครับ หากละเลยก็จะกลายเป็นว่าฝ่ายบริหารเปรียบเป็นพระเจ้า นิติบัญญัติร่างกฎหมายไป ก็โดนปฏิเสธง่าย ๆ ด้วยการนิ่งเฉย กฎหมายไม่สามารถคุ้มครองสิทธิให้ใคร
 
           คำถามที่สอง ผมขอถามต่อว่า “เอาผิดเขาได้ไหม”
 
          เดิมทีผมก็คิดว่าน่าจะได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ”
 
           คำถามที่สาม สรุปว่าเอาผิดอดีตรัฐมนตรีกิตติรัตน์ได้ไหม
 
          ไม่ได้ครับ เพราะ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติ “ยกคำร้อง” โดยให้เหตุผลว่าคุณกิตติรัตน์ "ไม่มีเจตนาทำผิดทางอาญา และไม่ส่อไปในทางทุจริต หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" (จากคำแถลงผลการประชุมกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 21 ตุลาคม)
 
3. ทางออก
 
          ที่ผมและพวกยื่นฟ้องคุณกิตติรัตน์ ไม่ใช่เพราะเราหวังร้ายต่อท่าน เราเพียงหวังว่าเราจะสามารถกระตุ้นให้ผู้เป็นรัฐมนตรีทำตามหน้าที่เท่านั้น
 
          ผมขอไม่เถียงกับ ป.ป.ช. ที่สำคัญคือข้อเท็จจริงที่วันนี้ประชาชน 25 ล้านคนเสียโอกาสที่จะได้รับจากการสมทบเงินออมของเขาจากรัฐบาล คนหาเช้ากินคํ่านับสิบล้านคนมีแต่หนี้ ไม่มีเงินออม ไม่มีหลักประกันชีวิตในวัยชรา ส.ส. จากทุกพรรคได้ช่วยกันออกกฎหมายนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหา ประเด็นสำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้กองทุนตามกฎหมายนี้กลับมาเดินหน้าได้ และเราจะทำอย่างไรไม่ให้ฝ่ายบริหารเลือกใช้อำนาจตามใจชอบแบบนี้อีก
 
          ผมไม่ขอพูดถึงเหตุผลของคุณกิตติรัตน์ที่ไม่ยอมทำตามหน้าที่ แต่ขอพูดเพียงว่า “กฎหมายคือกฎหมาย” ถ้าฝ่ายบริหารคิดว่ากฎหมายไม่ดี ก็ควรเสนอแก้กฎหมายในสภา ตอนนั้นคุณก็มีเสียงข้างมากอยู่แล้ว
 
          แต่เมื่อ ป.ป.ช. บอกว่าเราไม่สามารถเอาผิดฝ่ายบริหารที่มีพฤติกรรมแบบนี้ได้ ผมว่านี่คือความล้มเหลวของระบบการบริหารบ้านเมือง และถ้าเป็นเช่นนี้ผมก็ไม่รู้ว่าเราจะมานั่งเสียเวลาออกกฎหมายใหม่กันทำไม ถ้ารัฐบาลในอนาคตไม่ต้องทำตาม และ ป.ป.ช. ก็ยืนยันว่าเอาผิดเขาไม่ได้
 
          ดังนั้นเมื่อ ป.ป.ช. ตีความกฎหมายอย่างนี้ เราจึงต้องขอฝากให้ คสช. และสภาปฏิรูปช่วยพิจารณาปัญหานี้ด้วยครับ ถ้ามาตรา 157 ใช้กับกรณีนี้ไม่ได้ ก็ควรแก้ให้ใช้ได้เสีย เพราะหากกฎหมายที่ผ่านสภาไร้ความหมาย หากอำนาจเท่านั้นที่จะเป็นตัวกำหนดว่าประชาชนมีสิทธิอะไรบ้าง
 
          เมื่อนั้น... ประเทศไทยคงไม่ใช่สังคมที่น่าอยู่

กรณ์ จวกรัฐล้มเหลว เอาผิดคนทำผิดไม่ได้ โยงคดี กิตติรัตน์
กรณ์ จวกรัฐล้มเหลว เอาผิดคนทำผิดไม่ได้ โยงคดี กิตติรัตน์
กรณ์ จวกรัฐล้มเหลว เอาผิดคนทำผิดไม่ได้ โยงคดี กิตติรัตน์





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรณ์ จวกรัฐล้มเหลว เอาผิดคนทำผิดไม่ได้ โยงคดี กิตติรัตน์ โพสต์เมื่อ 30 ตุลาคม 2557 เวลา 15:30:18 10,510 อ่าน
TOP