x close

วิษณุ แจงเวทีปฏิรูปคู่ขนาน สปช. ยังไม่คืบ เล็งลดคนเหลือ 300


วิษณุ เครืองาม
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

วิษณุ เครืองาม

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

          รองนายกฯ ชี้แจงเวทีปฏิรูปคู่ขนาน กับ สปช. ยังไม่ได้เริ่ม เผยเตรียมลดคนเหลือ 300 เหตุติดเรื่องค่าใช้จ่าย และรอให้เวทีคู่ขนานอื่น ๆ เสร็จ หวั่นจัดซ้ำซ้อน
 
          วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2557) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าของการจัดตั้งเวทีปฏิรูปคู่ขนานกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในปัจจุบัน ว่า ขณะนี้มีเวทีคู่ขนานนอกเหนือจาก สปช. อยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่

          1. คณะทำงานของสมาชิก สปช. ที่เป็นนักวิชาการ ซึ่งมีการจัดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว
          2. คณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา
          3. เวทีปฏิรูปคู่ขนาน ซึ่งในส่วนนี้ล่าสุดยังติดขัดเรื่องค่าใช้จ่าย จึงอาจพิจารณาลดขนาดลงให้เหลือ ไม่ถึง 300 คน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้เริ่มดำเนินการ เนื่องจากจะต้องรอให้มีการจัดตั้งเวที ที่ 1 และ 2 ก่อน เสร็จเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน

          ส่วนเวทีรับฟังความเห็นประชาชนในส่วนของรัฐบาลนั้น จะจัดทำโดยไม่เน้นเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่จะเน้นไปทีเรื่องการปฏิรูป 11 ด้านเป็นหลัก ซึ่งต้องมีการหารือถึงรูปแบบกันต่อไป

          นายวิษณุ กล่าวต่อว่า กรณีที่วันนี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าพบคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ความเห็นในการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ ย้ำว่าเป็นการมาในนามส่วนตัว ดังนั้นความเห็นในวันนี้จึงไม่มีผลผูกพันกับพรรค โดยได้มีการเสนอใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น และการเห็นควรให้ทำประชามติเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

          ขณะที่ในวันพรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้าย ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเปิดให้ 6 องค์กรอิสระ ยื่นเสนอความเห็นประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในองค์กร โดยที่ผ่านมาพบว่า กกต. ยื่นข้อเสนอเข้ามาเพียงประเด็นเดียว คือให้พิจารณาใบเหลืองแดงได้ก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง พร้อมทั้งมีการขยายเวลาสืบสวนสอบสวนให้มากขึ้นจากเดิม 30 วันเป็น 60 วันหลังวันเลือกตั้ง โดยสามารถขยายเวลาได้อีก 30 วัน ส่วน ป.ป.ช. ได้เสนอให้สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตได้เอง เพื่อให้การทำงานมีความรวดเร็วขึ้น

          ขณะเดียวกัน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ได้เสนอให้มีการเพิ่มอำนาจ ให้สามารถออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อเป็นการยับยั้งปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชาชนได้ทันท่วงที



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิษณุ แจงเวทีปฏิรูปคู่ขนาน สปช. ยังไม่คืบ เล็งลดคนเหลือ 300 อัปเดตล่าสุด 27 พฤศจิกายน 2557 เวลา 17:55:59 2,027 อ่าน
TOP