x close

สำรวจทัศนะ เยอรมันโมเดล ทางออกระบบเลือกตั้งไทย !?


เลือกตั้ง

เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม

          หมายเหตุ : รวมความเห็น-ทัศนะจากฝ่ายต่างๆ ภายหลังจากคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญคณะที่ 3 ของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มี นายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน เสนอรูปแบบจัดเลือกตั้งส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ รวมถึงระบบเขต รูปแบบใหม่โดยยกโมเดลต่างประเทศ ได้แก่ การจัดเลือกตั้งแบบออสเตรเลียและแบบเยอรมัน มาหารือซึ่งที่ประชุมโน้มเอียงไปทางรูปแบบของเยอรมัน และเตรียมจัดทำเอกสารนำเสนอต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน พิจารณาวันที่ 12-13 ธ.ค.นี้

          สุจิต บุญบงการ
          กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

          รูปแบบการเลือกตั้งแบบเยอรมนีที่จะนำเสนอ ตอบโจทย์ดีกว่ารูปแบบเดิม เพราะสะท้อนคะแนนนิยมและป้องกันพรรคการเมืองมีอำนาจมากเกินไป จนครอบงำฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ และคะแนนเสียงของประชาชนได้รับการยอมรับมากขึ้น โดยรูปแบบไม่ได้แตกต่างจากเดิม คือการเลือกตั้งจะมี ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ
         
          ยืนยันว่าไม่สร้างความสับสน  เพราะรูปแบบเลือกตั้งยังเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนการคำนวณสัดส่วน เพื่อให้สะท้อนความนิยมของพรรคได้มากขึ้น  โดยนำคะแนนที่ได้จากการเลือกบัญชีรายชื่อมารวมกับคะแนนแบบแบ่งเขต แล้วคำนวณออกมาเป็นสัดส่วน ต่างจากที่ผ่านมา

          เช่น ในอดีตพรรคเพื่อไทยไม่มี ส.ส.ในภาคใต้ แต่คะแนนที่เลือกผู้สมัครพรรคเพื่อไทยก็จะนำมาคำนวณรวมกับคะแนนของระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อคิดคำนวณเป็นสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  โดยไม่ได้ทิ้งคะแนนเหล่านี้เหมือนในอดีต

          ทั้งนี้ กำหนดจำนวน ส.ส.ลดลงจากเดิม รวม 2 ระบบเหลือราว 350 คน เพื่อให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น และคิดว่าสามารถตอบสนองประชาชนในพื้นที่ได้ดีพอ ๆ กับการเลือกตั้งแบบเดิม แต่ข้อเสนอเหล่านี้เป็นเพียงกรอบข้อเสนอการเลือกตั้งเท่านั้น สามารถอภิปรายเสนอปรับแก้ไขได้


          นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
          กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

          ในฐานะอนุกรรมาธิการเป็นผู้เสนอ เพราะวิธีเลือกตั้งแบบเยอรมัน จะทำให้ทุกคะแนนที่ลงมีค่า ไม่ถูกตัดทิ้ง  พรรคขนาดกลางและเล็กมี โอกาสได้ส.ส.มากขึ้นเพราะจะคิดจากคะแนนของระบบบัญชีรายชื่อเป็นหลัก

          เช่น ประเทศไทยมีส.ส. 500 คน พรรค ข. ได้คะแนนแบบบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 10 ของทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนส.ส.ที่ควรจะมี 50 คน แต่ชนะเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเพียง 30 เขต ผลคือ พรรค ข.จะมีส.ส. 50 คน มาจากแบบแบ่งเขต 30 คน และจะได้ส.ส.จากบัญชีรายชื่ออีก 20 คน รวมเป็น 50 คน โดยระบบนี้จะคำนึงถึงผู้ที่ลงคะแนนเสียงในภาพรวมเป็นหลักเพื่อมาคำนวณหาสัดส่วนส.ส.ที่ควรจะเป็น
    
          ระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมันจะแตกต่างจากระบบการเลือกตั้งของไทยต่างจากในรัฐธรรมนูญ ปี 40 และ 50 ที่เป็นระบบแบบแถมให้ โดยพรรคชนะเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเท่าไรก็ให้ไปรวมกับสัดส่วนที่ได้จากบัญชีรายชื่อทั้งหมด แต่ระบบนี้จะคิดจำนวนผู้แทนฯ จากระบบบัญชีรายชื่อเป็นหลัก ที่สำคัญจะช่วยแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงจากการเลือกตั้งได้
         
          ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางแบบเยอรมัน  และมั่นใจว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะตอบรับแนวทางที่อนุกรรมาธิการเสนอ


          วิษณุ เครืองาม
          รองนายกรัฐมนตรี

          ศึกษาระบบการเลือกตั้งของประเทศเยอรมนี มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

          ข้อดี คือ ทุกคะแนนจะมีความหมาย แต่ระบบเลือกตั้งของไทยคะแนนบางส่วนไม่มีความหมายและทุกภาคส่วนมีโอกาสที่จะได้รับเลือก

          ส่วนข้อเสียจะมีความยุ่งยากไทยชินกับการเลือกตั้งที่คนได้คะแนนเป็นอันดับ 1 จะได้รับเลือกตั้ง แต่ระบบของเยอรมันคนที่ได้ลำดับที่ 2 อาจจะได้รับเลือกก็ได้ ซึ่งคนไทยอาจทำความเข้าใจเรื่องนี้ยากมาก

          จุดอ่อนอีกเรื่อง คือ การทำให้มีพรรคเล็กพรรคน้อยเกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะมีโอกาสได้รับเลือกตั้ง

          ระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมนีจะทำให้พรรคใหญ่เสียเปรียบ เพราะต้องแบ่งส่วนที่ได้เปรียบให้แก่ พรรคเล็ก ถ้าคิดว่าทนความยุ่งยากตรงนี้ได้ระบบเยอรมนีถือว่าน่าสนใจ เพราะคล้ายกับระบบการเลือกตั้งของออสเตรเลีย หากจะใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ยังมีเวลาอีก 1 ปี ที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจ อาจจะทดลองใช้ใน 1-2 พื้นที่ก่อนก็ได้

         
          วิรัตน์ กัลยาศิริ
          หัวหน้าคณะทีมกฎหมายพรรค

          เรื่องนี้เห็นว่ารัฐบาลโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นเชื่อว่าถ้ารัฐบาลไม่เห็นด้วยแล้ว คงไม่น่าผ่านความเห็นของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

          แนวคิดการเลือกตั้งแบบเยอรมันมองว่าไม่เหมาะสมกับประเทศไทย

          ที่ผ่านมาระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่เราใช้อยู่นั้นก็เป็นรูปแบบของเยอรมัน แต่ยังมีปัญหา

          อย่างไรก็ตามมองว่าการเมืองไทยในอนาคตในปี 58-59 หลังการปฏิรูป บริบทของการเมืองไทยอาจใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเดิมของรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 แต่อาจปรับปรุงแก้ไขบางเรื่อง เช่น กรณีที่ ส.ส. แล้วต้องไม่ไปเป็นรัฐมนตรี เพราะจะทำให้การทำงานของฝ่ายบริหารไม่มีคุณภาพ


          ชูศักดิ์ ศิรินิล
          หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย

          ระบบดังกล่าวไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เหตุเพราะ

          1. การเลือกตั้งของไทยตั้งแต่เดิมเป็นการเลือกตัวบุคคลในเขตเลือกตั้งที่ตนเองชื่นชอบเป็นหลักระบบบัญชีรายชื่อเพิ่งนำมาใช้ในระยะหลังประชาชนจึงมีความผูกพันกับส.ส.พื้นที่มากกว่าการให้ความสำคัญกับคะแนนบัญชีรายชื่อ จึงอาจมีปัญหาการยอมรับของประชาชน

          2. การจะนำระบบดังกล่าวมาใช้ ต้องเป็นกรณีที่พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งและมีความเป็นสถาบันการเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่ และประชาชนมีความเข้าใจและให้ความสำคัญต่อระบบพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคล

          3. คะแนนเสียงของประชาชนที่เลือกผู้แทนเขตดูจะไร้ความหมายต่างจากระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมาตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่ให้ความสำคัญของคะแนนเสียงทั้ง 2 แบบเท่ากันและสะท้อนความเป็นจริงในความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมือง

          4. รูปแบบการปกครองของเยอรมันกับของไทยแตกต่างกันโดยเยอรมันปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐ แต่ไทยเป็นรัฐเดี่ยว





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สำรวจทัศนะ เยอรมันโมเดล ทางออกระบบเลือกตั้งไทย !? อัปเดตล่าสุด 6 ธันวาคม 2557 เวลา 15:02:25 10,889 อ่าน
TOP