x close

พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก อดีต ผบ.ทบ. ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว




พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก
พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก กองทัพภาคที่ 1

            พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก อดีต ผบ.ทบ. ถึงแก่อนิจกรรมแล้วในวัย 89 ปี ที่ รพ.พระมงกุฎฯ เนื่องจากหัวใจล้มเหลว

            ช่วงเช้าวันนี้ (19 มกราคม 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก อดีต ผบ.ทบ. ผบ.สส. และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเลย ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ เมื่อเวลา 06.20 น. ที่ผ่านมา ที่ รพ.พระมงกุฎฯ เนื่องจากหัวใจล้มเหลว

        ทั้งนี้จะมีการตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร โดยจะมีการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในช่วงเย็นวันพรุ่งนี้ (20 มกราคม) เวลา 17.00 น.

ประวัติ พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก

          พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก หรือ บิ๊กซัน เกิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2468 เป็นบุตรของ ร.ต. พิณ และนางสาคร กำลังเอก จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนพรหมวิทยามูล จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรหรือโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน ก่อนจะไปสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร

          เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมแล้ว จึงได้เรียนต่อในโรงเรียนเตรียมทหารบก รุ่นที่ 5 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ พล.อ. เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีต รมว.ศึกษาธิการ และอดีตหัวหน้าพรรคราษฎร, พล.อ. บรรจบ บุนนาค อดีต รมว.กลาโหม และ พล.อ.อ. ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ

          หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารบก พล.อ. อาทิตย์ ได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก วิทยาลัยกองทัพอากาศวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ประกาศนียบัตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจมกิตติมาศักดิ์จากกองทัพเรือ และยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในสาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สาขานิติศาสตร์ จากวิทยาลัยคณาสวัสดิ์, สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเปรพเพอร์ไดร์ และสาขาการทหารจากมหาวิทยาลัยเคนชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

ชีวิตและเส้นทางการรับราชการทหาร

          หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารบก และเสนาธิการทหารบก ก็ได้เข้ารับราชการทหารในปี พ.ศ. 2491 ประจำกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 5 จังหวัดเพชรบุรี จากนั้นได้มีโอกาสก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ทั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับกรม ผู้บัญชาการกองพล รองแม่ทัพภาค ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก นอกจากนี้ยังได้ทำงานในต่างประเทศ เช่น รับราชการในกองกำลังทหารไทยประจำเกาหลี รับราชการตำแหน่ง ผบ.ที่พักกองพลทหารอาสาสมัครประจำประเทศเวียดนาม กระทั่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2525 ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ต่อจาก พล.อ. ประยุทธ จารุมณี ที่เกษียณอายุราชการ

          ถัดมาอีก 1 ปี คือวันที่ 1 ตุลาคม 2526 จึงได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ต่อจาก พล.อ. สายหยุด เกิดผล โดยเป็นการดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. ควบคู่กัน ด้วยการสนับสนุนของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

          ต่อมา นายสมหมาย ฮุนตระกูล รมว.คลัง ในรัฐบาล พล.อ. เปรม ได้ประกาศลดค่าเงินบาท จาก 23 บาท เป็น 27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ทำให้ พล.อ. อาทิตย์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรง จนเกิดการบาดหมาง และนี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ พล.อ. อาทิตย์ ไม่ได้รับการต่ออายุราชการ และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2529 พล.อ. อาทิตย์ ได้ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอย่างกะทันหัน ภายหลังได้มีการแต่งตั้ง พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เสนาธิการทหารบกในขณะนั้น ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทน ขณะที่ พล.อ. อาทิตย์ ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดดังเดิมจนเกษียณอายุราชการ

          สรุปประวัติการรับราชการ

          - พ.ศ. 2491 ประจำกองบังคับการ กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 5, ประจำกองบังคับการ กรมทหารราบที่ 1
          - พ.ศ. 2492 รับพระราชทานยศร้อยตรี
          - พ.ศ. 2493 ผู้บังคับหมวด กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 21
          - พ.ศ. 2494 ประจำกองบังคับการ กรมทหารราบที่ 21 และรับพระราชทานยศร้อยโท
          - พ.ศ. 2495 นายทหารยานยนต์ หมวดบริการขนส่ง ร้อยบริการ กรมทหารราบที่ 21
          - พ.ศ. 2496 นายทหารยานยนต์ กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ผู้บังคับกองร้อยที่ 4 กองพันที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์
          - พ.ศ. 2497 รับพระราชทานยศร้อยเอก
          - พ.ศ. 2500 นายทหารฝ่ายยุทธการและการฝึก กองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 21
          - พ.ศ. 2501 นายทหารฝ่ายยุทธการและการฝึก กองพันที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และรับพระราชทานยศพันตรี
          - พ.ศ. 2503 รองผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
          - พ.ศ. 2505 หัวหน้าแผนก ศูนย์การทหารราบ และรับพระราชทานยศพันโท
          - พ.ศ. 2508 ผู้บังคับกองพันบริการ มณฑลทหารบกที่ 1
          - พ.ศ. 2511 ผู้บังคับที่พัก กองพลทหารอาสาสมัคร
          - พ.ศ. 2513 หัวหน้ากองธุรการและบริการ สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูง และรับพระราชทานยศพันเอก
          - พ.ศ. 2514 รองผู้บังคับการกรมผสมที่ 23
          - พ.ศ. 2515 ผู้บังคับการกรมผสมที่ 23
          - พ.ศ. 2519 รองผู้บัญชาการกองพลที่ 3
          - พ.ศ. 2520 ผู้บัญชาการกองพลที่ 3 และรับพระราชทานยศพลตรี
          - พ.ศ. 2522 ผู้บัญชาการกองพลที่ 3 รักษาพระองค์
          - พ.ศ. 2523 รองแม่ทัพกองทัพภาคที่ 2
          - พ.ศ. 2524 แม่ทัพภาคที่ 1 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และรับพระราชทานยศพลโท, พลเอก
          - พ.ศ. 2525 ผู้บัญชาการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (3)
          - พ.ศ. 2526 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และรับพระราชทานยศพลเรือเอก พลอากาศเอก

          ราชการพิเศษ หรือตำแหน่งพิเศษ

          - พ.ศ. 2493 ราชการสงคราม ณ ประเทศเกาหลี
          - พ.ศ. 2503 ราชองครักษ์เวร
          - พ.ศ. 2512 ราชการสงคราม ณ ประเทศเวียดนาม
          - พ.ศ. 2515 ราชองครักษ์เวร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
          - พ.ศ. 2518 ราชองครักษ์เวร
          - พ.ศ. 2520 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
          - พ.ศ. 2522 นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ สมาชิกวุฒิสภา
          - พ.ศ. 2523 นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
          - พ.ศ. 2524 ช่วยราชการ ศปก.ทบ. ในหน้าที่ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (1)
นายทหารพิเศษประจำกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ประจำกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ และประจำกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์
          - พ.ศ. 2525 นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ , กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์, กรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์
          - พ.ศ. 2526 นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ และกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์, ตุลาการศาลทหารสูงสุด

อาทิตย์ กำลังเอก

พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ผลงานสำคัญ กับฉายาวีรบุรุษมัฆวานฯ

          เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้คนรู้จักและยกย่อง พล.อ. อาทิตย์ ก็คือเหตุการณ์นิสิตนักศึกษาประท้วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2500 เพราะไม่พอใจผลการเลือกตั้ง ครั้งนั้นรัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน และตรึงกำลังทหาร-ตำรวจล้อมเส้นทางสู่ทำเนียบฯ โดยเฉพาะที่สะพานมัฆวาน นอกจากนี้ยังมีการนำรถถังมาตั้งป้อมเตรียมยิง จนเป็นที่คาดกันว่าหากนักศึกษาฝ่าเข้าไปจะต้องเกิดการปะทะกันจนได้รับบาดเจ็บเป็นแน่

          ในสมัยนั้น พล.อ. อาทิตย์ ซึ่งมียศร้อยเอก ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยที่ 4 กองพันที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 ซึ่งมีภารกิจป้องกันและรักษาความปลอดภัยบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อนิสิตนักศึกษาเดินขบวนมาถึงและถูกทหารขัดขวาง ก็ได้ขว้างปาสิ่งของเข้าใส่แนวรับทหารและตำรวจ จนเหตุการณ์เกิดความตึงเครียดขึ้น มีการติดดาบปลายปืนและบรรจุกระสุนเตรียมขึ้นลำปืนพร้อมยิง โดยไม่ได้สั่ง แต่ ร.อ. อาทิตย์ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เลิกบรรจุกระสุน แล้วเดินเข้าไปเจรจากับกลุ่มนิสิตนักศึกษา จนในที่สุดก็ไม่เกิดเหตุการณ์ปะทะและเสียเลือดเสียเนื้อ สื่อมวลชนจึงตั้งสมญานามให้ พล.อ. อาทิตย์ ว่า "วีรบุรุษมัฆวานฯ" และการประท้วงในครั้งนั้น ทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

          นอกจากนี้ยังมีผลงานสำคัญ อาทิ ปฏิบัติงานปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ใสช่วงปี พ.ศ. 2511-2524 โดยยึดถือหลักการเมืองนำการทหาร และชักนำประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมปกป้องท้องถิ่นของตน โดยจัดตั้ง "ไทยอาสาป้องกันตนเอง" (ทสป.) ทำการฝึกการใช้อาวุธ อบรมจิตใจให้มีความรักหวงแหนถิ่นกำเนิด

          การฝึกดังกล่าวได้กลายเป็นงานสำคัญระดับชาติในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ต่อมาได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น "ไทยอาสาป้องกันชาติ" (ทสปช.) สามารถสกัดกั้นการขยายตัวของฝ่ายก่อการร้าย อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสามัคคีและเป็นที่เชื่อถือ ศรัทธาของประชาชนทุกหมู่เหล่า

บทบาทด้านการเมือง

          พล.อ. อาทิตย์ เริ่มเข้าสู่สนามการเมือง หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ด้วยการก่อตั้งพรรคปวงชนชาวไทย และลงสมัคร ส.ส. ก่อนจะได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในช่วงปี 2533-2534 สมัย พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และได้รับการแต่งตั้งเป็น รมช.กลาโหม แต่เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ขณะที่กำลังเดินทางไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนที่ จ.เชียงใหม่ พล.อ. อาทิตย์ ก็ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. และ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ผบ.สส. ในขณะนั้น จี้จับตัวไว้ ภายหลังเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ขึ้น

          อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬไป พล.อ. อาทิตย์ ได้เปลี่ยนชื่อพรรคปวงชนชาวไทยเป็นพรรคชาติพัฒนา และดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค โดยมี พล.อ. ชาติชาย เป็นหัวหน้าพรรค จากนั้น พล.อ. อาทิตย์ ได้กลับมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2537-2538 สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลยหลายสมัย ซึ่งสมัยที่เป็น ส.ส. นั้น ก็ได้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้ชาวจังหวัดเลยมากมาย

ชีวิตครอบครัว

          พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก สมรสกับ ท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2492 มีบุตร-ธิดารวม 3 คน คือ พ.ต.อ. ทินภัทร กำลังเอก (เสียชีวิต), พลตรีหญิง คุณหญิงเวณิกา ทวีชัยการ อดีตอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก และ พล.ท. ฐิติวัจน์ กำลังเอก

          กระทั่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2526 ท่านผู้หญิงประภาศรีได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบหลังล้มป่วยด้วยโรคเนื้องอกในสมอง และภายหลังจากท่านผู้หญิงถึงแก่อนิจกรรมก็ได้มีการสร้างอาคารท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก หรือตึกอุบัติเหตุสำหรับรับผู้ป่วยฉุกเฉินขึ้นที่หน้าโรงพยาบาลพระมงกุฎ ถือเป็น "อนุสรณ์แห่งความรัก" แด่ท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก

  เกียรติประวัติและเครื่องราชอิสริยาภรณ์

          - ได้รับเลือกจากมูลนิธิธารน้ำใจ ให้เป็นคนไทยตัวอย่าง ประจำปี พ.ศ. 2520

          - ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

          - ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์สังข์เงินจากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย สาขาเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ

          - ได้รับรางวัลบุคคลแห่งปีในฐานะที่เสียสละมุ่งมั่นทำประโยชน์อันมีผลสูงเด่นกับสังคมและประเทศชาติ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญที่ได้รับพระราชทาน

          - เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
          - เหรียญชัยสมรภูมิ (เกาหลี)
          - เบญจมาภรณ์ช้างเผือก และเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 5
          - จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย
          - เหรียญจักรมาลา
          - จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก
          - ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
          - ตริตาภรณ์ช้างเผือก และเหรียญพิทักษ์เสรีชน (ชั้นที่ 2)
          - เหรียญชัยสมรภูมิ (เวียดนาม)
          - ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย
          - ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก และตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
          - ประถมาภรณ์มงกุฎไทย
          - ทุติยจุลจอมเกล้า
          - เหรียญชัยสมรภูมิ (เอเชีย)
          - มหาวชิรมงกุฎ
          - เหรียญพิทักษ์เสรีชน (ชั้นที่ 1) โยธิน เหรียญราชการชายแดน มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
          - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีชั้น 3 โยธิน


 





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, กองทัพบก, maloei.com




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก อดีต ผบ.ทบ. ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว อัปเดตล่าสุด 19 มกราคม 2558 เวลา 15:26:27 61,451 อ่าน
TOP