x close

ชาวบ้านรอบเทือกเขาบูโดกว่า 2 พันคน นัดโค่นต้นยางพารา ทวงสิทธิ์ที่ดินทำกิน



ชาวบ้านรอบเทือกเขาบูโดกว่า 2 พันคน นัดโค่นต้นยางพารา ทวงสิทธิ์ที่ดินทำกิน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

          ชาวบ้านรอบเทือกเขาบูโด ยืนยันเดินหน้าโค่นต้นยางพารา ทวงคืนสิทธิ์ที่ดินทำกิน หลังรัฐประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติบูโด สุไหงปาดี ทับที่ดินยืดเยื้อนาน 15 ปี

          เมื่อวานนี้ (22 มกราคม 2558) รายการข่าว 3 มิติ ทางช่อง 3 รายงานว่า ในวันที่ 25 มกราคม 2558 ที่จะถึงนี้ ชาวบ้านโดยรอบของเทือกเขาบูโด สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ประมาณ 2,000 คน จะมารวมตัวกันที่อำเภอบาเจาะ เพื่อทวงคืนความเป็นธรรมในที่ดินทำกินที่ยืดเยื้อมากว่า 15 ปี หลังมติคณะรัฐมนตรี ประกาศให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

          โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่มีการประกาศให้พื้นที่โดยรอบของเทือกเขาบูโด สุไหงปาดี ซึ่งเป็นที่ดินทำกินของชาวบ้านใน 9 อำเภอ เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจและได้รวมตัวกันเพื่อต่อสู้มายาวนานกว่า 15 ปี จากความพยายามของ นายราแม ดาราแม หรือ เปาะจิ ที่หาความรู้จนได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์การชุมชน เริ่มจัดทำแผนที่ทำมือขอพิสูจน์สิทธิที่ดินของชาวบ้าน โดยได้รับการสนับสนุนจัดทำแผนที่จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ถ่ายภาพถ่ายจากดาวเทียมมาเปรียบเทียบพื้นที่ เพื่อหาข้อพิสูจน์ว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของชาวบ้าน

          ด้าน นายมะดือเระ เยะตูแก ชาวบ้านมะยูง ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส และชาวบ้านกลุ่มเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด ได้พากัน ไปดูต้นยางพาราที่มีอายุถึง 96 ปี ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของนายมะดือเระ ซึ่งในวันที่ 25 มกราคมนี้ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกว่า 2,000 คน จะขี่มอเตอร์ไซค์ 200 คัน มาช่วยกันตัดต้นยางพาราดังกล่าว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทวงคืนความเป็นธรรมในสิทธิ์ดังกล่าว

          ก่อนหน้านี้ แม้ครอบครัวนายมะดือเระ จะเคยขอทุนจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางได้ แต่หลังจากมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติบูโด สุไหงปาดี เมื่อปี 2542 ทำให้สวนยางพาราของนายมะดือเระ และชาวบ้าน 6,985 ครัวเรือน ใน 9 อำเภอ ของ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา เนื้อที่ 96,216 ไร่ กลายเป็นพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด สุไหงปาดี จนไม่สามารถทำกินได้ ทั้งที่ชาวบ้านอาศัยทำกินมาก่อนประกาศเป็นเขตป่านับ 100 ปี

          ทั้งนี้ นายมะดือเระ ยอมรับว่า จำเป็นต้องเรียกร้องสิทธิ์ เพราะที่ผ่านมาต้องไปรับจ้างกรีดยางในสวนเพื่อนบ้าน ทั้งที่มีสวนยางในที่ดินของตัวเอง แต่ต้นยางแก่จนไม่สามารถกรีดได้ หากการโค่นต้นยางทำได้ตามมติ ครม. ปี 2551 เขาก็คาดหวังว่า ยางพาราแปลงนี้จะเป็นเงินทุนการศึกษาให้ลูกของเขาได้เรียนมหาวิทยาลัยในอีก 7 ปีข้างหน้า

          อย่างไรก็ตาม แม้มติคณะรัฐมนตรี 14 ตุลาคม 2551 ให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนสามารถตัดโค่นต้นไม้ยางพาราได้ แต่ 7 ปี ที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าดำเนินการและมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง จึงทำให้ประชาชนเดือดร้อนและผลักดันให้เรื่องนี้เดินหน้าเป็นต้นแบบการจัดการที่ดินให้เกิดความเป็นธรรม



เกาะติดตามข่าว ราคายางพารา ทั้งหมดคลิกเลย


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชาวบ้านรอบเทือกเขาบูโดกว่า 2 พันคน นัดโค่นต้นยางพารา ทวงสิทธิ์ที่ดินทำกิน อัปเดตล่าสุด 13 มกราคม 2559 เวลา 13:26:16 7,004 อ่าน
TOP