x close

ISIS คือใคร เจาะลึกจุดกำเนิดกลุ่มก่อการร้ายผู้เหี้ยมโหด




กลุ่ม ISIS
รูปธงของกลุ่ม ISIS

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก thehigherlearning.com, isisstudygroup.com, imamluqman.wordpress.com, middleeastnewsservice.com

            จากเหตุความไม่สงบในพื้นที่ตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเหตุการณ์ล่าสุดที่ทำให้คนทั้งโลกตกอยู่ในความตื่นตระหนกและโศกสลดที่สุด คือการสังหาร 2 ตัวประกันชาวญี่ปุ่น และการเผาทั้งเป็นตัวประกันนักบินจอร์แดน เป็นความเหี้ยมโหดของทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยฝีมือกลุ่มคนที่อ้างตัวเป็นกลุ่มไอซิส (ISIS) หรือ กลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย (Islamic State of Iraq and Syria) เพื่อให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของกลุ่มคนที่ทั่วโลกกำลังขนานนามว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เหี้ยมโหดที่สุด และสาเหตุของการฆ่าฟันที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มาย้อนดูถึงจุดกำเนิดของกลุ่มไอซิสตามข้อมูลที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ได้นำเสนอเอาไว้กัน

กำเนิดกลุ่ม ISIS

            ย้อนกลับไปในปี 2549 กลุ่มอัลกออิดะห์ในอิรักซึ่งอยู่ภายใต้การนำของ อาบู มูซาบ อัล-ซาคาวี มีเป้าหมายสำคัญคือการรวมกลุ่มผู้ทำสงครามต่อต้านชาวมุสลิมชีอะห์เข้าด้วยกัน และก็ประสบผลอย่างน่าพอใจเมื่อสามารถระเบิดมัสยิดอัล-อัสกอรี มัสยิดสำคัญของชาวชีอะห์ในเมืองซามาร์ราได้สำเร็จ

            แต่ในเวลาต่อมา  อัล-ซาคาวี ถูกสังหารโดยกองกำลังสหรัฐฯ ทำให้กลุ่มนักรบอัลกออิดะห์ในอิรักพลอยแตกฉานซ่านเซ็นและอ่อนแอลงจนแทบถูกทำลายราบคาบ แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อในที่สุดกองทัพสหรัฐฯ ได้จากอิรักไปพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญสถานการณ์สงครามและการรับมือกลุ่มนักรบอิสลาม ความขาดแคลนทหารมากประสบการณ์ของอิรัก ประกอบกับการแบ่งแยกย่อยของกองทัพไปตามแนวเขตแดนต่าง ๆ ความขาดแคลนยุทโธปกรณ์สำหรับใช้ในยามจลาจล และความหย่อนประสิทธิภาพของการลาดตระเวน ทำให้ในเวลาเพียงไม่นานกลุ่มอัลกออิดะห์ก็ก่อตัวขึ้นใหม่ ภายใต้ชื่อ ISI (กลุ่มรัฐอิสลามในอิรัก) ก่อนจะ เพิ่ม ซีเรีย (Syria) เข้าไปในภายหลัง กลายเป็น ISIS อย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน

            กลุ่ม ISI ใช้ประโยชน์จากความหวาดวิตกชาวมุสลิมสุหนี่ ที่เกรงว่าพวกตนจะถูกข่มเหงกดดันจากรัฐบาลของนายนูริ อัล-มาลิกิ ซึ่งเป็นชาวมุสลิมชีอะห์ ประกอบกับการจับนักการเมืองอาวุโสที่เป็นชาวสุหนี่และการปราบปรามการลุกฮือของชาวสุหนี่ คอยปลุกระดมและรวบรวมพรรคพวกภายใต้แนวคิดเดียวกันขึ้นมา

ใครคือผู้นำของ ISIS ?


อาบู บัค อัล-บัคดาดี ผู้นำกลุ่ม ISIS

            ผู้นำเดิมของ ISI คือ อาบู โอมาร์ อัล-บัคดาดี ซึ่งถูกสังหารระหว่างการปะทะกับกองกำลังผสมสหรัฐฯ-อิรัก และในที่สุด ISI ก็ได้ผู้นำใหม่ในปี 2553 คือนาย อาบู บัค อัล-บัคดาดี ซึ่งมีอายุ 39 ปีในขณะนั้น ข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับ อาบู บัค อัล-บัคดาดี ไม่ค่อยเป็นที่เปิดเผยมากนัก เบื้องต้นทราบเพียงว่าศึกษาจบทางด้านอิสลามศึกษาจากมหาวิทยาลัยอิรัก เคยสร้างกองกำลังของตัวเองขึ้นในเมืองซามาร์ราและดิยาลามาก่อน และถูกจับเข้าคุกทหารอเมริกัน ที่เมืองบุคคา ทางตอนใต้ของอิรักอยู่นาน 4 ปี ในฐานก่อกบฏ และถูกปล่อยตัวออกมาในปี 2552
 
            อาบู บัค อัล-บัคดาดี ขึ้นเป็นผู้นำในช่วงที่ ISI กำลังอ่อนแอ แต่เมื่อสหรัฐฯ ถอนกำลังกลับไปเขาก็สามารถเรียกความยิ่งใหญ่ของกลุ่มนักรบอิสลามกลับคืนมา

เป้าหมายของ ISIS

            เป้าหมายของกลุ่มนักรบอิสลามนี้ คือการจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นมา ISIS ได้สร้างกฎหมายของตนเองที่เรียกว่า กฎชารีอะห์ (Sharia law) อันตราขึ้นจากบัญญัติศาสนาอิสลาม เพื่อควบคุมผู้คน ชารีอะห์เป็นกฎหมายที่เข้มงวดกวดขัน ลงโทษกันอย่างรุนแรงจริงจัง และควบคุมครอบคลุมทุกด้านของชีวิต ไม่ใช่เพียงมิติทางศาสนา

แหล่งเงินทุนของ ISIS มาจากไหน ?

            ในช่วงเริ่มแรกที่ ISIS ยังไม่แกร่งกล้า กลุ่มนักรบอิสลามดูไม่ต่างอะไรกับแก๊งอันธพาลกวนเมือง โดยมีวิธีการหาเงินเข้ากลุ่มด้วยการปล้นทรัพย์ ตลอดจนการขู่เก็บค่าคุ้มครองจากธุรกิจต่าง ๆ เมื่อเงินเริ่มมีมากก็เริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีการโจมตี เป็นทั้งการระเบิดชีพหรือการลอบสังหาร โดยฆ่าทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและตำรวจลาดตระเวนแน่นอนว่าได้ยึดเอาอาวุธของทางการมาครอบครองด้วย นอกจากนี้ยังมีการโจมตีคุกเพื่อปลดปล่อยนักโทษแล้วดึงเข้ามาเป็นพวกตน

            ในที่สุด อาบู บัค อัล-บัคดาดี ก็ได้ปรับยุทธวิธีให้กลุ่ม ISIS สามารถแสวงหาทรัพยากรได้อย่างสูงสุด คือการยึดและครอบครองดินแดนนั่นเอง

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ ISIS ยืนหยัดขึ้นมาได้ถึงปัจจุบัน ?   

            อาบู บัค อัล-บัคดาดี หลีกเลี่ยงที่จะก่อความผิดพลาดเช่นเดียวกับที่ อาบู มูซาบ อัล-ซาคาวี อดีตผู้นำอัลกออิดะห์คนเก่าเคยก่อไว้ ที่ได้พยายามกำจัดผู้นำคนสำคัญของกลุ่มในพื้นที่ที่บุกเข้ายึดครอง แทนที่จะกำจัด อัล-บัคดาดี กลับจะยกบุคคลนั้นไว้เสมอเดิม ดังเช่นการเข้ายึดเมืองฟัลลูจาห์เมื่อเดือนมกราคม 2557 แทนที่ ISIS จะปักธงดำอันเป็นสัญลักษณ์ของการยึดครองเมือง ทางกลุ่มกลับประสานเพื่อทำงานร่วมกันกับผู้นำกลุ่มคนในพื้นที่แทน

            นอกจากนี้ ISIS ยังพยายามซื้อใจคนในพื้นที่ ด้วยการจัดตั้งกลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ขึ้นมา ทั้งสวัสดิการสังคม จัดกิจกรรมสำหรับเด็ก ๆ แจกจ่ายอาหารและข้าวของที่จำเป็น ตลอดจนเปิดคลินิกรักษาขึ้นในพื้นที่นั้น ๆ แต่ทุกอย่างยังคงดำเนินไปภายใต้การปกครองด้วยกฎหมายชารีอาห์อย่างเข้มงวด 

เหตุใดซีเรียจึงตกเป็นเป้ายึดครองของกลุ่ม ?

            ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเดิมทีกลุ่มไอซิสยังเป็นเพียง ISI ที่หมายจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นในอิรักเท่านั้น แต่ในเวลาต่อมาก็ได้พบว่าซีเรียสามารถเป็นฐานที่ตั้งที่ดีของกลุ่มได้ หน่วยงานต่อต้านก่อการร้ายของสหรัฐฯ เคยได้วิเคราะห์ไว้ว่า กลุ่มนักรบอิสลามได้พบว่าทั้งอิรักและซีเรียสามารถเป็นสนามรบของกลุ่มตนที่สามารถถ่ายเททั้งกองกำลังและทรัพยากรสู่กันได้โดยง่าย ผ่านทางแนวพรมแดนของทั้งสองประเทศที่อยู่ติดกัน และจะเป็นที่มั่นที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่ม

            เมื่อสงครามกลางเมืองในซีเรียที่ปะทุขึ้น จึงยิ่งเป็นผลดีต่อ ISI ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย เริ่มสูญเสียการปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือและตลอดแนวพรมแดนที่ประชิดกับอิรักไป ISI จึงเริ่มคืบเข้ายึดครองพื้นที่เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นในการรวบรวมพลพรรคนักรบต่างชาติ เพื่อจัดตั้งกองกำลัง ตลอดจนเพื่อใช้เป็นที่หลบภัยจากกองทัพอิรัก และในที่สุดสามารถเข้ายึดครองเมืองรัคกา ฮอมส์ และอเลปโปได้แล้ว


แผนที่แสดงพื้นที่ยึดครองของ ISIS

ความเกี่ยวข้องระหว่าง ISIS และกลุ่มอัลกออิดะห์อื่น ๆ

            มีช่วงเวลาหนึ่งซึ่ง ISIS อันนับเป็นหนึ่งในกลุ่มนักรบอัลกออิดะห์ เกือบจะไม่ลงรอยกับกลุ่มอัลกออิดะห์อื่น ๆ โดยในปี 2556 ที่ ISIS เข้ายึดครองพื้นที่บางส่วนในซีเรียได้สำเร็จ และได้ประกาศดึงขบวนการแนวร่วมประชาชนของซีเรียหรือกองกำลังอัล-นุสรา (al-Nusra Front) ที่มีจุดประสงค์ล้มล้างรัฐบาลชีอะห์ของนายบาชาร์ อัล-อัสซาด เข้ามาเป็นพวก แต่กลุ่มอัล-นุสรา กลับไม่ยินยอม จนมีการปะทะระหว่างกลุ่มทั้งสอง ซึ่งต่างก็มองตนเองเป็นนักรบอัลกออิดะห์เกิดขึ้น

            ผู้นำใหญ่ของอัลกออิดะห์ นายอัยมาน อัล-ซาวาฮีรี ที่คาดว่าน่าจะซ่อนตัวอยู่ในอัฟกานิสถานหรือปากีสถาน เคยมีความพยายามในการช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย แต่แล้วก็ล้มเลิกความตั้งใจไป หลังจากที่ ISIS ไม่ยินยอมที่จะมุ่งยึดครองแค่อิรักเพียงประเทศเดียว

            และแทนที่จะพยายามปรองดอง ISIS ได้บอกกับนายอัล-ซาวาฮีรี ว่า "ชีคอุซามะห์ (อุซามะห์ บิน ลาดิน) ได้รวมเหล่านักรบไว้ภายใต้คำว่า มูจาฮิดีน ทว่าท่านได้สร้างความแตกแยก ท่านทำให้เหล่ามูจาฮิดีนเศร้าโศก และทำให้ศัตรูของมูจาฮิดีนยินดีเพราะท่านสนับสนุนคนทรยศ.." โดยท่านที่ ISIS กล่าวถึงนี้ คือ อาบู โมฮัมเหม็ด อัล-โจลานิ ผู้นำกลุ่มอัล- นุสรา นั่นเอง

            จากถ้อยแถลงอย่างเชื่อมั่นในตนเองของ ISIS นี้ สามารถโน้มน้าวนักรบต่างชาติจำนวนมากเข้ามาเป็นพวกได้ ส่งผลให้การปะทะกับกลุ่มอัล-นุสรา ยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่ ISIS เองก็เตรียมการรุกรานอิรักขนานใหญ่ไปพร้อม ๆ กัน

ยุทธวิธีการโจมตีของ ISIS

            ISIS มีกลยุทธ์โจมตีที่ชาญฉลาด ดังเช่นเมื่อเข้ายึดเมืองฟัลลูจาห์ได้แล้ว ก็ยังก่อกวนโจมตีเมืองข้างเคียงในจังหวัดอันบาร์ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของอิรักไปด้วย เพื่อดึงกองกำลังทหารจากทางตอนเหนือลงมา หมายให้สอดคล้องกับแผนการที่ใหญ่กว่า คือเข้ายึดเมืองโมซูลในจังหวัดนิเนเวห์ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศต่อไป และก็ประสบผลสำเร็จดังคาด

            นอกจากนี้ก็ยังมีกลยุทธ์การปะทะและจุดระเบิดพลีชีพในเมืองเป้าหมายหลาย ๆ แห่งที่กองทัพกำลังเฝ้าระวังอยู่พร้อม ๆ กัน เพื่อสร้างความระส่ำระสายทั้งโจมตีและทำลายความเชื่อมั่นของกองทัพไปพร้อม ๆ กัน

จุดอ่อนของ ISIS 



            นักวิเคราะห์จากหน่วยงานต่อต้านก่อการร้ายของสหรัฐฯ เผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ส่วนที่สามารถเป็นจุดอ่อนของ ISIS ได้ คือ การแผ่ขยายกำลังออกไปอย่างรวดเร็วและการหมายครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของอิรัก เสี่ยงจะทำให้ทุกอย่างอยู่เกินความควบคุมของกลุ่ม ตลอดจนการเข้ายึดครองเมืองโมซูล ซึ่งเป็นพื้นที่จับจ้องของทั้งชาวอิรักและชาวเคิร์ด จะทำให้ ISIS ต้องรับมือศึกจากทั้งสองทาง ทั้งจากกองทัพอิรักเองและจากนักรบมากประสบการณ์ของชาวเคิร์ดด้วย

            นอกจากนี้ยังระบุว่า ISIS ไม่สามารถชักนำหรือครอบงำชุมชนชาวมุสลิมสุหนี่ใด ๆ ได้เลย ไม่ว่าจะในอิรักหรือซีเรียก็ตาม

            อย่างไรก็ตามความอ่อนแอของทั้งรัฐบาลอิรักและซีเรีย ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับกลุ่ม ISIS ที่นับวันจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น จากการรวมหมู่กันของนักรบทั้งในอิรักและซีเรียเอง ตลอดจนชาติอาหรับอื่น ๆ จะทำให้สงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งเริ่มมีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพัน จะเข้มข้นรุนแรงขึ้นและคงยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงในเร็ววันนี้

 ติดตามข่าว กลุ่ม isis ไอซิส แบบอัพเดททั้งหมด คลิกเลย








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ISIS คือใคร เจาะลึกจุดกำเนิดกลุ่มก่อการร้ายผู้เหี้ยมโหด อัปเดตล่าสุด 5 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 11:14:45 730,226 อ่าน
TOP