x close

เอนก ชี้ ทางปรองดอง หวังรัฐธรรมนูญใหม่ดึง 2 ขั้วหันหน้าหากัน

เอนก ชี้ ทางปรองดอง หวังรัฐธรรมนูญใหม่ดึง 2 ขั้วหันหน้าหากัน

                        เอนก ชี้ ปรองดองไม่ได้หมายถึงแค่นิรโทษกรรม แนะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเขียนกฎหมายให้ทุกฝ่ายยอมรับ แม้ 2 พรรคไม่ชอบกัน แต่ต้องร่วมงานกันได้ ชี้ ประชาธิปไตยในโลกนี้ไม่ได้มีแค่แบบอังกฤษกับสหรัฐฯ

                   เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกับสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) จัดสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นเรื่อง "10 ประเด็นเด่นนวัตกรรมการเมืองไทย" ประเด็นการปฏิรูปการปรองดอง โดยมีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง และประธานอนุ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะที่ 10  สปช., พล.อ. เอกชัย ศรีวิลาศ รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมืองคนที่ 2 และนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม  กรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง และภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เป็นผู้บรรยาย และมีนายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นผู้วิจารณ์ข้อเสนอ กมธ.
   
                   โดยตอนหนึ่ง นายเอนก กล่าวถึงเรื่องการปรองดองว่า ไม่ได้หมายถึงแค่การนิรโทษกรรม ส่วนเรื่องที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านการพิจารณาและเห็นชอบให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ จำนวน 15 คน แบ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมืองหรือความขัดแย้ง และผู้นำความขัดแย้งนั้น ตนเห็นว่า กรรมการอิสระฯ ไม่ใช่กรรมการเกี้ยเซี้ยหรือต่อรอง แต่จะมีหน้าที่เพื่อหาข้อยุติความขัดแย้ง รวมถึงศึกษาหาข้อเท็จจริง การเยียวยา การดูแล รวมถึงเสนอพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) อภัยโทษ เมื่อบุคคลได้ให้ความจริงและสำนึกผิดต่อกรรมการ รวมถึงเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองฯ จะแตกต่างจากกรรมการหรือคณะทำงานที่ผ่านมา คือมีความเป็นอิสระ และร่างรัฐธรรมนูญได้เขียนให้รัฐสภา และรัฐบาลสนับสนุนการทำงานของกรรมการอิสระฯ ทั้งเรื่องงบประมาณและข้อเสนอของกรรมการ
                      
                   "ในที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีกรรมาธิการบางคนให้ความเห็นว่า หลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ คู่ขัดแย้งก็จะกลับมาตีกันอีก ดังนั้นต้องพยายามออกกฎหมายลูกให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าให้นายกฯ หรือประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่เมื่อไม่ได้เขียน ก็เข้าใจได้ว่านายกฯ จะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งกรรมการ" นายเอนก กล่าว
   
                   นายเอนก กล่าวต่อว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องพยายามเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ และร่วมช่วยในการปฏิรูปและการปรองดองต่อไป ไม่ให้บ้านเมืองไปสู่จุดขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา หรือผลักดันให้ขั้วใดขั้วหนึ่งเป็นรัฐบาล อีกขั้วหนึ่งเป็นฝ่ายค้าน แม้ 2 พรรคจะไม่ชอบกัน แต่ต้องทำงานร่วมกันได้ หากทำได้เชื่อว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งความต้องการลักษณะดังกล่าวต้องไม่ใช่การจูบปาก หอมแก้ม แต่คือการร่วมมือร่วมใจกัน นอกจากนั้นแล้วต้องไม่ใช่ให้ทหารเข้ามาสืบทอดอำนาจ

                   ขณะเดียวกัน นายเอนก ยังระบุด้วยว่า ประชาธิปไตยในโลกนี้ไม่ได้มีแค่แบบอังกฤษกับสหรัฐฯ เพราะในสังคมที่มีความหลากหลาย จำเป็นต้องมีประชาธิปไตยที่มีฐานใหญ่ หรือ consensus democracy เพื่อดึงทุกฝ่ายมาร่วมกันทำงานขับเคลื่อนประเทศ



ภาพจาก  เฟชบุ๊ก เอนก เหล่าธรรมทัศน์

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

    












เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เอนก ชี้ ทางปรองดอง หวังรัฐธรรมนูญใหม่ดึง 2 ขั้วหันหน้าหากัน โพสต์เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 09:06:23 6,609 อ่าน
TOP