x close

หินสีนําโชค แค่กระแสความเชื่อ อ.จุฬาฯ ชี้ชัด ไม่มีพลังจริง ๆ



หินสีนําโชค แค่กระแสความเชื่อ อ.จุฬาฯ ชี้ชัด ไม่มีพลังจริง ๆ



                     หินสีนำโชคที่คนฮิตกันอยู่ตอนนี้ นักวิชาการ ย้ำชัดว่าเป็นแค่ความเชื่อตามกระแสศรัทธาเท่านั้น ไม่ได้มีพลังจริง ๆ งานวิจัย ชี้ เป็นเพียงอุปาทาน

                  ช่วงนี้มีหลายคนหาซื้อ "หินสีนำโชค" มาพกไว้ติดตัว ตามสรรพคุณที่โลกออนไลน์บอกต่อ ๆ กันว่า หินสีมีพลังที่ช่วยให้สมหวัง สมปรารถนา ทั้งเรื่องความรัก การงาน สุขภาพ จนราคาหินสีบางเส้นขายกันเป็นหลักหมื่น หลักแสน และก็มีคนเสาะแสวงหามาครอบครองเสียด้วย โดยที่ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า หินสีมีพลังที่ดลบันดาลได้ขนาดนั้นจริงหรือไม่

                  ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant  แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องหินสีนำโชค ระบุว่า พลังหินสีเป็นเพียงความเชื่อศรัทธาตามกระแสเท่านั้น เพราะไม่มีพลังอะไรออกมาจากหินได้ อย่างมากก็มีแค่รังสีออกมา ซึ่งถ้าหินนั้นเป็นแร่ธาตุกัมมันตรังสีก็ยิ่งอันตรายอีก ดังนั้น หินสีจะช่วยนำโชคในเรื่องต่าง ๆ ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเชื่อ และอุปาทานของแต่ละคนเอง

                  "พลังหินสี เป็นแค่ความเชื่อเท่านั้น"

                  มีสื่อหลายสำนักแล้วที่โทรมาขอความเห็นเรื่อง "หินสี" ที่กำลังเป็นที่นิยมซื้อหากัน ด้วยคำบรรยายประกอบว่าจะมีพลังทำให้ความรักดีขึ้น การงานดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น บางเส้นเห็นว่าราคาเป็นหมื่นเป็นแสนเลย

                  ผมเข้าไปอ่านสรรพคุณของหินสีที่ว่า ตามเพจต่าง ๆ แล้วก็คิดว่า มันก็ออกจะเป็นแค่แนวความเชื่อศรัทธาตามกระแสนะ ถ้าหินพวกนี้จะมีพลังอะไรออกมาได้ อย่างมากก็แค่ว่าจะมีรังสีออกมา ถ้าหินนั้นเป็นแร่ธาตุกัมมันตรังสี (อันตรายอีก) การที่จะได้ผลหรือไม่ได้ผล ก็ขึ้นกับความเชื่อ กับอุปาทานของแต่ละคนเอง ...

                  ตัวอย่างเช่น เคยถ้าทางวิทยาศาสตร์ก็มีคนศึกษาเหมือนกัน เกี่ยวกับเรื่อง หินคริสตัลบำบัดโรค ว่าได้ผลจริงหรือเปล่า livescience.com ในปี 2001 ทีมนักวิจัยด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยลอนดอน ที่อังกฤษ ได้ให้อาสาสมัคร 80 คนมานั่งสมาธิ 5 นาทีโดยครึ่งหนึ่งถือก้อนคริสตัลจริง อีกครึ่งหนึ่งถือก้อนปลอม (แต่หลอกว่าเป็นคริสตัลจริง) พบว่า ถึงจะมีการรายงานผลจากอาสาสมัครหลายคนว่ารู้สึกตัวอุ่นขึ้น รู้จักสุขภาพกายสุขภาพใจดีขึ้น ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับว่าถือหินก้อนคริสตัลจริง แถมคนที่ศรัทธาในหินอยู่แล้ว ก็ยังจะรายงานว่ารู้สึกได้พลังจากหินมากกว่าคนที่ไม่ศรัทธาถึง 2 เท่า แม้ว่าจะถือหินปลอมด้วยซ้ำ ...

                  เรื่องนี้จึงสรุปทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า เป็นอุปาทานยาเทียม หรือ อุปาทานพลาเซโบ้ placebo effect ครับ




ภาพจาก cu.lnwfile.com



















เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หินสีนําโชค แค่กระแสความเชื่อ อ.จุฬาฯ ชี้ชัด ไม่มีพลังจริง ๆ อัปเดตล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 14:28:45 67,253 อ่าน
TOP