x close

เหวง ร่ายยาวค้านเช็กบิล 250 ส.ส. ยัน สนช. ไร้สิทธิถอดถอน


 
           นพ. เหวง โตจิราการ โพสต์ค้าน  ป.ป.ช. กรณี สนช. ถอดถอน 250 ส.ส. ลักไก่สอดไส้แก้รัฐธรรมนูญ อ้างไร้สิทธิเหตุมาจากรัฐประหาร ชี้ รัฐธรรมนูญ 50 สิ้นสุดแล้วไร้กฎหมายเชือด

 
           วันที่ 3 มีนาคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผ็จการแห่งชาติ หรือ นปช.  ได้โพสต์ข้อความในจดหมายเปิดผนึกผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "นพ.เหวง โตจิราการ" ถึงนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการปราบปรามทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เรื่อง ยืนยันการทำงานตามอำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 291 รัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อคัดค้านการดำเนินงานของ ป.ป.ช. ในเรื่องถอดถอนผู้ดำรงตแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่ง

           โดยนายแพทย์เหวง ระบุว่า ในการดำเนินการถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ในกรณีร่วมลงชื่อเสนอ และพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขในประเด็นที่มาของ ส.ว. นั้น ตนในฐานะที่เป็น 1 ใน 250 ส.ส.  ที่ ป.ป.ช.  จะดำเนินการถอดถอน ยืนยันว่าตนทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

           โดยข้อความในเฟซบุ๊กของ นายแพทย์เหวง โตจิราการ "นพ.เหวง โตจิราการ"  มีรายละเอียดดังนี้
 
           จดหมายเปิดผนึก ถึง นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ปปช. หนังสือยืนยันการทำงานตามอำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 291ของรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อคัดค้านการดำเนินงานของปปช. ในเรื่องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 270

           46/68 ประชาอุทิศ16 ทุ่งสีกัน ดอนเมือง กทม. 10210

           2 มีนาคม 2558

           เรื่อง ยืนยันการทำงานตามอำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 291ของรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อ คัดค้านการดำเนินงานของปปช. ในเรื่องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550มาตรา 270

           เรียน ท่านประธาน ปปช. นาย ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ

           อ้างถึง
 
           1. การแถลงข่าวของปปช.เมี่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 และวันที่ 1มีนาคม 2558

           2. คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 53-58/2557 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2557

           สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 53-58/2557 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2557

  ตามที่ท่านได้แถลงข่าวต่อสื่อเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2558 โดยมีเนื้อหาสำคัญบางประการดังต่อไปนี้
           (จากมติชนรายวันประจำวันที่ 2 มีนาคม 2558)

           เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวถึง กรณี ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณี ร้องให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 270 เนื่องจากมีพฤติกรรมส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

           กรณี ร่วมลงชื่อเสนอและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่) พ.ศ. ... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 115 มาตรา 116วรรคสอง มาตรา 117 มาตรา 118 มาตรา 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114 ) เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสมาชิก ได้มีมติไปเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมาไปแล้วว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 250 ราย มีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 291(1) วรรคหนึ่งนั้น ว่า

           ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ในวันอังคารที่ 3 มี.ค. นี้ จะมีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันมติขององค์คณะไต่สวนซึ่งเป็นไปตามหลักการพิจารณาคดีของ ป.ป.ช. ซึ่งเชื่อว่าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. คงพิจารณายืนตามมติขององค์คณะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแล้วก็จะได้ส่งสำนวนดังกล่าว พร้อมพยานหลักฐานเอกสารตามพื้นฐานความผิดในประเด็นการสลับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกลุ่ม ส.ส. ได้ลงคะแนนในวาระต่าง ๆ ตามฐานความผิดที่ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนมา ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการพิจารณาถอดถอนตามกฎหมายต่อไป

           ผมในฐานะที่เป็น 1 ใน 250 ส.ส. ที่ ปปช. กำลังดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ยืนยันการทำงานตามอำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ2550 เพื่อคัดค้านการดำเนินงานของ ปปช. ในเรื่องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 270

           1. ผมและคณะทำหน้าที่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งในมาตรา 291ได้กำหนดให้ ส.ส. มีสิทธิอำนาจหน้าที่ ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดไว้ ซึ่งห้ามการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนญไว้เพียงสองเรื่องใหญ่ คือ ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลี่ยนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะเสนอไม่ได้ จึงไม่ได้ห้ามในเรื่องของการแก้ไขที่มาของสว.

           ส.ว. ที่ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย 67 ล้านคนโดยตรง มาจากการสรรหาของบุคคลเพียง 7 คนเท่านั้น เป็นการทำลายหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
การแก้ไขให้มาจากเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งประเทศ จึงเป็นการแก้ไขเพื่อสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยของไทยให้ถูกต้องชอบธรรม และแข็งแรงขึ้นยิ่งกว่าเดิมหาใช่การ ใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฏหมายไม่

           2. ผมและคณะได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนไทยทั้งประเทศ ตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย ส่วนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารที่โค่นล้มรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา113 ในข้อหาเป็นกบฏต่อประเทศ เพียงแต่คณะรัฐประหารได้ใช้อำนาจที่ตนยึดมาออกประกาศนิรโทษกรรมพวกของตนเท่านั้น หาใช่เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยไม่ ดังนั้น สนช. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร จึงไม่มีความชอบธรรมใด ๆ โดยสิ้นเชิงในการพิจารณาเรื่องการถอดถอนผม และคณะแต่อย่างใด

           3. ในเรื่องเดียวกันนี้ มีผู้ร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ มาตรา 237 ในคราวเดียวกับที่เสนอให้มีการแก้ไขที่มาของ ส.ว. เพื่อให้พิจารณาถอดถอน ส.ส. และ ส.ว.ทั้งสิ้นจำนวน 312 คนนั้น ศาลรัธรรมนูญได้มีคำสั่งที่ 53-58/2557 "จำหน่ายคำร้องทั้งหก ด้วยไม่เป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาวินิจฉัยคดีอีกต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ตามที่อ้างถึงลำดับ 2
นี่เป็นการวินิจฉัยขององค์กรที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นองค์กรสูงสุดในการวินิจฉัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ (ไม่ว่าจะเป็นฉบับถาวรหรือชั่วคราวก็ตาม )

           นั่นย่อมหมายความว่า " เมื่อรัฐธรรมนูญ2550สิ้นสุดลงตามประกาศคำสั่งของคสช.คดีความหรือข้อกล่าวหา อันเนื่องจากรัฐธรรมนูญ2550ก็ไม่เป็นประโยชน์ในการที่จะวินิจฉัยต่อไป และให้จำหน่ายคดีความหรือข้อกล่าวหาดังกล่าว" ซี่งเป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรมสากลที่สากลโลกยอมรับเป็นหลักปฏิบัติสากลที่

           "เมื่อไม่มีกฏหมายย่อมไม่มีความผิด และไม่มีโทษ"

           "กฏหมายลงโทษย้อนหลังไม่ได้"


           การแก้ที่มาสว.นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2556 ดังนั้นการอ้างเอารัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาเอาผิดกับความผิดที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 นั้นเป็นการไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐนิติธรรมโดยสิ้นเชิง และการอ้างเอา พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ปปช.2542 มาใช้ก็ย่อมไม่สามารถใช้บังคับได้ เนื่องด้วยเป็นกฏหมายในระดับที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ

           4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มา ส.ว. จากการเลือกตั้งของประชาชนทั่วประเทศนั้นเป็นสัญญาประชาคมที่ผมและคณะได้ให้ไว้กับประชาชนทั่วประเทศ ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ดังนั้นผมและคณะจึงต้องผูกพันและปฏิบัติตามสัญญาประชาคมที่ได้ให้ไว้กับประชาชน

           ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผมจึงยืนยันการทำงานตามอำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อคัดค้านการดำเนินงานของ ปปช. ในเรื่องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.  2550 มาตรา 270






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เหวง ร่ายยาวค้านเช็กบิล 250 ส.ส. ยัน สนช. ไร้สิทธิถอดถอน อัปเดตล่าสุด 3 มีนาคม 2558 เวลา 16:02:01 5,633 อ่าน
TOP