เจาะ ธุรกิจการบิน ของไทย-ต่างชาติคว่ำบาตรเพราะใคร?




เจาะ

        หมายเหตุ : เว็บไซต์สำนักข่าวทีนิวส์ เผยแพร่บทความไล่เรียงข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับสายการบินและธุรกิจการบินของไทย ภายหลังจากถูก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ชี้ว่า ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีรายละเอียดดังนี้

        ผลการตรวจสอบของ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ที่แสดงผลชัดเจนว่ามาตรฐานด้านการบินของประเทศไทย ไม่ผ่านเกณฑ์ จนนำมาสู่การระงับเที่ยวบินเช่าเหมาลำต้นทุนต่ำ หรือ Charter Flight ที่ขณะนี้พบว่า มีสายการบินถึง 8 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว

          จากรายงานล่าสุด พบว่าประเทศที่มีคำสั่งระงับเที่ยวบินเช่าเหมาลำต้นทุนต่ำจากไทย ประกอบไปด้วย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศจีน

          โดยสารการบินที่ถูกระงับในประเทศญี่ปุ่น มีอยู่ด้วยกัน 3 สายการบิน ได้แก่

          1. สายการบินเอเชีย แอตแลนติก จำนวน 27 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารได้รับผลกระทบรวมกว่า 10,000 คน

          2. สายการบินเจ็ท เอเชีย จำนวน 56 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารได้รับผลกระทบรวมกว่า 16,800 คน

          3. ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำนวนกว่า 100 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารได้รับผลกระทบรวมกว่า 27,000 คน ในช่วงระหว่างเดือน มีนาคม – พฤษภาคม 58

          ขณะที่ เกาหลีได้ ระงับสายการบินของไทย จำนวน 2 แห่ง ได้แก่

          1. สายการบินเอเชีย แอตแลนติก และ2. สายการบิน นกสกู๊ต

          ส่วน จีนระงับสายการบิน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่

          1. สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์

          2. สายการบินโอเรียนไทย

          3. สายการบินสกายวิว

          อย่างไรก็ดี เกาหลีใต้ และจีน ได้ทำการแจ้งระงับไปยังสายการบินโดยตรง แต่ยังไม่แจ้งไปยังกรมการบินพลเรือนของไทย ซึ่งหากรวม 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน มีเที่ยวบินของไทยได้รับผลกระทบ 300-400 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 150,000 คน

          จากผลกระทบทั้งหมดที่ว่ามา ก็เพียงพอที่ รัฐบาลจะยกเอาสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วนระดับชาติ โดยมาตรการล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งการให้ว่าจ้างสถาบันต่างชาติเข้ามาเป็นที่ปรึกษาแก้ไขประสิทธิภาพการกำกับดูแลการออกใบอนุญาตด้านการบินให้ได้ตามมาตรฐานของ ICAO โดยให้เวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

          หากว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้ว ก็ต้องเรียนว่า นี่ถือเป็นการแก้ไขปัญหามาตรฐานการบิน ที่เป็นรูปธรรมมากสุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

          ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในที่ประชุม ครม. โดยขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นเป็นภายใน 1 เดือน จากเดิมที่กระทรวงคมนาคมขอเวลาไว้ 90 วัน ซึ่งขณะนี้ กระทรวงคมนาคมได้เชิญหน่วยงานจากสหภาพยุโรปเข้ามาให้การช่วยเหลือเกี่ยวกับมาตรฐานการบินของไทย ซึ่งอยู่ระหว่างประสานงาน โดยเชื่อจะสามารถทำได้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ทำให้ไม่ต้องผ่านกระบวนการอื่นๆ จึงช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น

          พล.อ.อ.ประจิน ยังกล่าวถึงกรณีที่เกาหลี และจีนปฏิเสธเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากประเทศไทยว่า กระทรวงได้จัดทีมงานไปเจรจาแล้ว โดยคณะเจ้าหน้าที่จะเดินทางไปพูดคุยในสัปดาห์หน้า

          ขณะที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.อ.ประจิน ยังได้ลงนามในฐานะรมว.คมนาคม แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหา ตามหลักเกณฑ์ของ ICAO

          คณะกรรมการชุดที่ 1 เป็นคณะกรรมการอำนวยการ แก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือน ของ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) มีรมว.คมนาคมเป็นประธาน และ รมช.คมนาคม เป็นรองประธาน โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้เชี่ยวชาญด้านการบินเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ดูภาพรวมทั้งหมด และรายงานต่อนายกรัฐมนตรีให้ทราบทุกสัปดาห์ และรายงานผลต่อ ICAO ทุก 15 วัน พร้อมทั้งส่งข้อมูลไปยังสถานทูตทั่วโลกที่มีสายการบินของประเทศไทยทำการบินไป เพื่อให้กระทรวงการต่างประเทศร่วมเป็นเครือข่ายในการชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่ควบคุมด้านการบินของแต่ละประเทศ เพื่อช่วยผ่อนคลายและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

          พร้อมกันนี้ จะส่งทีมงานของกระทรวงคมนาคม กรมการบินพลเรือน และสายการบินต่างๆ เดินทางไปความเข้าใจยังประเทศต่างๆ โดยเบื้องต้นได้เข้าชี้แจงที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา และต่อไปจะเป็นคิวของเกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และเยอรมนี     

          คณะกรรมการชุดที่ 2 เป็นคณะกรรมการดำเนินงาน แก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือน ของ ICAO มีนายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ทำหน้าที่วางแผนการดำเนินงาน ประสานงานในทุกด้านที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO ทั้งการปรับโครงสร้างใหม่ โดยแยกด้านนโยบาย มาอยู่ที่กระทรวงคมนาคม แยกหน่วยงานกำกับดูแลออกมา และตั้งเป็นสถาบันการพลเรือนแห่งชาติ

          ส่วน กรมการบินพลเรือน จะตั้งกรมขนส่งทางอากาศ เพื่อแยกหน้าที่กันอย่างชัดเจน และดำเนินการแก้ไขกฎหมาย การบรรจุอัตรากำลังคน และงบประมาณ การฝึกอบรม และระบบดาต้าเบส ให้ทันสมัย ควบคู่ไปด้วย

          อย่างไรก็ดี ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ คณะกรรมการจะเริ่มทำงาน โดยบูรณาการตามที่นายกฯ มอบหมายแผนงานแก้ปัญหา และรายงานต่อนายกฯ เพื่อให้สั่งการแก้ปัญหา ตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องเข้ากระบวนการในระบบปกติ ซึ่งจะต้องใช้เวลาเป็นปี ให้เหลือประมาณ 45 วัน – 60 วัน พร้อมเร่งยกระดับเป็นกรรมการระดับชาติซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งต่อไป

          ส่วนการปรับปรุงแผนใหม่นั้น จะรายงานความคืบหน้าต่อ ICAO ภายในวันที่ 5-7 เม.ย.นี้ว่า ไทยได้ดำเนินการอะไรบ้าง ปรับจากแผนเดิมอย่างไร ซึ่งแผนใหม่จะชัดเจนขึ้นว่าจะแก้ไขเป็นรูปธรรมภายใน 2 เดือน และที่เหลือทุกกรณีจะต้องจบภายใน 8 เดือน

          จากภาพที่ปรากฏในขณะนี้ คือการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน เพื่อคลี่คลายวิกฤตซึ่งสะสมมานานนับ 10 ปี ใน 6 รัฐบาล ตั้งแต่ปี 2548 ให้สำเร็จภายในรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่ไม่ง่ายเลย

          สำหรับ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) หรือ ICAO เป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ ซึ่งมีสมาชิก 190 ประเทศ และมีทำหน้าที่กำหนดและตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆทางด้านการบินพลเรือน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา

          ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบมาตรฐานการควบคุมสายการบินในภูมิภาค ASEAN ซึ่งมีสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งอยู่ที่ ถนนกำแพงเพชร 3 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ได้ประกาศผลการตรวจสอบไปเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่ามีประเทศที่ได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง หรือ 50 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ประกอบด้วย

          ประเทศอินโดนีเซีย 45 คะแนน

          ประเทศกัมพูชา 40 คะแนน

          ที่ต่ำที่สุด คือ ประเทศไทย 35 คะแนน


          ส่วนบรูไน พม่า ลาว ที่ต่างก็มีเครื่องบินพลเรือนไม่กี่ลำ ได้คะแนนถึง 65 คะแนนหรือเกือบสองเท่าของประเทศไทย ส่วนมาเลเซีย ที่พบว่ามีเหตุการณ์เครื่องบินตกจำนวน 3 ลำในปีเดียว มีคะแนนอยู่ที่ 81 คะแนน ส่วนสิงคโปร์นั้นทำคะแนนได้เกือบเต็ม คือ 98.9
        
         ทั้งนี้ ตามรายงานยังระบุด้วยว่า การตรวจสอบตามมาตรฐานของ ICAO นั้น ล้วนเป็นข้อสอบที่รู้โจทย์ล่วงหน้าทั้งหมด แต่ทว่าประเทศไทย ก็สอบผ่านแค่ 21 กระบวนการ จากทั้งหมด 100 กระบวนการ

           อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญในวงการการบินกล่าวว่า สาเหตุหลักๆ ที่ ICAO เข้ามาตรวจรายละเอียด เกี่ยวกับกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศในประเทศไทย และพบข้อบกพร่องนั้น เนื่องจาก ICAO พบข้อผิดปกติของกรมการบินพลเรือนของไทย ได้มีการอนุญาตสายการบินที่จดทะเบียนในประเทศไทยจำนวนมาก ในระยะเวลาเพียงสั้นๆ ซึ่งจากการรวบรวมพบว่า มีการให้ใบอนุญาตรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศในไทยกว่า 42 สายการบิน และอนุญาตให้ทำการบินระหว่างประเทศถึง 22 สายการบิน ในช่วงระยะเวลาเพียง 9 เดือนเท่านั้น


ขอขอบคุณเนื้อหาจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจาะ ธุรกิจการบิน ของไทย-ต่างชาติคว่ำบาตรเพราะใคร? อัปเดตล่าสุด 1 เมษายน 2558 เวลา 10:48:17 18,578 อ่าน
TOP
x close