x close

รัฐบาลงัด มาตรา 44 เด้งข้าราชการเอี่ยวทุจริตเข้ากรุ


นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

             มติ คตช. งัด มาตรา 44 เปิดตำแหน่งรับข้าราชการส่อทุจริต ยันแค่มาตรการชั่วคราว ไม่ผิดกลับเก้าอี้เดิม ระบุจำเป็นเพราะกระบวนการปกติอืด ด้านวิษณุ เครืองาม ชี้ 100 ชื่อ นับได้ตั้งแต่ข้าราชการชั้นผู้น้อยยันผู้ใหญ่ ย้ำจับตาดูโยกย้ายนอกฤดูกาลจะมีมากกว่าปกติ

             เมื่อวานนี้ (21 เมษายน 2558) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีข้าราชการ 100 รายชื่อที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) ระบุว่าเข้าข่ายการทุจริต ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจ้งถึงเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุม คตช. รับทราบ ซึ่งถือว่า 100 รายชื่อนี้เป็นรุ่นที่หนึ่ง ส่วนรุ่นต่อไปก็มีการตรวจสอบไปเรื่อย ๆ รายชื่อเหล่านี้มาจากองค์กรตรวจสอบต่าง ๆ อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 

             โดยการองค์กรตรวจสอบเหล่านี้ได้ตรวจสอบก่อนหน้าที่ คสช. จะเข้ามา  แต่บางครั้งไม่มีความคืบหน้า แต่รัฐบาลนี้ก็เข้ามาดำเนินการ โดยไม่ได้เป็นการแก้แค้น ใครไม่ผิดก็ปล่อยออกไป ใครผิดก็ต้องดำเนินการ สำหรับคดีที่รัฐบาลติดตามอยู่มี 30 คดี ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับข้อหาของประชาชน สำหรับชื่อข้าราชการบางพวกถ้าปล่อยให้อยู่ต่ออาจจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานจนอาจทำให้เสียรูปคดีหรือเป็นปัญหาในทางปกครอง รัฐบาลจึงคิดว่าน่าจะเอามาโยกย้ายสลับสับเปลี่ยน แขวนให้พ้นจากตำแหน่งเดิม เพื่อแสดงให้เห็นว่าเอาจริงกับการแก้ปัญหา

             ด้านรายชื่อร้อยคนนั้นมีตั้งแต่ข้าราชการระดับซี 3-11เรียกว่ามีตั้งแต่ชั้นผู้น้อยจนถึงผู้ใหญ่ นายกฯ ให้ไปตรวจสอบว่าใครอาจไม่ต้องโยกย้ายเพราะอยู่ไปก็ไม่ยุ่งเหยิงจนทำให้เสียรูปคดี แต่ในร้อยคนมีไม่มากนักที่อาจทำให้ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน  อย่างไรก็ตามการโยกย้ายอาจจะทำแบบปกติที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และบางกรณีที่เป็นข้าราชการระดับสูงอาจจะเปิดตำแหน่งรองรับ เพราะตำแหน่งในระบบหายากและเต็มหมดแล้วหัวหน้า คสช. จึงอาจจะใช้อำนาจตามาตรา 44 สร้างตำแหน่งใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับ โดยให้หลักประกันว่าเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว หากไม่ผิดก็กลับไปทำงานได้เหมือนเดิม

             ทั้งนี้การใช้มาตรา 44 ในการโยกย้ายข้าราชการ เนื่องจากหากใช้กระบวนการตามปกติ จะเกิดความล่าช้า เพราะกว่าคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะอนุมัติ อาจใช้เวลาหลายเดือน ส่วนตำแหน่งที่จะให้บุคคลที่โดนโยกย้ายออกเข้ามาทำหน้าที่ รัฐบาลกำลังตัดสินใจแต่ไม่ให้อยู่กระทรวงเดิมแน่นอน ทุกคนจะมาประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี อาจเป็นที่ปรึกษานายกฯ อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากใช้คำว่าสุสานคนโกง เพราะหลายคนสุดท้ายเขาก็ไม่ได้ผิดอะไร

             นอกจากนี้จะเห็นการแต่งตั้งโยกย้ายนอกฤดูกาลเกือบครึ่ง ที่โดยปกติจะโยกย้ายช่วงเดือนตุลาคม ส่วนการโยกย้ายช่วงเมษายนจะมีแค่ตำรวจ ทหาร แต่ก็จะเห็นมากขึ้นเพื่อจัดการกับคนบางประเภท แต่ต้องย้ำว่ายังไม่ถึงกับเป็นการทุจริต




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รัฐบาลงัด มาตรา 44 เด้งข้าราชการเอี่ยวทุจริตเข้ากรุ โพสต์เมื่อ 22 เมษายน 2558 เวลา 15:25:39 2,581 อ่าน
TOP