x close

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เผย 10 แนวโน้มรัฐบาลดิจิทัล



สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เผย 10 แนวโน้มรัฐบาลดิจิทัล

               สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เผย 10 แนวโน้มรัฐบาลดิจิทัล หลังรัฐบาลรุกหนักดิจิทัลอีโคโนมี ชี้อินเทอร์เน็ตเมืองจะถูกจัดระบบใหม่ รัฐแห่ใช้คลาวด์คอมพิวติ้ง การจัดซื้อไอทีภาครัฐจะเปลี่ยนแปลง พร้อมเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อให้โปร่งใสและนำไปใช้งานสร้างแอพพลิเคชั่นต่อเนื่อง

               เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การจัดงาน e-Gov Day 2015 ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ในวันที่ 24-26 เมษายนนี้ ก็เพื่อต้องการให้ประชาชนรู้ว่ารัฐบาลต้องการผลักดันนโยบายDigital Economy เพื่อยกระดับทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความสะดวกสบายมากขึ้นในแบบที่ยั่งยืน ภาครัฐเองถือเป็นองคาพยพใหญ่ที่จะคืนความสะดวกให้ประชาชนในการบริการรูปแบบต่าง ๆ คำสำคัญที่เป็นตัวตั้งในการบริการยุคนี้คือ ต้องการแบบเบ็ดเสร็จ

                นอกจากการปรับเปลี่ยนภายในส่วนของภาครัฐเองแล้ว รัฐต้องเรียนรู้พฤติกรรมของประชาชนว่าเปลี่ยนแปลงเช่นไร เช่น คนส่วนใหญ่จะไม่ว่างวันธรรมดา ถ้าจะมาติดต่อกับหน่วยงานรัฐ มีให้มาวันเสาร์อาทิตย์จะดีกว่า ไม่กระทบกับการทำงานโดยปกติ และถ้าให้ไปที่หน่วยงานบางทีก็ไม่รู้จัก เดินทางลำบาก ถ้ามีจุดรวมศูนย์ที่เดียว มาครั้งเดียวทำได้ทุกอย่างยิ่งดี และถ้าเปลี่ยนการติดต่อจากต้องเดินทางไปหน่วยงานนั้น ๆ มาเป็นหน่วยงานนั้นๆ มาตั้งอยู่ในศูนย์การค้าที่สะดวกสบายอยู่แล้ว การเข้าถึงยิ่งง่ายเข้า ดังนั้นจึงเกิดโครงการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมภาครัฐ (G-Point) โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งศูนย์ G-Point ที่แรกได้เปิดให้บริการแล้วที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยจะเปิดให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อเรื่องประกันสังคม ติดต่อกรมการจัดหางานและขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ติดต่องานทะเบียนราษฎร์ อาทิ ทำบัตรประชาชนและทำบัตรใบขับขี่และงานเปลี่ยนใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ซึ่งต่อไปในอนาคตจะมีการเพิ่มงานบริการอื่น ๆ ที่ส่วนราชการ หรือ ก.พ.ร. พิจารณาแล้วเห็นว่าควรนำมาให้บริการในศูนย์บริการร่วม

                นอกจากนั้น สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ยังมีการนำร่องการให้บริการแบบSelf-Service ได้แก่ การตรวจสอบสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากภาครัฐ เช่น ข้อมูลประกันสังคม เบี้ยผู้สูงอายุ หรือตรวจสอบข้อมูลบุคคลในทะเบียนบ้าน ผ่านตู้คีออส (Kiosk) เพื่อให้บริการประชาชนที่ตั้งอยู่ในศูนย์ G-Point ด้วย


                ดังนั้นต่อจากนี้ไปรัฐบาลจะทำทุกทางที่ทำให้การบริการประชาชนเข้าสู่การบูรณาการมากขึ้น ต้องง่าย สะดวก โปร่งใส และการบริการจะต้องไม่สร้างความยุ่งยาก หรือทำให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น และทำให้บริการเหล่านี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาเชื่อมโยงไปกับชีวิตประจำวัน บัตรประชาชนใบเดียวสามารถดำเนินการได้หมด รัฐบาลดิจิทัลต้อง Smart มากขึ้น ทันสมัยมากขึ้น

                ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยในงานสัมมนา e-Gov Day 2015ว่า จากการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล และเน้นให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล หรือ Digital Government อย่างเป็นระบบจะส่งให้เกิดแนวโน้ม 10 ด้านที่สำคัญขึ้นในประเทศไทย โดยคาดว่าแนวโน้มนี้จะเกิดขึ้นภายใน 2 ปีนี้ ซึ่งจะกระทบวงกว้างทั้งในฝั่งประชาชน ฝั่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และฝั่งหน่วยงานรัฐ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวทั้งระบบ ซึ่ง 10แนวโน้มที่สำคัญคือ

               1. เครือข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย จะถูกจัดสรรใหม่ เช่นเดียวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ในธุรกิจโทรคมนาคม ภาครัฐจะสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกแห่ง และมีการเชื่อมต่อข้อมูลปลายทางจากหน่วยงานกว่าครึ่ง ข้อมูลพื้นฐานจากบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน และอื่นๆ จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ดึงไปใช้ได้ในทันที

               2. ภาครัฐจะใช้คลาวด์คอมพิวติ้งเป็นพื้นฐานกว่า 50% ทั้งจากการผลักดันของกฎระเบียบต่างๆ การใช้งานที่พิสูจน์แล้วทั้งภาครัฐและเอกชนที่แสดงให้เห็นแล้วว่ามีประสิทธิภาพ ประหยัดกว่า ระบบใหญ่ๆ ของภาครัฐที่แม้จะCritical แค่ไหนก็จะมีการใช้งานผ่านคลาวด์คอมพิวติ้ง และระบบ G-Cloud ของ EGA ก็จะเข้ามารองรับแนวโน้มนี้อย่างสมบูรณ์

               3. การใช้จ่ายหรืองบประมาณภาครัฐทางด้านไอทีจะเปลี่ยนเป็นการพัฒนาเฉพาะแอปพลิเคชันถึง 50% การจัดซื้อฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์เครือข่ายจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะนโยบายการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ และ G-Cloud จะทำให้ระบบการจัดซื้อระบบไอทีของภาครัฐเปลี่ยนไป

               4. ภาครัฐจะแบ่งปันข้อมูลแบบมาตรฐานเข้าสู่โครงการ Open Data ประมาณ 200 ชุดข้อมูล ซึ่งถือว่าจะยังไม่มากนัก แต่หลังจากนั้นจะเกิดชุดข้อมูลแบบก้าวกระโดด

               5. แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือของภาครัฐจะมีให้บริการประชาชนมากกว่า 500 โปรแกรม และจะกลายเป็นแอพพลิเคชั่นหลักในตลาด โดยแอพพลิเคชั่นเหล่านี้จะมาจากภาครัฐโดยตรงและจากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์เอกชน

               6. การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่อย่าง Big Data จะเริ่มดำเนินการ อาจจะมีองค์กรใหม่ของภาครัฐเข้ามาจัดการ และจะมี Data Scientist ภาครัฐขึ้น เพื่อทำให้ฝ่ายบริหารของรัฐบาลได้ข้อมูลที่สำคัญไปช่วยในการบริหารงานต่อไป

               7. Internet of Thing (IOT) ในภาครัฐจะเริ่มเกิดขึ้น จากการเข้ามาของ IOT หรือสิ่งของทุกสิ่งสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เอง แม้จะเป็นปีแรกๆ ที่แนวคิดและคอนเซ็ปต์จะถูกจับมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์จริงบ้างแล้ว แต่นี่คือแนวโน้มใหญ่ของโลก ซึ่งจะเห็นการพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้เข้ามาสู่ระบบรัฐบาลดิจิทัลในเร็วๆ นี้

               8. จุดให้บริการของภาครัฐต่อประชาชนจะเริ่มเปลี่ยนจากการใช้คนมาเป็นใช้เครื่อง ไม่ว่าจะเป็นตู้คีคอส เวนดิ้งแมชชีน หรือเครื่องอัตโนมัติต่าง ๆ ภาคประชาชนจะดำเนินการธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านเครื่องด้วยตัวเอง ซึ่งจะลดขั้นตอนและลดปัญหาต่าง ๆ ลงไปได้มาก

               9. ประชาชนจะเริ่มเก็บข้อมูลธุรกรรมกับภาครัฐต่างๆ ไว้กับตัว และสามารถบริหารข้อมูลเหล่านั้นเพื่อเป็นประโยชน์ได้ โดยการจัดเก็บและการบริหารอาจอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่นเก็บในฮาร์ดดิสก์ส่วนตัว หรือเก็บไว้บนคลาวด์ แต่ทั้งหมดต้องสามารถดึงมาใช้ได้ทันทีที่ต้องการ

               10. ระบบแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ของภาครัฐจะเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Payment Gateway และระบบอื่น ๆ ที่เป็นของภาคเอกชน ดังนั้นแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ของภาครัฐจะมีการให้บริการในหลากมิติ      

               ทั้งหมดนี้จะเป็น The New Paradigm of Government Services ที่จะเข้ามาถึงประเทศไทยในเร็ววันนี้แล้ว จะเป็นการยกระดับและทำให้บริการของภาครัฐต่อประชาชนเปลี่ยนไปอย่างพลิกโฉม ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนทั้งระบบไม่ใช่การเปลี่ยนเฉพาะหน่วยงานรัฐที่มีความพร้อมเท่านั้น EGA เชื่อว่าภาคประชาชนจะได้ประโยชน์จาก Digital Economy อย่างเต็มที่ โดยมี Digital Government คอยให้บริการอยู่เคียงข้าง

                สำหรับการดำเนินงานของ EGA ในรอบสี่ปีของการก่อตั้ง ถือว่าเป็นไปอย่างก้าวกระโดดและมีทิศทาง เราได้เห็นระบบโครงการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (Common Government Network Infrastructure) การพัฒนาระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud : G-Cloud) ปัจจุบันมีหน่วยงานขอใช้บริการทั้งสิ้น 211 หน่วยงาน คิดเป็น 507 ระบบ การพัฒนาเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ที่พัฒนาให้มีการนำระบบบริการภาครัฐที่ส่วนราชการสามารถใช้งานร่วมกันได้บนเครือข่าย GIN ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐใช้บริการ GIN แล้วมากกว่า 3,000  วงจรทั่วประเทศ เราได้เห็น EGA ได้เป็นแนวรุกในการผลักดันให้เกิดแอปพลิเคชันภาครัฐ ให้เป็นบริการกับประชาชนอย่างแท้จริงมากขึ้น โดยการตั้ง GAC หรือGovernment Application Center เพื่อรวบรวมแอปพลิเคชันมากมายของภาครัฐเพื่อให้ประชาชนค้นหาได้ง่าย ซึ่งขณะนี้ได้รวบรวมแอปพลิเคชันภาครัฐแล้วเกือบ 100 แอพพลิเคชั่น จากทั้ง 19 กระทรวง รวมทั้งจากสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานอิสระต่าง ๆ

                ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของ EGA ที่จะขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีคุณภาพ มีความโปร่งใส เน้นการมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับการบริการสู่ประชาชน และสอดคล้องกับนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ Digital Economy ของรัฐบาล







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เผย 10 แนวโน้มรัฐบาลดิจิทัล อัปเดตล่าสุด 27 เมษายน 2558 เวลา 10:02:20 4,137 อ่าน
TOP