x close

สมศักดิ์ เจียม แนะเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ บอยคอตเลือกตั้ง



สมศักดิ์ เจียม แนะเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ บอยคอตเลือกตั้ง
 
                  สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์เฟซบุ๊ก วิเคราะห์การเมืองไทยหลังรัฐธรรมนูญ คสช. ประกาศใช้ ชี้ 2 พรรคใหญ่ต้องร่วมมือกันบอยคอตการเลือกตั้ง เพื่อแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
 
                  วันที่ 27 เมษายน 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "Somsak Jeamteerasakul"  ระบุว่าหากอยากผลักดันการเมืองในระบบประชาธิปไตย ต้องกดดันให้พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยคว่ำบาตรการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยตนจะไม่พูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติเพราะไม่คิดว่าจะมี แต่หากมีการทำประชามติเกิดขึ้นก็สามารถบอยคอตได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามถ้า 2 พรรคการเมืองข้างต้นบอยคอตการเลือกตั้ง แล้ว คสช. เดินหน้าต่อไปจะมีคนไปเลือกตั้งน้อยและสภาที่ได้ก็จะไม่มีความชอบธรรม หาก คสช. เห็นว่า 2 พรรคไม่ลงเลือกตั้งจึงไม่จัดให้มีการเลือกตั้ง แล้วปกครองอย่างนี้ต่อไปรัฐบาล คสช. ก็สิ้นความชอบธรรมในเวทีโลก ส่วนที่จะทำอย่างไรให้ 2 พรรคดังกล่าวบอยคอตการเลือกตั้งนั้นคงต้องกดดันว่าถึงแม้เข้าเป็นรัฐบาลผสมก็จะเป็นลูกไล่หรือหนังหน้าไฟสำหรับคนด่า และที่สำคัญภายใต้รัฐธรรมนูญคสช. เมื่อเข้าไปในสภาก็ไม่มีทางแก้ได้ คือไม่มีทางที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมาใช้ระบบสภาที่พรรคการเมืองจะเติบโตได้อีก
 
                   โดยข้อความในเฟซบุ๊กของนายสมศักดิ์ “Somsak Jeamteerasakul” มีรายละเอียดดังนี้
 
                  ผมเสนอว่าประเด็นหรือเป้าหมายทางยุทธวิธีเฉพาะหน้าของผู้ที่ต้องการผลักดันการเมืองในทิศทางประชาธิปไตยคือ พยายามเรียกร้อง กดดัน ผลักดัน ให้ พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ บอยคอต ไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ คสช. ที่จะออกมา

                  (ผม "ข้าม" ประเด็นเรื่องการผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญ และประเด็นเรื่องลงประชามติไป เรื่องแรก ผมไม่คิดว่าจะมีทางเกิดขึ้นได้ เพราะ คสช. บวรศักดิ์ คงไม่มีทางเขียน รธน. ที่ต่างออกไปจากนี้โดยพื้นฐาน คือ รธน. ที่จะประกันไม่ให้มีพรรคการเมืองเลือกตั้ง ได้คุมสภา ยังไงก็จะมีทั้งวุฒิสภาลากตั้งและองค์กรอื่น ๆ สารพัดอยู่ใน รธน. ใหม่ บวกนายกฯ คนนอกได้ มาคอยควบคุม ส่วนประเด็นเรื่องประชามติ ผมก็ "ข้าม" ไป เพราะไม่คิดว่าจะมี แต่ถ้าสมมุติว่าเกิดมีการให้ลงประชามติจริง ๆ ความเห็นเรื่องบอยคอตเลือกตั้ง ก็สามารถใช้กับกรณีลงประชามติได้ คือผมคิดว่าถ้ามีประชามติ เพื่อไทย-ปชป. ก็ควรต้องตกลงที่จะลงมติคว่ำ รธน. หรือกระทั่งบอยคอตไม่เข้าร่วมด้วย ด้วยเหตุผลเดียวกับที่จะเสนอเรื่องบอยคอตเลือกตั้งนี้)

                  สำหรับคนที่ตามการเมืองไทย โดยเฉพาะเสื้อแดง คงคิดว่า ในกรณี ปชป. นั้น เป็นการยากที่พวกเขาจะบอยคอตเลือกตั้ง คสช. (เมื่อเช้าผมเห็นคุณ "จอม ไฟเย็น" Nithiwat Wannasiri เพิ่งอ้าง "มิตรสหายท่านหนึ่ง "โพสต์ประชดทำนองว่า ครั้งนี้ ปชป. คงทำตรงข้ามกับครั้งก่อน คือไม่บอยคอต มิหนำซ้ำ คงขนคนไปลงคะแนน) เรื่องนี้ก็เป็นที่เข้าใจได้ที่จะคิดแบบนั้น และผมก็ว่า มีความยากลำบากจริงในการชักชวน เรียกร้อง กดดัน ให้ ปชป. บอยคอตเลือกตั้ง คสช.

                  แต่ที่อยากจะบอกเป็นปริบทคือ ณ เวลานี้ เท่าที่ผมทราบ เพื่อไทยเอง ก็มีความตั้งใจจะลงเลือกตั้งภายใต้ รธน. คสช.  เช่นกัน

                  ดังนั้น ความยากลำบากที่จะให้เกิดการบอยคอตเลือกตั้งภายใต้ รธน. คสช. จึงพอ ๆ กันในแง่ของทั้ง ๒ พรรคใหญ่

                  เพื่อไทย-ปชป. บอยคอตแล้วจะเกิดอะไร?

                  ถ้า เพื่อไทย-ปชป. บอยคอตเลือกตั้ง คสช. คือไม่ส่งผู้สมัครเลย และเรียกร้องให้ประชาชนที่สนับสนุนพรรคทั้งหมด ไม่ไปลงคะแนนด้วย

                  -ในกรณีที่ คสช. เดินหน้าให้เลือกตั้ง ก็จะหมายความว่า การเลือกตั้งภายใต้ รธน. คสช. จะเป็นการเลือกตั้งที่มีคนเข้าร่วมน้อย น่าจะไม่ถึงครึ่งของผู้มีสิทธิ์ (อาจจะน้อยกว่านั้นเยอะ) และหมายความว่า "สภา" และรัฐบาลที่ได้มา ก็จะเป็นสภาที่ขาดความชอบธรรมชัดเจน ต่อให้พรรคอย่างบรรหาร หรือเนวิน ยอมเข้าร่วมด้วย หรือกระทั่งว่า คสช. ยอมให้คนของพรรคแบบนี้ขึ้นเป็นตัวชูโรงออกหน้ามาเป็น นายกฯ ก็จะกลายเป็น "ตัวตลก" ที่ไม่มีความชอบธรรมอะไร ยิ่งถ้าขุนศึก คสช. คนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นนายกฯ ในสภาที่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ถูกบอยคอตโดย เพื่อไทย-ปชป ก็จะยิ่งเห็นความไม่ชอบธรรมสูงขึ้นอีก

                  -สมมุติ คสช. เห็นว่า เพื่อไทย-ปชป. บอยคอต จึงไม่ให้มีการเลือกตั้ง และปกครองแบบนี้ต่อไป? รัฐบาล คสช. เป็นรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมสิ้นเชิงในเวทีโลก (และมีปัญหาในแง่ตลาดโลก การส่งออก การลงทุน ฯลฯ) และไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงานด้วย ถ้าเกิดการบอยคอต แล้วพวกเขาตัดสินใจเป็นรัฐบาลต่อ คือไม่ให้มีเลือกตั้งเลย ก็ให้พวกเขาทำไป มีแต่ทำให้ระบอบปกครองของพวกเขาลำบากยิ่งขึ้น

                  แน่นอนปัญหาอยู่ที่ว่า จะทำให้ทั้งเพื่อไทย และ ปชป. ประกาศบอยคอตการเลือกตั้งภายใต้ รธน. นี้ได้อย่างไร?

                  ในส่วน ปชป. นั้น ดังที่กล่าวข้างต้นว่า มีความเป็นไปได้ที่ ปชป. จะยอมทำตัวเป็นลูกไล่ให้ คสช. ด้วยการเลือกตั้งเข้าสภา แล้วไปเป็นหนึ่งในพรรครัฐบาลผสมให้ (ทำนองเดียวกับสมัยเปรม) แต่หากดูจากท่าทีอภิสิทธิ์และหลายคนใน ปชป. (รวมไปถึงพวกนักวิชาการที่เชียร์ ปชป. อย่างสมบัติ) การบอยคอตไม่ใช่อะไรที่เป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง ‪#‎ยิ่งถ้าภายใต้สถานการณ์ที่เพื่อไทยเองตกลงว่าจะบอยคอตด้วย


                  สิ่งที่ต้องพยายามเรียกร้อง กดดัน ผลักดัน ปชป. (และเพื่อไทยด้วย) คือ ต้องให้พวกเขาตระหนักว่า เลือกตั้งเข้าไปภายใน รธน. แบบนี้ ก็มีแต่จะไปเป็นลูกไล่หรือหนังหน้าไฟ (สำหรับรับการด่า) ให้กับ คสช เท่านั้น และที่สำคัญ ภายใต้ รธน. ที่ คสช.-บวรศักดิ์ เขียน เข้าไปในสภาก็ไม่มีทางแก้ รธน. ได้ คือไม่มีทางที่จะทำให้ รธน. นี้กลับมาใช้ระบบสภาที่พรรคการเมืองจะเติบโตได้

                  เรื่องนี้ท่าทีของฝั่งเพื่อไทยเอง จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะนี้ตามที่ผมรู้ เพื่อไทยคงเข้าเลือกตั้ง (ดูจากท่าทีจตุพรที่ออกมาด่าคนในพรรค นอกจากนี้ ผมได้สอบถามคนที่ทำงานในพรรค ก็ได้รับเสียงยืนยันว่าคงลงเลือกตั้ง) ความจริงเรื่องนี้ควรถือเป็นอะไรที่แปลกด้วยซ้ำ เพราะการ รปห. ครั้งนี้และ รธน. ที่ คสช. ทำขึ้น เป้าหมายสำคัญก็เพื่อบล็อกพรรคเพื่อไทย ผมเข้าใจว่า สาเหตุที่เพื่อไทยยังคิดจะลงเลือกตั้ง นอกจากเหตุผลที่เดากันได้ในแง่ของความไม่เอาไหนของนักการเมืองไทยแทบทุกคนไม่ว่าพรรคไหน (คือยังไง ได้เลือกตั้งไปเข้าสภาก็ดีกว่าอยู่เปล่า ๆ ยังมีผลประโยชน์หรืออะไรบ้าง) ก็คงเพราะคิดในแง่ว่า กลัวว่า ถ้าไม่ร่วมเลือกตั้งแล้ว ปชป. เข้าไป ก็จะทำให้ยิ่งเสียเปรียบ (ในส่วน ปชป. ถ้าจะไม่บอยคอต ก็มีเหตุผลเดียวกันนี้อยู่ด้วยข้อหนึ่งดังกล่าวข้างต้น คือ ถ้าเพื่อไทย ไม่บอยคอต ปชป. ก็คงกลัวเสียเปรียบเช่นกัน)

                  ปมเงื่อนของผู้ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยจึงอยู่ที่ต้องพยายามเรียกร้องกดดัน ให้ทั้ง ๒ พรรคประกาศบอยคอตการเลือกตั้งภายใต้ รธน. คสช. (คงต้องให้มีการทำเป็นสัตยาบรรณเลย)

                  โดยชี้ให้ทั้งคู่ตระหนักความจริงที่ว่า เข้าไปภายใต้ รธน. แบบนี้ ก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จะยังต้องอยู่ใต้การควบคุมของ คสช. และอำนาจนอกการเลือกตั้งทั้งหลายอย่างไม่มีโอกาสเติบโต

                  ทหารอาศัยอำนาจปืนบังคับให้ใครต่อใคร และพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคไหน ไม่ให้เคลื่อนไหวโน่นนี่ได้ แต่เขาบังคับ ให้ลงเลือกตั้ง หรือไม่บอยคอตไม่ได้ นี่เป็นอาวุธสำคัญที่ทหารไม่สามารถบังคับได้ และถ้ามีการ บอยคอตของทั้ง ๒ พรรค ความชอบธรรมของ คสช. และการเลือกตั้งที่พวกเขาปรุงขึ้น ก็จะแทบไม่มีเหลืออยู่เลย ปัญหาอยู่ที่ว่า พรรคการเมืองทั้งคู่จะพอมีกระดูกเหมือนกับมีปาก ซึ่งทั้่งคู่ไปพูดในที่ประชุม "ปรองดอง" วันก่อน อย่างเป็นเอกฉันท์กันหรือไม่ (ว่า รธน. นี้ รับไม่ได้) หรือจะในที่สุดแล้ว ก็ยอมให้กับทหารอย่างเชื่อง ๆ เข้าไปเป็นไม้ประดับให้ทหาร ภายใต้กติกาที่ทหารร่างขึ้นอย่างไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง?

                  สำหรับผู้อ่านที่เป็นเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย คงเกิดคำถามในใจว่า หาก ปชป. ไม่ยอม "เล่นด้วย" ละ? คือไม่ยอมบอยคอต - เพื่อไทยควรเข้าเลือกตั้งหรือไม่? อย่างที่ผมชี้ให้เห็นข้างต้น ตอนนี้ แม้แต่เพื่อไทยเอง ก็ไม่ใช่ว่าจะบอยคอต คือ ณ จุดนี้ เพื่อไทยเองก็ไม่คิดจะบอยคอตเช่นกัน ดังนั้น เรื่องนี้เฉพาะหน้า อยู่ที่ควรพยายามเคลื่อนไหวกดดัน เรียกร้องให้ทั้งคู่บอยคอต แล้วดูว่าเกิดอะไรขึ้น


ภาพจาก เฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul




 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สมศักดิ์ เจียม แนะเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ บอยคอตเลือกตั้ง อัปเดตล่าสุด 28 เมษายน 2558 เวลา 09:20:57 10,770 อ่าน
TOP