x close

ย้ำชัด ห้ามเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษา แบ่งชนชั้นเด็ก-เก็บแป๊ะเจี๊ยะ ผิดกฎหมาย

ย้ำชัด ห้ามเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษา แบ่งชนชั้นเด็ก-เก็บแป๊ะเจี๊ยะ ผิดกฎหมาย

          คณะทำงานตรวจสอบการทุจริต ภตช. พบว่า 366 โรงเรียนทั่วประเทศ เปิดรับแป๊ะเจี๊ยะร่วม 1.2 หมื่นล้านบาท เร่งตรวจสอบส่งเรื่องกระทรวงศึกษาธิการและนายกรัฐมนตรี ลุยสอบทุจริตการเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษา

          สืบเนื่องจากกรณีภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) เดินเกมรุกเปิดโปงความไม่โปร่งในในสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) องค์การค้าของ สกสค. และคุรุสภา จนนำไปสู่การยึดทรัพย์ สกสค. กระทั่ง ภตช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการทุจริตกรณีเรียกรับผลประโยชน์ในการรับนักเรียนโดยไม่เป็นธรรม หรือแป๊ะเจี๊ยะนั้น

          ล่าสุดวานนี้ (8 พฤษภาคม 2558) น.อ. บัญชา รัตนาภรณ์ หัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบการทุจริต กรณีการเรียกเก็บแป๊ะเจี๊ยะ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบการทุจริตกรณีเรียกรับผลประโยชน์ในการรับนักเรียนโดยไม่เป็นธรรม ปี 2558 พบว่าในช่วงหลังสงกรานต์ที่ผ่านมา โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงทั่วประเทศจำนวน 366 แห่ง ได้ปรากฏว่ามีนักเรียนและผู้ปกครองเป็นจำนวนมากพากันมาเข้าแถวต่อคิวรอพบผู้บริหารโรงเรียน เนื่องจากลูกหลานสอบไม่ติดชั้น ม.1 และ ม.4 ทั้งยังพบว่าผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่งได้เปิดช่องให้ผู้ปกครองกรอกตัวเลขจำนวนเงินที่จะบริจาคให้กับโรงเรียนเอาไว้ พร้อมออกใบเสร็จรับรอง ไม่ว่าเด็กนักเรียนจะสอบติดหรือไม่ก็ตาม

          น.อ. บัญชา ยังชี้ว่า ในโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง 366 โรงเรียน แต่ละแห่งต้องการรับนักเรียนโรงเรียนละ 240 คน คิดเป็น 87.000 ที่นั่ง นั่นทำให้การเปิดรับแป๊ะเจี๊ย มีการประมูลเก้าอี้เรียนกันอย่างเปิดเผยทั่วประเทศ คิดเป็นเงินจำนวนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และทำให้ประชาชนเดือดร้อน

          สำหรับข้อสังเกตในการรับนักเรียนและการบริหารการศึกษาโดยไม่โปร่งใสเป็นธรรม พบว่าจะมีการประกาศผลสอบนักเรียนโดยไม่ได้ระบุคะแนน ระบุเพียงเลขที่ใบสมัครและเรียงตามอักษรเท่านั้น ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนฐานข้อมูลได้

          ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบว่ามีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศที่กระทำผิด พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ. การบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ทั้งกรณีมาตรา 10 ระบุให้เรียนฟรี 12 ปี แต่โรงเรียนก็มาเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษา โดยอ้างจากประกาศกระทรวงศึกษาธิการและกรรมการสถานศึกษา คิดเป็นเงินว่า 3 หมื่นล้านบาทในปี 2558

          ทั้งนี้สำหรับการจัดเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษา ได้จัดเก็บเป็นเวลา 12 ปี รวมวงเงิน 3.3 แสนล้านบาท ทั้ง ๆ ทางโรงเรียนจะเรียกเก็บเงินส่วนนี้จากผู้ปกครองไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงถือเป็นการฉ้อโกงนักเรียนและผูัปกครอง อีกทั้งกรณีแต่โรงเรียนได้กำหนดเกรดของเด็กที่จะเรียนต่อในระดับมัธยมปลาย ก็นับเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิเด็ก และเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ของผู้บริหาร

          จากการตรวจสอบ ยังพบว่ามีผู้ปกครองที่นำใบเสร็จค่าบำรุงการศึกษา ไปเบิกคืนจากราชการเป็นเงินปีละกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งทำให้ราชการเสียหาย อีกทั้งยังมีการใช้สมาคมผู้ปกครองและครูเป็นแหล่งรับผลประโยชน์ ซึ่งอาจเป็นแหล่งฟอกเงิน บางแห่งเป็นสมาคมเถื่อน ตลอดจนกรณีโรงเรียนออกใบแจ้งหนี้นักเรียนระดับมัธยมที่ไม่ชำระค่าเรียน และไม่ให้จบการศึกษาเพราะไม่จ่ายค่าเทอม ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายทั้งสิ้น

          ในส่วนของค่าหนังสือเรียนของนักเรียน ซึ่งรัฐจ่ายให้เป็นรายหัวต่อปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยม เป็นเงิน 650-1,200 บาท เป็นเงินภาษีทั้งหมด 7,500 ล้านต่อปี กลับพบว่ามีการใช้หนังสือเก่ามาให้เด็กเรียน นักเรียนได้หนังสือไม่ครบ 8 กลุ่มสาระวิชา ซึ่งอาจมีการทุจริตในกระบวนนี้จำนวนมาก ขณะเดียวกัน ในโรงเรียนมีการแบ่งชนชั้นของนักเรียน เช่น ห้องพิเศษ กลุ่มห้องคิงส์ กลุ่มปานกลาง กลุ่มทั่วไป รวมถึงกลุ่มเรียนอ่อนและมีปัญหา รวม 5 กลุ่ม ซึ่งไม่เป็นธรรม สร้างปมด้อยให้เด็ก รวมถึงมีการเปิดสำนักติวหน้าโรงเรียนดัง โดยครูผู้สอนนำข้อสอบมาเปิดเผยเป็นการทุจริตและทำลายระบบการศึกษา

          ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบพบแล้ว ภตช. จะส่งเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงศึกษาธิการ และส่งถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คตช. และหากพบหลักฐานทุจริตจะส่งเรื่องถึงหน่วยงาน ป.ป.ช. และ ปปง. ให้ยึดทรัพย์ตกเป็นเงินแผ่นดินต่อไป พร้อมกับเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 กำจัดปัญหาแป๊ะเจี๊ยะให้หมดไป

          ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การขจัดปัญหาแป๊ะเจี๊ยะให้หมดไปจากสังคมไทยนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ตราบใดนักเรียนและผู้ปกครองยังมีความต้องการเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้มีที่นั่งเรียนน้อยแต่จำนวนเด็กสมัครเข้าเรียนจำนวนมาก ย่อมเกิดการแย่งชิงที่นั่งเรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งเงินก็เป็นอีกช่องทางที่ผู้ปกครองจะทำให้ลูกได้เข้าเรียนโรงเรียนดี ๆ ได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไข เพื่อความเป็นธรรมกับเด็กทุกคน

ภาพจาก Charlie Edward / Shutterstock.com
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้ำชัด ห้ามเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษา แบ่งชนชั้นเด็ก-เก็บแป๊ะเจี๊ยะ ผิดกฎหมาย อัปเดตล่าสุด 9 พฤษภาคม 2558 เวลา 16:50:16 12,303 อ่าน
TOP