x close

บิ๊กตู่ ชี้มติที่ประชุมร่วม ครม.-คสช. ไฟเขียวแก้รัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ทำประชามติ



บิ๊กตู่ ชี้มติที่ประชุมร่วม ครม.-คสช. ไฟเขียวแก้รัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ทำประชามติ

                นายกรัฐมนตรี เผยมติที่ประชุมร่วม ครม.-คสช. ไฟเขียวแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เปิดทางให้ สนช. ทำประชามติ บอกอย่าคาดหวังมาก ยันไม่ใช้อำนาจชี้นำ กลัวจะมองเป็นการสืบอำนาจ

               วันนี้ (19 พฤษภาคม 2558) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช. ว่า ที่ประชุมร่วมมีมติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคิดว่าทันเวลาแน่นอน โดยได้มอบหมายให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ดำเนินการ ส่วนคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามมติ สปช. และ ครม. ซึ่งมีระยะเวลากำหนดไว้ในกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนการทำประชามติก็จะใช้เวลา 3 เดือน และ คสช. จะไม่เสนอข้อพิจารณาใด ๆ เพราะจะทำให้มองว่าเป็นการชี้นำและสืบทอดอำนาจ

               พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ครม. จะมีการประชุมกันอีกครั้ง เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ซึ่งต้องรอว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน จะแก้หรือไม่แก้ร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าหากผ่านก็ทำประชามติ หากเสนอกันมาว่าให้ทำประชามติ ผมก็ต้องเตรียมตั้งหลัก เตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ได้คาดว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ อย่าไปคาดหวัง เพราะถ้าคาดหวังมากก็จะพันคอตัวเอง เชื่อว่าวันนี้ความขัดแย้งต้องลดลงเพราะประเทศกำลังเดินหน้าไปด้วยดี

               ด้าน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวว่า จากการที่ ครม. และ คสช. เห็นชอบให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ให้ สนช. พิจาณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน 15 วัน ซึ่งจะไม่พิจารณาเหมือนกฎหมายปกติที่ต้องพิจารณา 3 วาระ อาจจะมีการพิจารณาทีเดียว 3 วาระรวด เพื่อให้ทัน 15 วัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่ที่ความเหมาะสมด้วย

               ทั้งนี้ถ้าถามว่า คสช. สามารถใช้อำนาจมาตรา 44 ไม่ต้องเสนอร่างแก้ไขมาให้กับ สนช. เพื่อความรวดเร็วได้หรือไม่ นายสุรชัย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่คิดว่า คสช. จะทำแบบนั้น เพราะจะใช้มาตรา 44 ในกรณีที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่แก้ไขรัฐธรรมนูญมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แล้ว ก็ต้องดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด นอกจากนี้คิดว่า คสช. อาจจะมีการผ่อนปรนข้อห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะการทำประชามติต้องมีการเปิดเวทีให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการประชามติกำหนดไว้

ภาพจาก  ทวิตเตอร์ @Prachaya_Ice


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

 




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บิ๊กตู่ ชี้มติที่ประชุมร่วม ครม.-คสช. ไฟเขียวแก้รัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ทำประชามติ อัปเดตล่าสุด 22 พฤษภาคม 2558 เวลา 14:24:57 3,322 อ่าน
TOP