x close

8 เรื่องต้องรู้ของโรฮีนจา เพื่อเข้าใจปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

8 ต้องรู้ของโรฮีนจา เพื่อเข้าปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ภาพจาก CHAIDEER MAHYUDDIN / AFP


8 ต้องรู้ของโรฮีนจา เพื่อเข้าปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ภาพจาก CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

          เรื่องผู้อพยพชาวโรฮีนจากำลังกลายเป็นประเด็นร้อนของบ้านเราในขณะนี้ ตลอดจนถึงเป็นประเด็นร้อนของประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย และร้อนไปจนถึงโลกตะวันตกที่กำลังจับตามองอยู่เองเช่นกัน เมื่อชาวโรฮีนจานับพันล่องเรือออกมาจากรัฐยะไข่ของเมียนมา แต่ไม่สามารถขึ้นฝั่งที่ประเทศใดได้เนื่องจากไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของดินแดน

          เหตุใดกลุ่มชาวมุสลิมโรฮีนจาถึงไม่ได้รับการต้อนรับจากใคร ๆ ลองมาดูข้อมูลเบื้องหลังปัญหาเหล่านี้ ทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นมา ความขัดแย้งด้วยปมเชื้อชาติและศาสนา จากที่เว็บไซต์อินเดียไทม์ส ได้หยิบยกมาสรุปให้อ่านเข้าใจง่าย ๆ ใน 8 ข้อนี้กัน

1. ชาวโรฮีนจาเป็นใคร ?
          โรฮีนจาเป็นกลุ่มชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ของเมียนมา ซึ่งชาวรัฐส่วนใหญ่ล้วนเป็นชาวพุทธ ชาวโรฮีนจาที่นี่มีจำนวนราว 1.3 ล้านคน และถูกกั้นอาณาบริเวณให้อาศัยอยู่ในโซนตะวันตกของรัฐยะไข่ อันเป็นพรมแดนประชิดบังคลาเทศ ชาวมุสลิมดังกล่าวได้อาศัยอยู่ที่นี่มานับศตวรรษ จนนักประวัติศาสตร์บางรายระบุว่าโรฮีนจาเป็นชาวพื้นเมืองของยะไข่มาแต่เดิม ในขณะที่คนอื่นเห็นว่าโรฮีนจาได้อพยพมาจากทางตะวันตกต่างหาก

          ย้อนกลับไปในปี 2369 เมื่อเมียนมายังคงตกอยู่ภายใต้การปกครองของอินเดียของบริเตน (British India; อินเดียสมัยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ) ชาวมุสลิมในเบงกอลได้รับการสนับสนุนให้ย้ายถิ่นฐานไปยังรัฐยะไข่ ซึ่งตอนนั้นยังคงมีประชากรเบาบาง แต่เมื่อย้ายไปแล้วก็เปิดปัญหาความขัดแย้งแตกต่างระหว่างกลุ่มตนกับชาวพื้นเมืองเดิมซึ่งเป็นชาวพุทธ และปัญหาความขัดแย้งนั้นยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ประชากรชาวโรฮีนจาก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ทศวรรษ ยิ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกเป็นสองชุมชนใหญ่ที่เด่นชัดยิ่งขึ้น

2. โรฮีนจาถูกปฏิเสธการให้สัญชาติเมียนมา

          ทางการปฏิเสธที่จะให้สัญชาติเมียนมาแก่ชาวโรฮีนจา จึงกล่าวได้ว่าชาวโรฮีนจาเป็นกลุ่มชนไร้แผ่นดิน การไม่มีสัญชาติเช่นนี้ยังส่งผลถึงการถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา การดูแลด้านสุขภาพ รวมถึงการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การเดินทางออกนอกหมู่บ้านที่ตนอยู่ก็ลำบาก ในบางกรณีถึงกับต้องติดสินบนแก่ตำรวจและเจ้าหน้าที่เพื่อให้ตนเองสามารถข้ามไปได้

          และเมื่อเมียนมาเปลี่ยนการปกครองจากระบอบเผด็จการเป็นประชาธิปไตยในปี 2554 การแสดงออกทางความคิดเห็นก็เป็นสิ่งสามารถกระทำได้อย่างเสรี จนมีกลุ่มชาวพุทธสุดโต่งประกาศความเกลียดชังที่มีชนต่างศาสนากลุ่มน้อยนี้ และเตือนว่ามุสลิมกำลังจะยึดครองเมียนมา

3. ชาวโรฮีนจาต้องการอะไร ?
          ชาวโรฮีนจาต้องการสิทธิเทียมเท่ากับชาวเมียนมาในฐานะพลเมือง แต่ในปี 2554 ประธานาธิบดีเตงเส่ง ก็ออกมาประกาศอย่างชัดเจนไม่มีชาว "โรฮีนจา"  และสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยนี้อพยพออกจากประเทศไปเสีย รัฐบาลพม่ายังเรียกชนมุสลิมกลุ่มนี้ว่า "เบงกาลี" อันยิ่งตอกย้ำว่า นี่คือกลุ่มคนเถื่อนที่อพยพมาจากบังคลาเทศ นอกจากนี้ชนมุสลิมเหล่านี้ก็ไม่มีสิทธิได้รับสัญชาติแม้จะอยู่ในแผ่นดินเมียนมามาเนิ่นนาน อันเป็นไปตามกฎหมายพม่าที่ร่างไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหารเมื่อปี 2525 ซึ่งระบุว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงสัญชาติให้แก่คนผู้ระบุตนเองว่าเป็น "โรฮีนจา" แต่จะแปลงสัญชาติให้ก็ต่อเมื่อยอมรับว่าตนเป็น "เบงกาลี" เท่านั้น

4. ผู้แปลงสัญชาติแล้วก็ยังไม่ได้รับการยอมรับและถูกเลือกปฏิบัติ
          แม้ชาวมุสลิมบางคนจะเข้าสู่กระบวนการแปลงสัญชาติแล้ว แต่ก็ยังคงพบอุปสรรคถูกแบ่งแยกตั้งแง่รังเกียจจากชาวเมียนมา ไม่ได้รับสิทธิในฐานะพลเมืองที่เท่าเทียมกัน โรฮีนจายังคงถูกกีดกั้นในการถือครองที่ดิน ตั้งสำนักงานที่ทำงาน ตั้งกลุ่มหรือเป็นผู้นำกลุ่มการเมือง ห้ามการประกอบวิชาชีพบางอย่าง อาทิ ด้านกฎหมาย เภสัชกร วิศวกร และไม่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง อันหมายความว่าถูกตัดหนทางที่จะมีสิทธิมีเสียงใด ๆ อย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ยังเผชิญกับร่างนโยบายที่ระบุว่า โรฮีนจาจะถูกจำกัดเขตที่อยู่เช่นนั้นตลอดไป หรือไม่ก็จะถูกเนรเทศออกไปให้หมด

8 ต้องรู้ของโรฮีนจา เพื่อเข้าปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ภาพจาก CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

5. เหตุใดชาวโรฮีนจาจึงอพยพ ?
          ด้วยอนาคตที่เหลือเพียงรำไรใรเมียนมา ทำให้ชวโรฮีนจาจำนวนมากตัดสินใจอพยพออกจากประเทศ โดยเริ่มอพยพออกมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่เมื่อเกิดเหตุความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างชาวพุทธ-มุสลิม เมื่อปี 2555 ชาวโรฮีนจาก็ยิ่งแห่อพยพออกมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีชาวโรฮีนจาและบังคลาเทศ อพยพทางเรือออกมากว่า 120,000 คน ส่วนประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของคนเหล่านี้คือประเทศมุสลิมอย่างมาเลเซีย โดยมีความหวังว่าอย่างน้อยก็สามารถไปทำงานใช้แรงงาน และได้รับความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น

          หลายคนขายทรัพย์สินที่ดินที่ตนมี นำเงินมาจ่ายให้นายหน้าขบวนการค้ามนุษย์เพื่อนำตนออกนอกประเทศ เงินอีกส่วนยังคงต้องหามาจ่ายให้ระหว่างทาง มีการเรียกร้องเงินค่าไถ่จากครอบครัวผู้อพยพ เมื่อได้เงินล้วจังจะดำเนินกระบวนการเปลี่ยนถ่ายส่งตัวไปให้ถึงจุดหมายปลายทางต่อไป

6. กลยุทธ์ขนส่งโรฮีนจาที่เปลี่ยนแปลงไป หลังถูกรัฐบาลไทยปราบปราม

          กลยุทธ์ในการขนส่งชาวโรฮีนจาได้เปลี่ยนไป หลังจากที่รัฐบาลไทยใช้มาตรการกวดขันเข้มงวดในการกวาดล้างกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา แทนที่จะขนส่งนำผู้อพยพขึ้นบก ก็เปลี่ยนเป็นขนส่งกันทางน้ำแทน

          แต่ในเดือนที่ผ่านมานี้ นายหน้าค้ามนุษย์หลายเจ้าตัดสินใจทิ้งเรือของตนซึ่งบรรทุกเหล่าผู้อพยพให้ลอยลำกลางทะเล พร้อมกับทิ้งเชื้อเพลิงและเสบียงจำนวนหนึ่งไว้ให้ เรือผู้อพยพรวมกว่า 3,000 ราย ถูดพัดเข้าฝั่งประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่องค์การสหประชาชาติประเมินว่า น่าจะมีผู้อพยพอีกไม่ต่ำกว่า 3,000 รายเช่นกันที่ยังคงลอยเรืออยู่กลางทะเล

7. เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ?

          ผ่านไปร่วมสัปดาห์จากเหตุการณ์ที่เรือของผู้อพยพถูกปล่อยลอยลำอยู่เช่นนั้น ตลอดจนถูกลากกลับเข้าน่านน้ำสากล ในที่สุดก็มีประเทศที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ อินโดนีเซียและมาเลเซียประกาศให้ที่พักพิงชั่วคราว ด้านสหรัฐฯ ประกาศพร้อมรับชาวโรฮีนจามากกว่า 1,000 คนอยู่ในประเทศ ขณะที่ประเทศแกมเบียในทวีปแอฟริกาเป็นฮีโร่ขี่ม้าขาวที่สุด ออกปากยินดีรับผู้อพยพทั้งหมดไว้ที่ประเทศตนเอง

8. เร่งช่วยเหลือชาวโรฮีนจาที่ยังลอยเรือกลางทะเล

          หลังจากได้ข้อตกลงเรื่องการบรรเทาทุกข์แก่ชาวโรฮีนจา ปฏิบัติการช่วยเหลือชาวโรฮีนจาที่ยังอาจลอยเรืออยู่กลางทะเลก็เริ่มต้นขึ้น มาเลเซียได้ออกเรือลาดตระเวน 4 ลำ ไปในทะเล และเตรีมเฮลิคอปเตอร์ไว้พร้อมสำหรับปฏิบัติการช่วยเหลือ ขณะที่สหรัฐฯ ก็ระบุว่าตนเตรียมส่งเครื่องบินลาดตระเวนของทัพเรือบินสำรวจน่านน้ำแถบนี้เช่นกัน

          สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้นับเป็นความพยายามก้าวแรกเพื่อจะแก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจาอย่างจริงจัง ท่ามกลางความตระหนักดีร่วมกันของนานาชาติ ถึงระดับความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยชนไร้สัญชาติและไร้แผ่นดินกลุ่มนี้ แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ ตลอดจนนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นตรงกันว่า การแก้ปัญหาให้ถูกจุดที่สุด คงต้องกลับไปดูกันตรงต้อตอที่มา นั่นคือควาขัดแย้งระหว่างเมียนมากับชาวโรฮีนจานั่นเอง



8 ต้องรู้ของโรฮีนจา เพื่อเข้าปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ภาพจาก CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 เรื่องต้องรู้ของโรฮีนจา เพื่อเข้าใจปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อัปเดตล่าสุด 23 พฤษภาคม 2558 เวลา 16:41:54 45,207 อ่าน
TOP