ชาวเน็ตตั้งคำถาม การให้นมแก่เด็กที่ทารกที่ไม่ใช่ลูกของตนเองนั้น ควรกระทำหรือไม่ หลังแพทย์จุฬาฯ เตือนการให้ทารกที่ไม่ใช่ลูกตัวเองดูดนม เสี่ยงเกิดอันตราย และอาจได้รับเชื้อโรค ด้านสหภาพพยาบาลฯ ยันพิจารณาถี่ถ้วนแล้ว
จากกรณีโลกโซเชียลแชร์ข้อความจากเฟซบุ๊ก สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นภาพที่พยาบาลคนหนึ่งที่เป็นแม่ลูกอ่อนกำลังให้นมเด็ก เนื่องจากพ่อแม่เกิดอุบัติเหตุ โดยพ่อเสียชีวิต ส่วนแม่บาดเจ็บสาหัส ไม่สามารถให้นมเด็กได้ จนมีผู้เข้ามาชื่นชมการกระทำของพยาบาลท่านนี้เป็นจำนวนมาก
แต่เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าว ลงเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยระบุว่า...
"อ่าน social media แล้วตกใจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าไม่ควรบริจาคนมแม่ในเวชปฏิบัติ ถ้าทารกไปดูดนมแม่อื่นที่ไม่ใช่แม่ของตน
ทั้งนี้ ทางตะวันตกจะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ให้ดูแลทารกนั้นเหมือนบุคลากรทางการแพทย์ ที่ถูกเข็มตำทีเดียว เพราะในนมแม่ที่ไม่ใช่แม่ทารกเอง ไม่ทราบว่ามีเชื้อโรคอะไรบ้าง เช่น เชื้อเอชไอวี (HIV) ไวรัสบี ไวรัสซี ฯลฯ ถึงแม้ว่านมแม่จะดีที่สุด ก็ดีที่สุดสำหรับลูกตัวเอง ไม่ควรบริจาคให้ใครเด็ดขาด ถ้าจะมีการให้นมแม่ ก็จะมีธนาคารนม การจัดจำหน่ายต้องมีขบวนการฆ่าเชื้อที่ถูกวิธี โดยคุณค่านมไม่เสีย จะเป็นการลงทุนที่สูงมาก"
หลังข้อความดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปก็ทำให้หลาย ๆ คนต่างสงสัยว่า จริง ๆ แล้วการให้นมแก่เด็กที่ทารกที่ไม่ใช่ลูกของตนเองนั้น เป็นเรื่องที่ควรกระทำหรือไม่กันแน่
และล่าสุด (3 มิถุนายน) เฟซบุ๊ก สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ได้ออกมาชี้แจงประเด็นนี้ว่า...
เรียนคุณแม่และญาติเด็กที่ได้รับนมจากเต้าพยาบาล ท่านโปรดจงมั่นใจในคุณภาพ เพราะเรายึดหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ เราจะไม่แพร่เชื้อโรคจากนมตนเองแน่นอน
ตามข่าวจากกระแสข่าว social กรณีพยาบาลให้นมตนเองแก่คนไข้เด็ก เป็นที่ฮือฮา และเกิดการวิพากษ์ 2 กระแส จึงนำเรียนมาชี้แจงดังนี้
1. การให้นมแก่คนไข้เด็กในโรงพยาบาล กรณีกระทำการโดยบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ซึ่งมีการพินิจพิเคราะห์ ถึงข้อดีข้อเสียแล้ว เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้มีเจตนาใด ๆ แอบแฝง นอกเหนือจากการให้ด้วยจิตเมตตา
2. กระบวนการให้นมกระทำโดยบุคลากรทางด้านสาธารณสุข และกระทำการโดยใช้การตัดสินใจของมารดาที่ไม่อาจกระทำการให้นมบุตรได้ในขณะนั้น จึงขออนุญาตจากมารดาก่อน และได้รับคำตอบตกลงอนุญาต
3. บุคลากรดังกล่าว ซึ่งในขณะนั้นเป็นมารดาอยู่ในระหว่างการให้นมบุตร และมีการตรวจสอบอย่างชัดเจน และประกันคุณภาพ ว่าไม่ใช่ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์, ไวรัสตับอักเสบบี, ซี , EBV และอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสุขภาพประจำปีทุกคน
ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้สะเทือนอารมณ์ และงานด้านวิชาการชาติตะวันตก ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ และขอเตือนพี่น้องประชาชน หากจะได้รับนมแม่จากบุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่มารดาของเด็ก ควรมีการตรวจสอบว่าเป็นนมจากบุคคลติดเชื้อหรือไม่ ?? เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าลูกคุณจะไม่ติดเชื้อแน่นอน กับ Yong Poovorawan
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan, เฟซบุ๊ก สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย