x close

ธงสีรุ้ง คืออะไร เหตุใดคนทั่วโลกจึงพร้อมใจเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เป็นสีรุ้ง



ธงสีรุ้ง คืออะไร

             ธงสีรุ้ง ธงแห่ง LGBT มีความหมายอย่างไร เหตุใดผู้คนทั่วโลกต่างประดับธงสีรุ้ง เปลี่ยนโปรไฟล์สีรุ้งทั่วสื่อออนไลน์

             นับเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์สำคัญที่โลกต้องจารึกไว้ เมื่อศาลสูงของสหรัฐอเมริกาได้เปิดไฟเขียว อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ทั่วประเทศแล้ว เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 หลังที่ผ่านมามีกฎหมายรองรับการแต่งงานของเพศเดียวกันเพียงในบางรัฐเท่านั้น นับเป็นก้าวสำคัญในการเปิดเสรีทางความรักของคนทุกกลุ่ม ไม่เพียงเฉพาะคู่รักหนุ่ม-สาว หากแต่รวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ด้วย

ธงสีรุ้ง คืออะไร

             สำหรับ LGBT มีที่มาจากอักษรตัวแรกของคำว่า lesbian (เลสเบี้ยน), gay (เกย์), bisexual (ไบเซ็กชวล) และ transgender/transsexual (คนข้ามเพศ) ที่ได้รวมตัวกันเป็นหนึ่งภายใต้คำชื่อกลุ่ม LGBT สะท้อนถึงความหลากหลายทางเพศและการแสดงออกทางเพศในสังคม ซึ่งคำว่า LGBT มิได้หมายถึงเฉพาะกลุ่มคนรักร่วมเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเพศทางเลือกอื่น ๆ อย่างเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ

             ขณะที่คนทั่วโลกต่างก็ร่วมเฉลิมฉลองให้แก่วันสำคัญนี้ ด้วยการประดับธงสีรุ้ง ธงสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBT ร่วมกัน เช่นเดียวกับในโลกออนไลน์ที่หลายคนต่างออกมาร่วมฉลองด้วยการประดับภาพโปรไฟล์ด้วยสีรุ้ง รวมถึงเจ้าพ่อเฟซบุ๊กอย่าง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ที่ออกมาร่วมเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ของเขาเป็นสีรุ้งด้วยเช่นกัน ผ่านทางแอพพิเศษของเฟซบุ๊กในหน้า celebratepride ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ของเราให้เป็นสีรุ้งอัตโนมัติ

ธงสีรุ้ง คืออะไร
ภาพจาก MOLLY RILEY / AFP

             ทั้งนี้สำหรับ "สีรุ้ง" สีสันแห่งความหลากหลายได้ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBT รวมถึงการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของกลุ่มมานานกว่า 37 ปี ธงสีรุ้งซึ่งได้รับการออกแบบโดย กิลเบิร์ท เบเกอร์ ศิลปินจากซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ ถูกนำมาโบกสะบัดขึ้นในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBT เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2521 ใน San Francisco Gay Freedom Day Parade ขบวนพาเหรดเพื่อระลึกถึง ฮาร์วีร์ มิลค์ นักการเมืองชาวเกย์ที่ถูกฆาตกรรม  ก่อนนำมาใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ในฐานะธงแห่งความภาคภูมิใจของ LGBT นอกจากนี้ในบางครั้ง ธงสีรุ้ง ยังถูกนำมาใช้ในฐานะธงแห่งความสงบสุขด้วย



             สำหรับสีสันทั้ง 8 แถบที่อยู่บนธงสีรุ้ง แต่ละสีต่างก็มีความหมายอยู่ในตัวเช่นกัน ดังนี้
 
             สีชมพูเข้ม ตัวแทนแห่ง เรื่องเพศ

             สีแดง ตัวแทนแห่ง ชีวิต

             สีส้ม ตัวแทนแห่ง การเยียวยา

             สีเหลือง ตัวแทนแห่ง ดวงอาทิตย์

             สีเขียว ตัวแทนแห่ง ธรรมชาติ

             สีน้ำเงิน ตัวแทนแห่ง ศิลปะ

             สีคราม ตัวแทนแห่ง ความผสมผสานกลมกลืน

             สีม่วง ตัวแทนแห่ง จิตวิญญาณของกลุ่มรักร่วมเพศ

             อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาธงสีรุ้ง 8 แถบ ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาถึง 2 ครั้ง กระทั่งเหลือเป็นธงที่มี 6 แถบ ประกอบด้วย สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีม่วง ซึ่งได้รับความนิยมใช้มาตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบัน

             ทั้งนี้นอกจากธงสีรุ้ง ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นธงของกลุ่ม LGBT แล้ว ก็ยังมีเพศทางเลือกอื่น ๆ อีกมากมายที่ได้มีการตั้งธงเพื่อแสดงออกถึงกลุ่มเพศของตน อาทิ

ธง Genderqueer

ธง Genderqueer

ภาพจาก genderqueerid.com

ธง Genderfluid


ธง Genderfluid

ภาพจาก genderfluidity.tumblr.com

ธง Bisexual


ธง Bisexual

ภาพจาก glbtq.com

ธง Transgender


ธง Transgender

ภาพจาก glbtq.com


ธง Pansexual

ธง Pansexual

ภาพจาก clarebayley.com

ธง Asexual

ธง Asexual

ภาพจาก clarebayley.com

ธง Intersex

ธง Transgender


ภาพจาก actuallyintersex.tumblr.com

 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

feedomthai.blogspot.com
, sapaan.org

***หมายเหตุ : อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 14.28 น. วันที่ 28 มิถุนายน 2558




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธงสีรุ้ง คืออะไร เหตุใดคนทั่วโลกจึงพร้อมใจเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เป็นสีรุ้ง อัปเดตล่าสุด 28 มิถุนายน 2558 เวลา 14:34:18 208,707 อ่าน
TOP