x close

เล็งคุมภาษีบาป ! หนุน สสส.-ไทยพีบีเอส-กองทุนกีฬาฯ ใช้งบฯ ผ่านสภา





          จรัส สุวรรณมาลา เผย เตรียมถกภาษีบาป 10-11 สิงหาคมนี้ ด้านกรรมาธิการยกร่างฯ หนุน สสส.-ไทยพีบีเอส-กองทุนพัฒนาการกีฬาฯ ใช้งบประมาณผ่านสภา ช่วยรักษาวินัยการเงินการคลัง พร้อมยกระดับมาตรการคุมเข้มการใช้เงิน

          วันที่ 7 สิงหาคม 2558 นายจรัส สุวรรณมาลา กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ ระบุว่า กรรมาธิการยกร่างฯ บางส่วนยอมให้ 3 องค์กร คือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ สามารถใช้ภาษีบาป โดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีตามเดิมนั้น ว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีการพิจารณา คาดว่าจะมีการนำเรื่องนี้กลับมาทบทวนในระหว่างวันที่ 10-11 สิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตามยังคงยืนยันหลักการเดิมว่า การยกเลิกกฎหมายจัดเก็บและจัดสรรภาษี เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ หรือที่เรียกว่าภาษีบาป (Earmarked Tex) ให้แก่องค์กรอื่นจะไม่มีอีกแล้ว ซึ่งทางกรรมาธิการยกร่างฯ จะมาดูว่าองค์กรทั้ง 3 แห่งที่ตั้งมาก่อนหน้านี้ จะพิจารณาอย่างไรต่อไป

          ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกรรมาธิการยกร่างฯ แจ้งว่า ตอนนี้มี 3 แนวทางในการพิจารณาคือ

          1. ยกเลิกไม่ให้ทั้ง 3 องค์กรใช้ภาษีบาป แต่จะใช้วิธีให้มาของบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปกติ แต่ก็จะทำให้เกิดข้อเสียคือ จากเดิมที่บริษัทเหล้า บุหรี่ ต้องเสียให้ สสส. 2 เปอร์เซ็นต์ ไทยพีบีเอส 1.5 เปอร์เซ็นต์ กองทุนพัฒนากีฬา 2 เปอร์เซ็นต์ โดยแยกออกมาจากที่ต้องเสียให้คลัง 100 เปอร์เซ็นต์ ต่อไปก็จะไม่ต้องเสียให้กับทั้ง 3 องค์กร

          2. ให้รับภาษีบาปเช่นเดิม แต่การใช้งบประมาณให้มาขอความเห็นชอบจาก ส.ส. , ส.ว. ที่เป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งข้อดีคือ เป็นการเพิ่มการตรวจสอบ อีกทั้งเป็นการปฏิบัติตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ถูกต้อง

          3. ปล่อยให้เป็นแบบเดิม โดยอ้างว่าจะได้ไม่ถูกนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง อีกทั้งภาษีสุรา บุหรี่ ก็ไม่ต้องจ่ายภาษีบาปให้ 3 องค์กรนี้น้อยลง

          นอกจากนี้เมื่อสอบถามความเห็นของกรรมาธิการยกร่างฯ หลายคนเห็นด้วยกับแนวคิดที่ 2 เพราะจะสามารถตรวจสอบงบประมาณได้มากขึ้น โดยมีทั้ง คณะรัฐมนตรี (ครม), ส.ส. , ส.ว. , กรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และสื่อมวลชน

          สำหรับรูปแบบเดิมนั้นมีเพียงหน่วยงานเดียวที่ตรวจสอบการใช้เงิน คือ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) ส่วนการใช้งบประมาณก็อนุญาตให้ทั้ง 3 องค์กรใช้เงินไปก่อน และค่อยมารายงานต่อรัฐสภาภายหลัง ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่ผิดวินัยการคลังของประเทศ รวมไปถึงยังเป็นการป้องกันการเกิดองค์กรลักษณะดังกล่าวขึ้นในอนาคต

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เล็งคุมภาษีบาป ! หนุน สสส.-ไทยพีบีเอส-กองทุนกีฬาฯ ใช้งบฯ ผ่านสภา อัปเดตล่าสุด 7 สิงหาคม 2558 เวลา 11:47:50 3,041 อ่าน
TOP