x close

อภิสิทธิ์ หนุน สปช. ปลดสลักคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แนะ คสช. เปิดใจหารือ





          อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หนุน สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ หวั่นทำบ้านเมืองเกิดวิกฤตรอบใหม่ ชี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ก่อปัญหาอำนาจรัฐซ้อนรัฐ แนะ คสช. เปิดใจหารือ เชื่อ 2-3 เดือนกรรมการร่างฯ ชุดใหม่แก้เสร็จ ย้ำต้องการประชาธิปไตยที่สมดุลที่สุด

          วันที่ 25 สิงหาคม 2558 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนคำปรารภไว้ว่า เรื่องนี้เคยมีปรารภไว้แล้วเมื่อปี 2540 ว่าจะเขียนล่วงหน้าไว้ไม่ได้ แต่ตนคิดว่าไม่ควรเอาเรื่องนี้มาประเด็นหลัก ควรจะมองที่เนื้อหามากกว่า โดยเฉพาะการใส่เนื้อหาเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) อย่างกระชั้นชิด เป็นการสร้างปัญหารัฐซ้อนรัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต และเป็นปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตย

          อย่างไรก็ตามตนไม่เคยขัดข้องที่ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกกำกับไม่ให้ใช้อำนาจในทางมิชอบ และไม่ขัดที่จะให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเดินหน้าปฏิรูป แต่สิ่งที่เขียนอยู่ไม่ได้บอกว่าการปฏิรูปคืออะไร รวมถึงอำนาจกลับขึ้นไปอยู่กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่สามารถบังคับรัฐบาลได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น โดยเฉพาะในการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ คปป. อาจจะเข้าไปขัดขวาง หากเห็นว่าเกิดผลกระทบกับตัวเอง แล้วใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่มาบังคับใช้ ซึ่งจะยิ่งเกิดความขัดแย้งมากขึ้น จึงอยากให้ สปช. คว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้

          ทั้งนี้การที่ตนออกมาเสนอให้ สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการยืดอายุให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ต่อ เพียงแต่ต้องการให้ปรับปรุงในเนื้อหาในรัฐธรรรมนูญให้ดีก่อนทำประชามติ เพราะหลายเรื่องไปได้ แต่มีปัญหาเรื่อง คปป. ซึ่งมีช่องโหว่ในอนาคต ดังนั้นไม่ควรนำความขัดแย้งไปสู่จุดการทำประชามติหรือหลังเลือกตั้ง จึงเห็นว่า สปช. ต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้ทันที ซึ่งการปรับปรุงเนื้อหาไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แค่เชิญทุกฝ่ายมาหารือพร้อมบอกเป้าหมายกับสังคมที่ชัดเจนว่า ต้องการปฏิรูปอย่างไร และจะให้มีกลไกอะไรมากำกับดูแลที่ดีกว่าทำให้เกิดรัฐซ้อนรัฐ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน จากนั้นจึงค่อยทำประชามติ  อย่างไรก็ตามหากพวกตนเห็นแก่ตัวอยากกลับไปเป็นผู้แทนก็คงบอกให้รีบผ่านเพื่อให้มีเลือกตั้ง แต่ตนคิดว่าไม่ใช่ เพราะไม่ต้องการกลับไปเลือกตั้งแล้วไปวุ่นวายอีก แต่ต้องการการเลือกตั้งที่มีประชาธิปไตยที่ดีและสมดุล

          แม้ว่าสังคมจะกังวลว่าบ้านเมืองจะกลับไปวุ่นวาย เลยเกิดความคิดในการใช้อำนาจรัฐซ้อนรัฐ โดยปราศจากรูปธรรมของการปฏิรูป และไม่มีกลไกที่ชัดเจนในการป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิด แต่ทางกลับกันจะยิ่งเพิ่มความสับสนและความรุนแรงขึ้นในอนาคต ดังนั้นตนจึงเห็นว่า คสช. ควรเปิดใจหารือสิ่งที่ตัวเองทำและกังวล เพื่อให้เกิดความราบรื่น หาก สปช. คว่ำร่างฯ ก็จะเกิดกรรมการชุดใหม่ 21 คน มาปรับปรุงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไม่รับฟัง ตนก็กังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งในทุกขั้นตอนนับจากนี้เป็นต้นไป

          สำหรับ คปป. นั้นเขียนขึ้นมาอย่างไม่มีรูปธรรมว่าขอบเขตอำนาจมีแค่ไหน ดังนั้น หาก สปช. ผ่านร่างนี้จะนำไปสู่การทำประชามติ จะยิ่งสร้างปัญหาแน่นอน เพราะคนที่ไม่เห็นด้วยจะออกมาเคลื่อนไหว หาก คสช. ไม่ให้เคลื่อนไหว ก็จะเกิดคำถามว่าจะให้ทำประชามติทำไม ถ้าประชามติไม่ผ่านปัญหาใหญ่จะเกิดกับ คสช. หรือถ้าผ่าน ก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นในการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงมองไม่เห็นว่าการเดินเช่นนี้จะช่วยให้ประเทศเดินไปข้างหน้า และหลุดพ้นจากปัญหาเดิมได้อย่างไร

          ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า สปช. ไม่ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะดีกว่า เพราะเมื่อไปถึงขั้นทำประชามติจะมีปัจจัยอื่นเข้ามา ทั้งภาวะเศรษฐกิจ ความต้องการเลือกตั้ง จึงอยากให้คำนึงด้วยว่าเราต้องใช้กติกานี้ตลอดไป อย่าคิดว่าผ่าน ๆ ไปก่อนไม่ได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายจุดที่เป็นปัญหาแน่นอน จึงไม่อยากให้มองว่าเกิดการเลือกตั้งได้หรือไม่ แต่ต้องมองว่าถ้าจะเลือกตั้งได้ต้องอยู่ในภาวะอย่างไร เมื่อมีการรัฐประหารแล้วสังคมตั้งความหวังให้สะสางปัญหาเดิมเพื่อเดินไปข้างหน้า แต่ตนเห็นว่าสังคมจะเดินหน้าอย่างราบรื่นได้ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สปช. ต้องปลดสลักแล้วกลับมาตั้งหลักกันใหม่



 รวมข่าว ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 แบบทั้งหมด


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อภิสิทธิ์ หนุน สปช. ปลดสลักคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แนะ คสช. เปิดใจหารือ อัปเดตล่าสุด 27 สิงหาคม 2558 เวลา 18:05:06 6,486 อ่าน
TOP