x close

อุกกาบาต-ดาวตก คืออะไร อันตรายแค่ไหนต่อมนุษย์ ?




          ข่าวอุกกาบาตตกในไทย กลายเป็นเรื่องราวที่สร้างความแตกตื่นและสงสัยให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ที่จู่ ๆ ก็มีคนเห็นลูกไฟปริศนาและกลุ่มควันขนาดใหญ่บนท้องฟ้า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 กันยายน 2558 และผ่านพ้นไปเพียงไม่ถึง 2 เดือน ก็เกิดแสงไฟสว่างวาบอีกครั้ง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 เป็นลูกไฟสีเขียวที่ช่วงหางเป็นควันสีส้ม

อุกกาบาต-ดาวตก คืออะไร อันตรายแค่ไหนต่อมนุษย์ ?
   ภาพลูกไฟสีส้ม เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 จาก Porjai Jaturongkhakun สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม


ภาพลูกไฟสีเขียว เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 จาก Saran Pol สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

             โดยภายหลังมีนักวิชาการออกมาไขข้อสงสัยตรงกันว่า ลูกไฟที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน ดังกล่าวเป็น "อุกกาบาต" มีลักษณะที่ปรากฏโดยเห็นพุ่งเป็นทางยาวและมีความเร็วสูงที่เกิดการลุกไหม้ในบรรยากาศเป็นลูกไฟสว่าง เนื่องจากวัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงจะมีพลังงานเยอะ ไฟจึงสว่างและเห็นได้ทั่ว มีขนาดเล็กไม่เป็นอันตราย ขณะที่นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย ให้ข้อมูลว่า เป็นปรากฏการณ์ดาวตกประเภท "ดาวตกระเบิด" ส่วนแสงไฟสีเขียวที่สว่างวาบในวันที่ 2 พฤศจิกายน นั้น เป็น "ลูกไฟ" แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันชัดว่า ลูกไฟนั้น เป็นอุกกาบาตหรือไม่อย่างไร ขนาดเท่าไร และมีการตกลงพื้นผิวโลกหรือเปล่า

          ขณะที่ รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. ได้ออกมาเปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับนักวิเคราะห์จากองค์การบริหารการบิน และองค์การนาซา (NASA) ถึงลูกไฟสีเขียวที่เกิดขึ้นเหนือฟ้าเมืองไทยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่ามีการพบลูกไฟลักษณะเดียวกัน 14 ลูกทั่วโลก โดยองค์การนาซา คาดการณ์ว่าเกิดจากปรากฏการณ์ฝนดาวตกทอริดส์ หรือกลุ่มดาวพฤษภ ซึ่งต่อจากนี้จะสามารถพบเห็นได้จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีขนาดเท่าไร ทีมนักวิชาการอยู่ระหว่างวิเคราะห์พิกัดและลักษณะของลูกไฟ ซึ่งเกิดเหมือนกับลูกไฟที่ตกใน จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 เพียงแต่องค์ประกอบแตกต่างกัน 
         
          อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่หลายคนอยากรู้ ทางกระปุกดอทคอม จึงรวบรวมข้อมูลจากกรณีดังกล่าวมาฝาก ดังนี้

1. อุกกาบาต ดาวตก ผีพุ่งไต้ ลูกไฟ คืออะไร ต่างกันอย่างไร ?

          ก่อนจะรู้จักกับ อุกกาบาต ก่อนอื่นเราคงต้องมาทำความรู้จักกับคำว่า สะเก็ดดาว (meteoroid) เสียก่อน โดยเป็นชิ้นวัตถุแข็งจำพวกหินกับเหล็ก เกิดจากส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ และบางส่วนเกิดจากเศษที่แตกหักของดาวหาง วัตถุเหล่านี้ตอนอยู่ในอวกาศเรียกว่า สะเก็ดดาว 

          ต่อมาเมื่อสะเก็ดดาวโคจรเข้ามาอยู่ในรัศมีแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้มันถูกดึงดูดลงยังพื้นโลกด้วยความเร็วช่วง 19 ถึง 40 กิโลเมตรต่อวินาที จนเกิดการเสียดสีกับบรรยากาศจนร้อนจัดและหลอมตัวเป็นลูกไฟสว่าง ก็จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

          - ดาวตก หรือ ผีพุ่งไต้ (meteor) ใช้เรียกเมื่อสะเก็ดดาวเคลื่อนที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก จนเกิดความร้อนและแสงสว่าง ส่วนมากมักลุกไหม้หมดก่อนถึงพื้นโลก

          - อุกกาบาต (meteorite) ใช้เรียกชิ้นส่วนของสะเก็ดดาวที่สลายตัวไม่หมด จนตกลงมาถึงพื้นโลก แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 

                    หิน (Stone)

                    เหล็ก (Iron)

                    เหล็กปนหิน (Stone-Iron)

          ส่วน ฝนดาวตก (meteor shower) คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดดาวตกจำนวนมากในอัตราที่ถี่กว่าปกติ เกิดจากโลกโคจรฝ่าเข้าไปในธารอุกกาบาต ซึ่งสะเก็ดดาวเหล่านั้นก็จะตกลงสู่บรรยากาศโลกกลายเป็นดาวตก ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์บนโลก

          สำหรับ ลูกไฟ (Fireball) หรือโบลายด์ (Bolide) คือ ดาวตกที่ส่องแสงสว่างมาก ๆ เกิดจากวัตถุนอกชั้นบรรยากาศตกลงมาสู่โลก และเกิดการเผาไหม้จึงเห็นไฟเป็นสีต่าง ๆ โดยสีที่เห็นนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมี อาทิ 

                    สีแดง มีองค์ประกอบของไนโตรเจนและออกซิเจน 

                    สีเหลือง มีองค์ประกอบของไอรอน หรือเหล็ก 

                    สีม่วง มีองค์ประกอบของแคลเซียม 

                    สีส้มอมน้ำตาล มีองค์ประกอบของโซเดียม 

                    สีเขียวอมฟ้า มีองค์ประกอบของแมกนีเซียม 


ภาพลูกไฟสีต่าง ๆ จาก ทวิตเตอร์ @accuweather


2. วิธีสังเกตว่าเป็นอุกกาบาต หรือไม่ ?

          โดยปกติลูกอุกกาบาตจะมีลักษณะแปลกจากก้อนหินก้อนอื่น ๆ ดูจากตาเปล่า คือ

          - มีสีคล้ำไหม้เกรียมหรืออาจพบรอยริ้วเล็ก ๆ บนหน้า
          - มีน้ำหนักมากผิดปกติ เพราะมีส่วนประกอบของเหล็ก ไม่มีรูพรุน
          - ดึงดูดแม่เหล็ก


3. อุกกาบาตขนาดใหญ่แค่ไหนถึงจะล้างโลกได้ ?

          ขนาดที่เป็นอันตรายถึงขั้นล้างโลกได้ ต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 กิโลเมตรขึ้นไป แต่ส่วนใหญ่อุกกาบาตที่พบมักจะถูกเผาไหม้จนมีขนาดเล็กหรือสลายไปหมดนั่นเอง

4. ทุกวันนี้มีระบบตรวจจับ หรือไม่ อย่างไร

          หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงคือ National Aeronautics and Space Administration หรือ องค์การนาซา โดยมียานสำรวจอวกาศหรือแผนก NASA Spaceguard Survey คอยเฝ้าระวังและตรวจจับวัตถุขนาดใหญ่ก่อนที่มันจะเข้าใกล้โลก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุกกาบาต-ดาวตก คืออะไร อันตรายแค่ไหนต่อมนุษย์ ? อัปเดตล่าสุด 4 มีนาคม 2567 เวลา 23:02:32 29,798 อ่าน
TOP