มีชัย ฤชุพันธุ์ เปิดใจหลังนั่งเก้าอี้ประธาน กรธ. ชี้จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้





          มีชัย ฤชุพันธุ์ เปิดใจหลังนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชี้นายกฯ บอกจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ รับเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกคนพอใจ วางกรอบร่างฯ 5 ข้อ "สากลยอมรับ-มีส่วนร่วม-ปราบโกง-ปิดช่องการเมืองหาผลประโยชน์-ปรองดอง" ไม่หวั่นเสียงครหาคนรุ่นเก่า บอกรุ่นไหนไม่สำคัญอยู่ที่จะเปิดรับฟังความเห็นคนอื่นหรือไม่

          วันที่ 5 ตุลาคม 2558 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ แถลงข่าวภายหลังได้รับตำแหน่งประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ก่อนหน้าที่ตนไม่ได้ออกมาเสนอข่าว เพราะกระบวนการแต่งตั้งยังไม่ยุติและยังไม่เป็นทางการออกมา สำหรับข้อสงสัยที่ว่า ตนจะรับหรือไม่หากรับเพราะเหตุผลอะไร ตนอยากจะชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมาตนได้เข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. นายกฯ ได้ชวนตนมาเป็นประธาน กรธ. ตนจึงถามกลับไปว่า มีความจำเป็นขนาดไหนที่จะต้องให้ตนลงมาทำ นายกฯ กล่าวยืนยันว่า มีความจำเป็นอย่างมากและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อนายกฯ ยืนยันขนาดนั้น ตนก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปซักไซ้ให้มากกว่านี้ และในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่จะต้องให้ความร่วมมือตามกำลังความสามารถ ตนจึงไม่อยากเห็นแก่ความสุขส่วนตัว และไม่อยากโดนวิจารณ์ว่า ไม่รู้จักทดแทนบุญคุณแผ่นดิน

          "งานนี้ไม่ง่าย อุปสรรคไม่น้อย แต่เมื่อนึกว่า ทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในการทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ผมก็ต้องทนและจะต้ั้งใจทำให้ดีที่สุด เหตุที่ต้องรอวันนี้ที่จะต้องเปิดเผย เพราะมีขั้นตอนตามกฎหมาย จึงต้องรอ คสช. เมื่อประชุม คสช. นายกฯ ก็ถามย้ำว่า รับได้ไหม ผมเลยบอกว่า รับได้" นายมีชัย กล่าว

          นายมีชัย กล่าวต่อว่า ส่วนในประเด็นที่มีคนสงสัยว่า การทำงานของตนจะไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะต้องร่างรัฐธรรมนูญตามที่มีคนสั่งนั้น ตนเห็นว่า การร่างรัฐธรรมนูญไม่มีใครสามารถทำได้ตามใจปรารถนา เพราะไม่ได้ร่างเพื่อเก็บไว้ใช้ในบ้าน แต่เป็นการร่างเพื่อใช้กับคนทั้งประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีกรอบในการร่าง กรอบที่ 1 คือ กรอบตามร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 35 และกรอบที่ คสช. กำหนดขึ้น ดังนี้

          1. ร่างรัฐธรรมนูญต้องได้รับการนับถือสากล และสอดรับกับวิถีชีวิตของคนไทย

          2. ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูป และการปรองดอง

          3. ต้องไม่ให้การเมืองแสวงหาผลประโยชน์ โดยใช้เงินแผ่นดินอ่อยเหยื่อ จนไม่ได้มุ่งหมายให้ประชาชนมีความสุขในระยะยาว ซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤตที่หาทางออกไม่ได้

          4. ต้องมีแนวทางในการขจัดทุจริตคอร์รัปชัน

          5. สร้างกลไกให้มีส่วนร่วมของประชาชนที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และรับผิดชอบกับความเจริญของประเทศ

          เมื่อถามว่า จะมีการนำร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้มาใช้หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ต้องไปปรึกษากับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 20 คนก่อน และจะมีการเรียกประชุมในวันพรุ่งนี้ (6 ตุลาคม 2558) เวลา 13.30 น. ซึ่งจะต้องมีการประชุมทุกวัน เพราะระยะเวลาค่อนข้างสั้น อีกทั้งยังต้องรับฟังความเห็นส่วนรวม เพื่อนำมาระดมความคิด อย่างไรก็ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแตกต่างจากที่ผ่านมา เพราะช่องทางการสื่อสารพัฒนาไปมากจนกระทั่งความคิดต่าง ๆ หลั่งไหลพรั่งพรูได้ในหลายรูปแบบ การที่จะทำร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกใจทุกคนเป็นเรื่องยาก สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรจะให้ประเทศเดินหน้าไปได้และทุกฝ่ายพอรับได้

          เมื่อถามว่า จะมีการทำประชามติหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า การทำประชามติมีความจำเป็นเพราะจะทำให้ประชาชนได้รับรู้ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมถึงกฎหมายทั่วไป ทั้งนี้ การทำประชามติจะใช้คะแนนของคนที่มาออกเสียง

          เมื่อถามอีกว่า มีหลายฝ่ายห่วงว่าเป็นคนรุ่นเก่า นายมีชัย กล่าวว่า คนรุ่นไหนไม่สำคัญ สำคัญที่คุณเปิดใจกว้างรับฟังคนอื่นหรือไม่ บางคนเป็นรุ่นใหม่เมื่อมีความขัดแย้งหรือไม่เห็นด้วยก็จะด่าไม่ยั้งแต่ตนไม่เป็นอย่างนั้น เพราะการฟังคนอื่นเสนอแนะไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย แต่เป็นเรื่องที่ดี


          "การร่างรัฐธรรมนูญต้องเสร็จก่อน 180 วัน เพื่อส่งไปให้รับฟังความเห็นแล้วกลับมาแก้ ตรงนั้นคือเรื่องน่าห่วงเพราะเวลามันจะสั้น จึงต้องกะเวลาในการทำงานให้ดี" นายมีชัย กล่าวทิ้งท้าย


 รวมข่าว ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 แบบทั้งหมด

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Wassana Nanuam







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มีชัย ฤชุพันธุ์ เปิดใจหลังนั่งเก้าอี้ประธาน กรธ. ชี้จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ อัปเดตล่าสุด 5 ตุลาคม 2558 เวลา 14:50:10 6,753 อ่าน
TOP
x close