x close

ศาลรับฟ้อง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ขอเพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการ



ศาลรับฟ้อง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ขอเพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการ

ศาลรับฟ้อง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ขอเพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการ
 
            ศาลปกครองกลาง รับฟ้อง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คดีขอเพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.)

 
           วันที่ 12 ตุลาคม 2558 มีรายงานว่า สำนักงานศาลปกครองกลาง มีหนังสือถึงทีมทนายความของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจ้งคำสั่งรับฟ้องคดีที่ นายสมศักดิ ์ฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
 
โดยเนื้อหาคำฟ้องสามารถสรุปได้เป็นรายประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
 
1. เหตุแห่งการไล่ออกจากราชการ
 
           เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2558 นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นจำเลยที่ 1 และ ก.พ.อ. เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง จากกรณีที่มีคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558 เรื่องลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป โดยมหาวิทยาลัยยังไม่อนุมัติคำขอไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ และยังไม่มีคำสั่งอนุมัติหนังสือขอลาออกจากราชการของผู้ฟ้องคดี ต่อมาวันที่  16 มีนาคม 2558 ผู้ฟ้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ต่อ ก.พ.อ. แต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 ก.พ.อ. มีมติให้ยกอุทธรณ์
 

2. สถานการณ์ก่อนรัฐประหาร ภัยคุกคามต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ
 

           ก่อนรัฐประหาร ผู้ฟ้องคดีได้ถูกข่มขู่ คุกคาม อย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ และถูกแจ้งความดำเนินคดีที่ สน.นางเลิ้ง ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และได้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้การในรายละเอียด และต้องหารสู้คดีจนถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 พ.อ. วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ว่าได้ให้ฝ่ายกฎหมายของกองทัพตรวจสอบและจะใช้มาตรการทางสังคมกดดันผู้ฟ้องคดี
 
           จากนั้นวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 ได้มีคนร้ายไม่ทราบชื่อ 2 คน ใช้อาวุธปืนยิงบ้านของผู้ฟ้องคดีในเวลากลางวันจำนวนหลายนัด เป็นเหตุให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย แม้จะไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่ผู้ฟ้องคดีรู้สึกหวาดกลัว มีผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นการพยายามฆ่า
 
           หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ผู้ฟ้องคดียื่นเรื่องขออนุญาตไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ เรื่องปรัชญาประวัติศาสตร์และสังคมของเฮเกล ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2557-วันที่ 31 กรกฎาคม 2558 โดยทางหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์มีความเห็นควรอนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีลาไปปฏิบัติงานได้ และให้เสนอความเห็นให้คณะกรรมการประจำคณะศิลปศาสตร์ต่อไป ในระหว่างนั้นผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ
 
3. สถานการณ์หลังรัฐประหาร

           ภายหลังการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่ง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2558 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่ 5/2557 ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เป็นคำสั่งที่ออกมาโดยไม่ชอบด้วย อีกทั้ง คำสั่งดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุเหตุผลในการเรียกให้ไปรายงานตัวและไม่ปรากฏผลภายหลังการรายงานตัว ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ไปรายงานตัว
 
4. เหตุแห่งการไม่ไปรายงานตัว

           ผู้ฟ้องคดีให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า การรัฐประหารถือเป็นการกระทำความผิดข้อหากบฏ เป็นการล้มล้างการปกครองประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ตนจึงไม่ประสงค์จะเข้าร่วมกับ คสช. ไม่ยอมรับอำนาจการรัฐประหารของ คสช. จึงไม่ไปรายงานตัว และตนไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ประกอบกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ ได้บัญญัติให้บุคคลมีสิทธิ์ต่อต้านโดยสันติ และบุคคลมีหน้าที่จะต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  ตามมาตรา 69 และมาตรา 70 ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร
 
           รวมทั้งขณะนั้นยังมีประชาชนออกมาต่อต้านการรัฐประหาร สถานทูตและองค์การระหว่างประเทศได้แสดงความห่วงกังวลและขอให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว และยังไม่ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้า คสช. แต่อย่างใด จึงอาจเป็นไปได้ว่าการรัฐประหารของ คสช. ยังไม่สำเร็จ หากไปรายงานตัวอาจจะถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มกบฏ และอาจจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในภายหลัง และแม้ว่าภายหลังการรัฐประหารกระทำการสำเร็จ  แต่ก็ยังถือว่าเป็นความผิดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เมื่อประเทศกลับไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย คณะรัฐประหารและผู้ที่เข้าร่วมกับการรัฐประหารก็อาจจะถูกดำเนินคดีย้อนหลังได้
 
           นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดียังทราบจากสื่อมวลชนว่า บุคคลที่ไปรายงานตัวหรือถูกจับจะถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา 7 วัน  โดยไม่มีความผิด ซึ่งการควบคุมตัวดังกล่าวจะไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว และไม่ให้ติดต่อกับญาติหรือทนายความ ไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าเยี่ยม ทำให้ไม่ทราบชะตากรรมว่า เมื่อถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกแล้วจะมีความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และจิตใจแค่ไหนอย่างไร หากผู้ฟ้องคดีไปรายงานตัวผู้ฟ้องคดีอาจต้องถูกกักขังอันเป็นการละเมิดเสรีภาพของผู้ฟ้องคดี และอาจจะต้องถูกดำเนินคดีในภายหลังได้ด้วย
 
           ประกอบกับ คสช. ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ให้บุคคลที่ไม่รายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เป็นความผิดอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจ และออกประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาความผิดตามประกาศคำสั่ง คสช. และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาบางมาตรา ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ประกอบกับต้องขึ้นศาลทหารทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้น
 
5. การดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีไม่มีความชอบธรรม

           กรณีที่เกิดขึ้นเห็นได้ว่า หากผู้ฟ้องคดียังอยู่ในประเทศไทยจะต้องถูกข่มขู่คุกคามทั้งโดยกระบวนการทางกฎหมายและที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย จากการที่เห็นต่างกับอำนาจรัฐซึ่งมีที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีจะได้รับภัยอันตรายต่อเสรีภาพและความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ทำให้ไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ และเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 ประเทศฝรั่งเศสได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ผู้ฟ้องคดี และอนุญาตให้พักอาศัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสอย่างถาวร ตามหลักอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย (Convention Relating to the Status of Refugees)
 
           อีกทั้งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการเรียกรายงานตัวโดย คสช. ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความขัดแย้งกับตน จะเกิดภัยคุกคามแก่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ผู้ฟ้องคดีจึงเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้อันเป็นเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง และหลังการเข้ายึดอำนาจของ คสช. ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใดอีก ในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภายใต้การปกครองในระบอบทหารต่อไป
 
           ทั้งยังเห็นได้ชัดว่าการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีลาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้เป็นไปอย่างล่าช้า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ผู้ฟ้องคดีจึงทำหนังสือขอลาออกจากราชการ เพื่อไปประกอบอาชีพใหม่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2557 ทั้งที่ความจริงแล้ว ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไป แต่ในวันเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และแม้ผู้ฟ้องคดีจะอุทธรณ์แล้ว แต่ ก.พ.อ. ก็มีมติให้ยกอุทธรณ์
 
6. ขอให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการ

           ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ลงโทษไล่ออกจากราชการ และคำสั่ง ก.พ.อ. ที่ยกอุทธรณ์ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงฟ้องร้อง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผู้ถูกฟ้องคดีที่  1 และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 356/2558 เรื่อง ลงโทษออกจากราชการ และขอให้เพิกถอนผลการอุทธรณ์คำสั่งที่ ศธ.0592 (3) 1.9/6266 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2558

ภาพจาก เฟซบุ๊ก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, tlhr2014.wordpress.com

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

tlhr2014.wordpress.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศาลรับฟ้อง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ขอเพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการ อัปเดตล่าสุด 12 ตุลาคม 2558 เวลา 13:27:21 9,257 อ่าน
TOP