x close

สรุปข้อมูล "แสงสีเขียว" สว่างวาบทั่วไทย แบบถาม-ตอบ ฉบับเข้าใจง่าย



แสงสีเขียว

          สรุปข้อมูล "แสงสีเขียว" สว่างวาบทั่วประเทศไทย แบบถาม-ตอบ ฉบับเข้าใจง่าย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคืออะไรกันแน่ ดาวตก ลูกไฟ อุกกาบาต ทางสมาคมดาราศาสตร์ได้รวมข้อมูลมาให้แล้ว


          จากกรณีที่เมื่อคืนที่ผ่านมา (2 พฤศจิกายน 2558) ประชาชนในหลายพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทย พบเห็นลำแสงประหลาดสว่างวาบ พุ่งลงมาจากท้องฟ้า โดยแสงดังกล่าวมีลักษณะคล้ายลูกไฟสีเขียวและมีหางยาวสีส้ม ก่อนที่จะระเบิดและหายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นเพียง 2-3 วินาทีเท่านั้น [อ่านข่าว ฮือฮา ลำแสงประหลาดพุ่งสว่างวาบเหนือท้องฟ้าทั่วไทย - สดร.ชี้เป็นดาวตก]

          ทั้งนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้หลายคนสงสัยว่า แสงสว่างวาบที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแสงจากอะไรกันแน่ อุกกาบาต ดาวหาง หรือว่าลูกไฟ และเศษซากของมันที่ระเบิดหายไปได้ตกลงมาที่พื้นโลกหรือไม่ วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2558) เราขอนำข้อมูลจาก สมาคมดาราศาสตร์ไทย และ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ที่อธิบายถึงเรื่องราวดังกล่าวอย่างเข้าใจง่าย มาให้ได้ทราบกัน

แสงสีเขียว

          โดย รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  ระบุว่า แสงสีเขียวดังกล่าว คาดว่าเป็นวัตถุขนาดเล็กจากนอกโลกพุ่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก และจากหลักฐานที่ปรากฏให้เห็นทั้งภาพถ่ายและคลิปวิดีโอนั้น จะเห็นได้ว่าลูกไฟพุ่งพาดผ่านไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เห็นในหลายจังหวัดของประเทศไทย เช่น กรุงเทพฯ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครสวรรค์ ขอนแก่น พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ อ่างทอง เชียงใหม่

          และจากภาพดังกล่าวสันนิษฐานได้ว่า แสงสีเขียวนั้นเกิดจาก "ลูกไฟ" หรือ Fireball ซึ่งเกิดจากวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูง เสียดสีจนเกิดความร้อนจนลุกไหม้ จึงเห็นเป็นลูกไฟสว่างและมีควันเป็นทางยาว

          ทั้งนี้ ลูกไฟดังกล่าวเป็นลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 แต่ครั้งนั้นเห็นเป็นลูกไฟสีส้ม ส่วนลูกไฟที่มีสีเขียว คาดว่าน่าจะมีโครเมียมเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่พบในอุกกาบาตเหล็ก

          สำหรับวัตถุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ได้มีอยู่หลายชนิด อาทิ เศษซากดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางที่ผ่านเข้ามาใกล้โลกเสมอ ๆ หรือเศษซากดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งานและถูกปล่อยทิ้งไว้ในวงโคจร ก็อาจถูกแรงดึงดูดของโลกดึงกลับมาในชั้นบรรยากาศก็เป็นได้ เหตุการณ์นี้นับเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นในประเทศไทย เพราะเห็นได้ถึง 2 ครั้ง ในรอบ 2 เดือน แต่ไม่ต้องตื่นตระหนกเพราะโอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก ในแต่ละวันจะมีวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกเป็นจำนวนมาก โดยทั่วไปจะเห็นเป็นลักษณะคล้ายดาวตก ในทางดาราศาสตร์ถือเป็นเรื่องปกติและสามารถอธิบายได้

          อย่างไรก็ดี จากการรวบรวมหลักฐาน ก็ยังไม่สามารถให้ข้อสรุปได้ชัดเจน เป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้น และหากใครมีหลักฐานเป็นภาพหรือคลิปก็สามารถแจ้งไปได้ที่  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ทางโทรศัพท์หมายเลข 091-067-9658 หรือ 098-071-4558

          ขณะที่ทางเพจ สมาคมดาราศาสตร์ไทย ก็ได้ตอบคำถามที่ทุกคนอยากรู้และส่งมาถามในกล่องข้อความจำนวนมาก เลยขอสรุปไว้เป็นข้อ ๆ ต่อไปนี้

Q : วันนี้เห็นแสงวาบสีเขียวช่วงหัวค่ำ มันคืออะไรครับ ?

          A : จากการสันนิษฐาน เป็นดาวตกที่มีความสว่างมากหรือที่เรียกกันว่าไฟร์บอลครับ

Q : ยืนยันได้ไหมครับ ?

          A : ยืนยันได้แล้วครับ

Q : แล้วไฟร์บอลมันคืออะไรครับ ?

          A : ไฟร์บอลก็คือดาวตกดี ๆ นี่เอง ซึ่งมันก็คือวัตถุจากนอกชั้นบรรยากาศโลกตกลงมาสู่โลก เกิดการเผาไหม้ เห็นไฟลูกไฟสีต่าง ๆ ความสว่างขึ้นอยู่กับขนาดของมัน

Q : แล้วทำไมมันเป็นสีเขียวล่ะครับ ?

          A: เป็นเพราะองค์ประกอบทางเคมีของมันครับ

Q : แล้วมันมีผลกระทบต่อโลกไหมครับ ?

          A : ไม่มีครับ ยกเว้นว่าเผาไหม้ไม่หมด แล้วตกลงมาเป็นอุกกาบาตครับ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น น้อยกว่าโอกาสถูกหวยรางวัลที่ 1 อีกครับ

แสงสีเขียว

Q : เห็นใช้คำว่า ดาวตก, ไฟร์บอล, อุกกาบาต สรุปมันคืออะไรกันแน่ ?

          A : ดาวตกเป็นเหตุการณ์ที่วัตถุจากนอกบรรยากาศโลกตกลงมาสู่โลกเห็นเป็นแสงวาบเวลาสั้น ๆ ไฟร์บอลคือดาวตกที่สว่างมาก อุกกาบาตคือดาวตกที่เผาไหม้ไม่หมด แล้วตกลงสู่พื้นโลก

Q : มีใครเจอซากอุกกาบาตหรือยังครับ ?

          A : มีการรายงานการพบซากเข้ามาแล้วครับ แต่ยังยืนยันไม่ได้ครับว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วันนี้หรือไม่

Q : มีคลิปไหมครับ ?

          A :
world_id:563771f34d265a81328b4573

Q : เห็นแชร์กันบอกว่า สมาคมฯ บอกว่าเป็นอิริเดียวแฟร์ ใช่ไหมครับ ?

          A : ไม่ใช่ครับ กรณีเดือนมีนาคมนั้นเป็นความเข้าใจผิดของ 2 เหตุการณ์ที่เกิดใกล้กันครับ ซึ่งสมาคมฯ เคยชี้แจงไปแล้ว ที่เว็บนี้ครับ thaiastro.nectec.or.th

Q : แล้วครั้งที่แล้วที่เห็นตอนกลางวันเป็นแบบเดียวกันไหม ?

          A : ครั้งที่แล้วเมื่อวันที 7 กันยายน ก็เป็นไฟร์บอลเช่นเดียวกันครับ แต่สว่างจนเห็นได้ในตอนกลางวัน

Q : แล้วครั้งหน้าจะเกิดอีกเมื่อไร ?

          A : ตอบไม่ได้ครับ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ แต่บอกได้ว่าตามฤดูฝนดาวตกใหญ่ ๆ อย่างฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต ก็มีโอกาสเห็นได้ครับ แต่อาจจะไม่สว่างเท่านี้

Q : เห็นแล้วจะโชคดีไหมครับ ?

          A : ถ้ามองในแง่วิทยาศาสตร์แล้ว โชคดีมากครับ เพราะเหตุการณ์อย่างนี้หาดูยากมากครับ ยิ่งความสว่างระดับนี้ด้วยแล้ว หายากมาก ๆ ครับ

Q : อยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมอะครับ ทำอย่างไรดี ?

          A : ลองเข้าไปอ่านคลังคำถาม-คำตอบได้ที่นี่ครับ thaiastro.nectec.or.th

Q : แล้วจะตอบข้อความของผม/หนูไหมครับ/คะ ?

          A : ถ้าเป็นคำถามที่ตอบในโพสต์นี้แล้ว ขออนุญาตตอบเป็นลิงก์มายังโพสต์นี้นะครับ

Q : แชร์ได้ไหมครับ ?

          A : แชร์ได้ครับ แต่รบกวนอย่าก๊อปแปะครับ เพราะข้อมูลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดครับ แล้วก็อย่าลืมกดไลค์เพจสมาคมดาราศาสตร์ไทยด้วยนะครับ

ภาพจาก เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page, Bas Sukawit, Saran Pol สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปข้อมูล "แสงสีเขียว" สว่างวาบทั่วไทย แบบถาม-ตอบ ฉบับเข้าใจง่าย อัปเดตล่าสุด 3 พฤศจิกายน 2558 เวลา 13:51:11 98,229 อ่าน
TOP