x close

ดราม่าควันหลงลอยกระทง ! ชี้ต้นเหตุน้ำเน่ามาจากกระทงขนมปัง



ดราม่าควันหลงลอยกระทง ! ชี้ต้นเหตุน้ำเน่ามาจากกระทงขนมปัง

            ดราม่าหนัก ! ควันหลงเทศกาลลอยกระทง 2558 ประชาชนแห่ลอยกระทงขนมปัง ชี้มีผลเสียมากกว่าผลดี หลังกระทงขนมปังล้นแม่น้ำ ปลาไม่กิน ทำน้ำเน่าเสียหนักกว่าเดิม
 
           เป็นประเด็นที่คนพูดถึงและมีการถกเถียงกันพอสมควร สำหรับเรื่องขยะและน้ำเน่าเสียจากประเพณีความเชื่อของไทยอย่างเทศกาลลอยกระทง ที่จะลอยกระทงกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี เพื่อสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ และเพื่อขอขมาพระแม่คงคาที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำทำให้น้ำไม่สะอาด แต่ในปัจจุบันพบว่าการลอยกระทง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ที่มีประชาชนต่างนำกระทงที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ, โฟม โดยเฉพาะกระทงที่ทำมาจากขนมปังมาลอยเป็นจำนวนมาก กลับเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้น้ำเน่าเสีย

           อย่างล่าสุด (30 พฤศจิกายน 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตามสถานที่จัดงานวันลอยกระทงของ จ.พิษณุโลก ต่างพบว่ามีขยะจากถุงพลาสติก แก้วน้ำ ถ้วยโฟม และวัสดุที่นำมาทำกระทงจำนวนมาก ทำให้พนักงานกวาดขยะต้องนำขยะมากองรวม ๆ กันไว้ ซึ่งส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วและพบว่ามีขยะมากกว่าปกติ เกือบ 10 เท่า

           ขณะเดียวกันที่แม่น้ำน่าน นอกจากจะพบกระทงที่ทำจากหยวกกล้วยลอยติดกอหญ้าแล้วยังพบว่ามีกระทงที่ทำจากขนมปังหรือกรวยไอศกรีมชนิดต่าง ๆ ที่ประชาชนเข้าใจว่ากระทงเหล่านี้จะเป็นอาหารของปลาหลงเหลืออยู่ ซึ่งในความจริงแล้วเมื่อขนมปังถูกน้ำก็จะนิ่มทำให้เก็บขึ้นยากกว่าปกติ

           โดยเป็นไปในทางเดียวกับ รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นลงเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant  ระบุว่า เมื่อเทศกาลลอยกระทงปีที่แล้วตนเองได้โพสต์ว่า น่าจะเปลี่ยนจากเทศกาลลอยกระทงที่เป็นการสร้างขยะมหาศาลต่อแม่น้ำ มาเป็นกิจกรรมที่สร้างให้คนได้ทำร่วมกันจะดีกว่า เช่น การปล่อยปลาลงแม่น้ำ แต่ผลคือถูกด่าเละ ซึ่งปีนี้ตนเองได้ยกคำพูดของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มายืนยันว่า การลอยกระทงนั้นส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมจริง ๆ และการปลูกฝังให้ลูกหลานทิ้งขยะลงแหล่งน้ำคนละเล็กคนละน้อยนั้น ไม่เป็นไร (ซึ่งไม่จริง)

ดราม่าควันหลงลอยกระทง ! ชี้ต้นเหตุน้ำเน่ามาจากกระทงขนมปัง

           ทั้งนี้ รศ. ดร.เจษฎา กล่าวอีกว่า โดยเฉพาะกระทงที่ทำมาจากขนมปังทำให้น้ำเน่าเสียมากกว่าอย่างอื่น เนื่องจากกระทงขนมปังเป็นสารอินทรีย์ลงน้ำก็ยุ่ยและเน่าอย่างรวดเร็ว จะเก็บขึ้นแบบกระทงใบตองหรือกระทงโฟมก็ไม่ได้ และปลาก็ไม่ค่อยกิน หรือหากปลากินก็กินไม่เยอะ ทำให้ขนมปังล้นกลายเป็นอาหารจุลินทรีย์ ส่งผลให้น้ำเน่าเสียหนักขึ้นอีก [อ่านข่าว : อ.เจษฎา ชี้ลอยกระทงส่งผลเสีย-เชื่อกระทงขนมปังทำน้ำเน่า]

           ขณะที่ นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ก็ได้กล่าวเช่นกันว่า ในเทศกาลลอยกระทงปีนี้ขอความร่วมมือทุกคนช่วยกันรณรงค์ใช้วัสดุลอยกระทงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ สามารถเก็บขึ้นได้ง่าย และควรหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุจากโฟมและพลาสติก เพราะใช้เวลาในการย่อยสลายนานมากและเป็นอันตรายกับสัตว์น้ำ รวมถึงกระทงจากขนมปัง หากอยู่ในแหล่งน้ำปิด แม้สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ แต่หากมีปริมาณมากก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย เพราะขนมปังมีส่วนประกอบที่เป็นสารอินทรีย์คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน หากมีสารอินทรีย์ในปริมาณมากและจุลินทรีย์ต้องการปริมาณออกซิเจนเพื่อการหายใจและย่อยสลายวัสดุจากธรรมชาติก็จะยิ่งทำให้น้ำเสียเร็วขึ้น

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
newsplus.co.th, pptvthailand.com, คุณ idiosy  สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดราม่าควันหลงลอยกระทง ! ชี้ต้นเหตุน้ำเน่ามาจากกระทงขนมปัง อัปเดตล่าสุด 30 พฤศจิกายน 2558 เวลา 16:18:15 17,178 อ่าน
TOP