กทม. ส่งคนทดสอบ ถอดรองเท้า-มือแตะเสากล้อง CCTV ไม่พบไฟรั่ว


 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

          กทม. ส่งเจ้าหน้าที่ลุยตรวจเสากล้อง CCTV หลังไฟรั่วทำคนเสียชีวิต แจงทดสอบไฟรั่วด้วยวิธีถอดรองเท้า และใช้มือจับเสาไฟ ก็ไม่พบไฟรั่ว คาดต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

          จากกรณีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2559 ได้มีผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟดูดบริเวณปากซอยพหลโยธิน 47 ซึ่งเป็นบริเวณใกล้เคียงกับจุดติดตั้งกล้อง CCTV ของ กทม. ต่อมา ในวันที่ 11 มกราคม 2559 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เร่งดำเนินการตรวจสอบเสาของกล้องทีวีวงจรปิดดังกล่าวว่า มีการรั่วจริงหรือไม่ พร้อมกำชับให้มีการตรวจสอบเสาติดตั้งกล้อง CCTV ทุกพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ที่มีอยู่มากกว่า 10,000 เสา และติดตั้งกล้องกว่า 50,000 ตัว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

          ล่าสุด (12 มกราคม) นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กล่าวว่า ภายหลังที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเรื่องที่เกิดขึ้น ทาง สจส. ก้ได้ประสานงานไปยังบริษัทที่รับจ้างติดตั้งกล้อง CCTV ให้ กทม. เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมกัน ว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วหรือไม่นั้น ซึ่งขณะนี้ได้มีเจ้าหน้าที่กระจายกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว โดยใช้วิธีทดสอบด้วยการไม่สวมใส่รองเท้า ใช้เท้าแตะพื้นดิน แล้วเอามือจับที่เสาไฟ เบื้องต้น ยังไม่พบเสาไฟฟ้าใดที่มีกระแสไฟรั่ว

          ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบการรั่วของกระแสไฟฟ้าที่เสากล้อง CCTV ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 2 วัน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ตรวจสอบว่าอยู่ในมาตรฐานหรือไม่ โดยในส่วนนี้ต้องใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 2 สัปดาห์ จึงสามารถสรุปผลการตรวจสอบได้  

          ส่วนกรณีที่พนักงานการไฟฟ้านครหลวง บางเขน ระบุว่า บริษัทรับจ้างติดตั้งกล้อง CCTV ให้ กทม. ต่อสายไฟผิดระบบ เป็นเหตุให้เกิดไฟรั่วนั้น นายทวีศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหากระแสไฟฟ้ารั่วหรือขัดข้องนั้น มีทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน และโดยปกติแล้วการติดตั้งเสาไฟฟ้าจะได้รับการตรวจสอบจากการไฟฟ้านครหลวงทุกครั้ง ก่อนมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าจริง ทั้งนี้ หากการติดตั้งสายไฟหรืออุปกรณ์ไม่เรียบร้อย ไม่ได้มาตรฐาน การไฟฟ้าจะไม่ปล่อยกระแสไฟฟ้าให้ ดังนั้นเสาไฟที่เกิดเหตุขณะนี้จึงยังสรุปไม่ได้ว่าไฟฟ้ารั่วจากจุดใด และยังไม่ทราบว่าสายไฟขาดหรือชำรุดในส่วนใด จึงจำต้องตรวจสอบโดยละเอียด

          นายทวีศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับอุปกรณ์ รวมถึงสายไฟที่บริษัทผู้รับจ้างนำมาติดตั้งให้ กทม. นั้นได้มาตรฐานทุกชิ้น และมีอายุการใช้งานตั้งแต่ 5-20 ปี

ภาพจาก brighttv.co.th

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

   

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กทม. ส่งคนทดสอบ ถอดรองเท้า-มือแตะเสากล้อง CCTV ไม่พบไฟรั่ว โพสต์เมื่อ 12 มกราคม 2559 เวลา 16:43:04 54,786 อ่าน
TOP
x close