x close

ผู้ร่วมฟังเสวนาวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จุฬาฯ ชูป้าย NO ยกห้อง




          คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนา อวสานโลกสวย : วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ด้านนิสิต นักศึกษา และประชาชนต่างชูป้าย NO ให้กับร่างรัฐธรรมนูญยกห้อง ขณะที่คณะอาจารย์ชี้ยังมีจุดอ่อนอีกมาก  

          เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 ในการเสวนา หัวข้อ "อวสานโลกสวย : วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559" ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี นายศุภชัย ยาวะประภาษ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. และคณะอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ มีจุดที่น่าสนใจคือนิสิต นักศึกษาและประชาชนที่มาร่วมฟังทั้งหมดต่างเลือกที่จะชูป้าย NO ให้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

          นายอมร ระบุว่า กรธ. 21 ท่าน ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน ซึ่งวันนี้ตนได้ฟังความเห็นจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พบว่ายังมีความไม่เข้าใจอยู่บางเรื่อง ตนไม่มีประสบการณ์ด้านการเมืองโดยตรง แต่ก็มองว่าการร่างรัฐธรรมนูญเป็นงานวิชาการมากกว่าการเมือง ซึ่งทุกคนก็ทำการบ้านหนักก่อนร่างมาตรา และต้องตอบคำถามที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้ได้



          ขณะที่นายศุภชัย กล่าวว่า ในการประชุมครั้งแรก ๆ มีการคุยกันว่าหลักการร่างรัฐธรรมนูญมีดังนี้

          1. ตั้งใจเขียนเฉพาะหลักการให้อยู่ได้นาน สามารถเปลี่ยนตามยุคสมัยโดยให้รัฐบาลเป็นคนเปลี่ยนแปลงตามสมควรในแต่ละสมัย
          2. อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เขียนแล้วปฏิบัติไม่ได้
          3.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกง ซึ่งยังต้องมีนักการเมืองแต่ไม่ต้องการให้นักการเมืองที่ขี้โกงเข้ามา

          นายศุภชัย กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญจะเอาไปปฏิบัติจริงไม่ได้หากไม่ปฏิรูปการศึกษา ในบทเฉพาะกาลจึงมีการพูดถึงการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายโดยเริ่มที่ตำรวจ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีคำว่าบัตรเลือกตั้งเพราะเมื่อโลกเปลี่ยน การลงเสียงอาจไม่ใช้บัตรเลือกตั้ง รวมทั้งพยายามให้มีนักการเมืองที่ไม่มีประวัติทุจริตเข้ามา จึงเพิ่มอำนาจหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นต้น

          ด้าน น.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สามารถแบ่งการวิเคราะห์แยกประเด็น คือ ความเป็นสถาบันการเมืองอ่อนแอลง เสียงกลืนหาย ประสิทธิภาพระบบการเมืองเบี้ยวเอียงจนถูกคว่ำได้ โดยการลดเสียงของประชาชนรัฐบาลจะถูกทำให้อ่อนแอ รัฐจะเข้มแข็ง ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 จะรองรับสิทธิผิดกับรัฐธรรมนูญนี้ที่จะถอดถอนสิทธิหลายอย่าง จนแทบไม่เป็นสถาบันการเมือง

          และนักการเมืองจะเลวร้ายยังไงก็ห้ามไม่ได้แต่ต้องสามารถตรวจสอบได้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ที่ผ่านมาระบบการเลือกตั้งอาจเอื้อให้กับพรรคใหญ่แต่การลดสิทธิพรรคใหญ่นั้นต้องไม่ทำให้การจัดสรรคะแนนไม่เป็นธรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้พรรคมีสิทธิ์โหวตชื่อผู้สมัครนายกฯ ต้องได้ที่นั่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของการเลือกตั้ง จากการเลือกตั้งที่ผ่านมามีเพียง 3 พรรคเท่านั้น และเมื่อไม่มีใครกุมเสียงข้างมาก พรรคอันดับสามจะเป็นตัวแปรว่าจะเข้าร่วมกับพรรคใดและมีอำนาจต่อรองเยอะ ซึ่งจะเป็นการบิดเบือนเสียงของประชาชน และจำนวน ส.ส จะแกว่งไปเป็นปีจากการกำหนดจำนวน ส.ส. เขต ที่หากได้ใบแดงที่นั่งพรรคก็จะหายไปด้วย จึงเห็นว่าระบบนี้มีจุดอ่อนเกินไป 

          นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาไม่ได้ดุลยภาพทางการเมือง และเทอำนาจให้องค์กรตุลาการมาก โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้าไปใช้อำนาจแทนฝ่ายนิติบัญญัติได้ เป็นหลักการใหม่ รวมทั้งคำสามารถวินิจฉัยให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งได้ จากเดิมที่เป็นอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ซึ่งตนคิดว่าขัดแย้งกับหลักการตรวจสอบและรับผิดชอบในทางรัฐธรรมนูญ

          ขณะที่ นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่า ปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือความถดถอยทางการเมืองภาคประชาชน ไร้จินตนาการในฐานคิดของการเมืองภาคประชาชนโดยสิ้นเชิง ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ที่เขียนเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนชัดเจน


ภาพจาก thinkbox007 สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
  


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผู้ร่วมฟังเสวนาวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จุฬาฯ ชูป้าย NO ยกห้อง อัปเดตล่าสุด 10 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 09:55:45 14,355 อ่าน
TOP