x close

กปปส.-นปช. เปิดศึกระดมมวลชน ส่งสัญญาณรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ





          กปปส. -นปช. แถลงข่าวปมประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ด้านสุเทพ เทือกสุบรรณ ร่ายยาวข้อดีชี้แก้ปมทุจริตคอร์รัปชันชัดเจน ย้ำลงมติรับแน่ ขณะที่ธิดา ถาวรเศรษฐ ซัดทำประชาธิปไตยล้าหลัง ขอเปิดเสรีแสดงความเห็น แนะดึง EU-UN สังเกตการณ์ ยันจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

          วานนี้ (24 เมษายน 2559) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. และประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เรื่องความเห็นต่อรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ส่วนตัวชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากได้มีการแสดงเจตนารมณ์ถึงการปกครองประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ชัดเจน และเป็นฉบับที่จะแก้วิกฤตของประเทศได้ ซึ่งทางพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลเองก็ได้พยายามแก้ปัญหาบ้านเมืองหลายอย่าง ที่เห็นได้ชัด คือ การลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงมีการกำหนดทิศทางด้านต่าง ๆ ในการปฏิรูปต่อไป ซึ่งจะต้องเห็นผลภายใน 1 ปี หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
          ในประเด็นที่มีหลายภาคส่วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เช่น การมีคำถามพ่วงให้สมาชิกวุฒิสภามีส่วนในการเลือกนายกฯ ส่วนตัวมองว่า ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและไม่มีการยุยงส่งเสริม พร้อมเชื่อว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือในการลงเสียงประชามติ และ พลเอก ประยุทธ์ เองก็จะสามารถดูแลให้เกิดประชามติและเป็นไปอย่างเรียบร้อย

          ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการตั้งคำถามว่า ท่าทีของ นายสุเทพ ต่อรัฐธรรมนูญนั้น ค่อนข้างตรงข้ามกับพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนแสดงความคิดเห็นในการทำหน้าที่ของประชาชน และต้องการเห็นบ้านเมืองผ่านวิกฤตไปได้ ยืนยันไม่สังกัดพรรคใดแล้ว

          ด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. พร้อมด้วย นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายแพทย์เหวง โตจิราการ และแกนนำ นปช. แถลงข่าวเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า จากการเดินทางไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อยื่นหนังสือเกี่ยวกับข้อกังวลในพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเนื้อหาที่ห้ามการรณรงค์ โดยเฉพาะในมาตรา 61 ที่ยังไม่มีความชัดเจน เพราะมองว่าเป็นการเขียนกฎหมายแบบครอบจักรวาลและสร้างความกลัวในหมู่ประชาชน ซึ่งหากสัปดาห์หน้ายังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวจะเดินทางไปยัง กกต. อีกครั้งหนึ่ง

          นอกจากนี้ นายจตุพร ยังกล่าวอีกว่า ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ควรยกเลิกการทำประชามติ หากบรรยากาศในการออกเสียงประชามติยังอยู่ในความกลัว แม้แต่การแสดงออกทางความคิดเห็น ขณะที่ความไว้เนื้อเชื่อใจจะทำให้การทำประชามติเป็นไปอย่างสุจริต และเพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายทาง กกต. และผู้มีอำนาจควรเปิดกว้างให้องค์การสหประชาชาติ หรือ UN สหภาพยุโรป หรือ EU รวมถึงองค์กรนานาชาติต่าง ๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์การทำประชามติอย่างเปิดเผย

          ขณะที่ นางธิดา กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างความขัดแย้งให้ขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญมีระบบการปกครองที่ล้าหลัง ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะประชาชนมีส่วนร่วมเพียงเรื่องเดียว คือการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนโครงสร้างการเมืองอื่น ๆ เช่น ที่มา ส.ว. ที่มานายกรัฐมนตรี อำนาจหน้าที่องค์กรอิสระ ล้วนแต่ทำให้ฝ่ายบริหารทำงานลำบาก

          ทั้งนี้ กลุ่ม นปช. เชื่อว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการประชามติ ความขัดแย้งจะขยายตัวมากขึ้น และบทเฉพาะกาลที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ จะทำให้การสืบทอดอำนาจของ คสช. ทับซ้อนกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งเพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับและกระบวนการออกเสียงประชามติเป็นที่พอใจของประชาชน ก็ควรอนุญาตให้มีการรณรงค์ได้อย่างเสรี แสดงความเห็นต่างได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น นปช. จึงไม่สนับสนุนให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ

เกาะติดข่าว ร่างรัฐธรรมนูญ ล่าสุด

ข้อมูลจาก สำนักข่าว INN
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กปปส.-นปช. เปิดศึกระดมมวลชน ส่งสัญญาณรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อัปเดตล่าสุด 17 มิถุนายน 2559 เวลา 11:44:21 14,575 อ่าน
TOP