x close

สตช. ขู่กลุ่มการเมือง ผิด พ.ร.บ.ประชามติ ระวังเจอคุก 10 ปี





          สตช. เตือนกลุ่มเคลื่อนไหวค้านร่างรัฐธรรมนูญ ระวังผิด พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก่อความวุ่นวายโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี พร้อมเตือนคนไปใช้สิทธ์ศึกษาให้ดีป้องกันความผิดแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์  

         เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เวลา 10.30 น. พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงมาตรการดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในช่วงก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ทาง พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ได้ขานรับนโยบายของรัฐบาลในการดูแลความสงบเรียบร้อยทุกช่วงเวลาอยู่แล้ว ส่วนกรณีการดูแลความสงบเรียบร้อยในช่วงก่อนลงประชามตินั้น เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ได้มีการผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2559 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว จึงขอให้ประชาชนได้ศึกษาข้อมูลพระราชบัญญัติให้ครบทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 61 ที่ห้ามกระทำการใด ๆ ที่ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ที่อาจมีโทษจําคุกไม่เกินสิบปี หรือถูกศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีอีกด้วย
         นอกจากนี้ยังฝากไปถึงผู้ที่ไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงให้ศึกษารายละเอียดของพระราชบัญญัติให้ดีเพื่อระวังการกระทำบางอย่างที่อาจมีความผิด เช่น การฉีกบัตร หรือเข้าคูหาไปแล้วถ่ายภาพบัตร หรือการเล่นการพนันต่าง ๆ เป็นต้น เนื่องจากเจตนารมน์ของพระราชบัญญัตินี้เป็นไปเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไป อย่างเรียบร้อย หากท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็สามารถไปใช้สิทธิ์ออกเสียงได้ตามกฎหมาย พร้อมยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเที่ยงตรงไม่ว่าเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายใดก็ตามที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำผิด   

          พ.ต.อ. กฤษณะ ระบุอีกว่า จากการตรวจสอบทางการข่าวขณะนี้ยังไม่พบการเคลื่อนไหวที่เป็นนัยสำคัญ หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรง ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้มีการประเมินสถานการณ์เอาไว้อย่างรอบด้าน รวมไปถึงกรณีที่อาจเกิดการประทะกันของมวลชนซึ่งเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด เพื่อรับมือทุกเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ที่รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งหลังจากนี้ทาง กกต. จะสรุประเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สตช. ขู่กลุ่มการเมือง ผิด พ.ร.บ.ประชามติ ระวังเจอคุก 10 ปี อัปเดตล่าสุด 25 เมษายน 2559 เวลา 14:59:02 1,915 อ่าน
TOP