x close

เอาจริง ! งัดมาตรา 17 คุ้มครองปะการังไทย ฝ่าฝืนเจอคุกสูงสุด 1 ปี ปรับ 1 แสน

งัดมาตรา 17 คุ้มครองปะการังไทย

           กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง งัด มาตรา 17 คุ้มครองปะการังทะเลไทย 7 พื้นที่ ชี้ฝ่าฝืนให้อาหารปลาในแนวปะการัง  เจอคุกสูงสุด 1 ปี ปรับ 1 แสน

           หลังจากที่ประเทศไทยได้ประสบกับภาวะวิกฤตทางทะเล จนส่งผลกระทบกับสัตว์น้ำ ปะการัง และระบบนิเวศมาเป็นเวลานานหลายปี โดยเฉพาะแถบทะเลอันดามันที่เกิดปะการังฟอกขาวในหลายจุด ล่าสุด วันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ออกคำสั่งคุ้มครองปะการังทะเลไทย 7 พื้นที่ พร้อมเผยแพร่คำสั่งดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า

งัดมาตรา 17 คุ้มครองปะการังไทย
           วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ออกคำสั่งกรม ทช. ที่ 445/2559 เรื่องมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการระงับความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรปะการัง บริเวณ 7 พื้นที่ ได้แก่

           1. เกาะมันใน จ.ระยอง

           2. เกาะทะลุ

           3. เกาะเหลื่อม จ.ประจวบคีรีขันธ์

           4. เกาะไข่ จ.ชุมพร

           5. เกาะราชาใหญ่

           6. แหลมพันวา

           7. เกาะไม้ท่อน จ.ภูเก็ต

           โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป จนกว่าความอุดมสมบูรณ์เข้าสู่สภาวะปกติ และความเสียหายระงับสิ้นไป

           นอกจากนี้ ในประกาศฉบับดังกล่าวยังระบุไว้อีกว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 ประกอบมาตรา 3 และ มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2558 ประกอบมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงมีคำสั่งในการกำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อระงับความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรปะการัง บริเวณ 7 พื้นที่ ดังนี้

           1. ห้ามจอดเรือโดยการทิ้งสมอเรือบริเวณแนวปะการัง

           2. ห้ามทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย มลพิษ ลงในทะเล ที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำทะเลอันจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง

           3. ห้ามการขุดลอกร่องน้ำในแนวปะการัง

           4. ห้ามการกระทำกิจกรรมใด ๆ ที่ก่อให้เกิดตะกอนลงสู่แนวปะการังอันจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง

           5. ห้ามค้นหา ล่อ จับได้มา เก็บสัตว์น้ำ หรือการกระทำใด ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อล่อจับได้มา หรือเก็บสัตว์น้ำในบริเวณแนวปะการัง

           6. ห้ามการให้อาหารปลาและสัตว์น้ำในแนวปะการัง

           7. ห้ามการเดินเหยียบย่ำปะการัง

           8. ห้ามการเก็บหรือทำลายปะการัง เว้นแต่การกระทำเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการ

           9. บุคคลหรือผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวดำน้ำตื้นจะต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการัง

           10. ผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวดำน้ำลึก ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจากสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักการของสถาบันการเรียนการสอนดำน้ำสากล

           11. ผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามตามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

           12. ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการตามคำสั่งนี้

           13. คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และมีระยะเวลาบังคับใช้จนกว่าสถานการณ์ปะการังฟอกขาวจะกลับสู่สภาวะปกติ และความเสียหายระงับสิ้นไป สั่ง ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2559

งัดมาตรา 17 คุ้มครองปะการังไทย

งัดมาตรา 17 คุ้มครองปะการังไทย

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, dmcr.go.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เอาจริง ! งัดมาตรา 17 คุ้มครองปะการังไทย ฝ่าฝืนเจอคุกสูงสุด 1 ปี ปรับ 1 แสน อัปเดตล่าสุด 25 พฤษภาคม 2559 เวลา 16:34:33 3,412 อ่าน
TOP