x close

รมว.ยุติธรรม เผย 4 มาตรการดำเนินการของเจ้าหน้าที่กรณี "ธัมมชโย"



พระธัมมชโย

          รมว.ยุติธรรม เผย 4 มาตรการทางออกปม "ธัมมชโย" ส่งเอกสารถึงมหาเถรสมาคมแก้ปัญหาร่วมกัน ย้ำเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ หวั่นเกิดเหตุรุนแรง สร้างเงื่อนไขผู้ต้องหา รับไม่เข้าใจหากบริสุทธิ์ใจทำไมไม่เข้าพบเจ้าหน้าที่ เผยนายกฯ สั่งให้คุยกันให้รู้เรื่องผิดถูกอย่างไรว่าตามกฎหมาย  

          เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินคดีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หลังจากเจ้าตัวไม่เดินทางเข้ามอบตัวรับทราบข้อกล่าวหาคดีฟอกเงิน ที่ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย ในสถานการณ์ที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพื่อไม่ให้การดำเนินการของเจ้าหน้าที่กลายเป็นการสร้างเงื่อนไขให้กับผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่จึงวางแผนทำงานเป็นขั้นเป็นตอนอย่างรอบคอบ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีความยืดหยุ่นแก่ผู้ต้องหาอย่างมากแล้ว

          ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่อาจเข้าพบ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นลักษณะคล้ายกับการรายงานและหารือกับผู้บังคับบัญชา ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรให้ครบถ้วนตามกระบวนการปกครองนั้น ๆ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถบังคับบัญชาองค์กรปกครองคณะสงฆ์ได้ จึงต้องแจ้งให้ทราบว่า วันนี้เกิดอะไรขึ้นกับองค์กรคณะสงฆ์ ตนเชื่อว่า คงไม่มีการนิ่งเฉยสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการทำหนังสือเพื่อแจ้งทางมหาเถรสมาคมให้ทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ทางมหาเถรสมาคมหาทางออกร่วมกัน

          ทั้งนี้ ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีการกดดันหรือเอารถติดเกราะมาปิดล้อมกดดันทางวัดพระธรรมกายแต่อย่างใด ส่วนเส้นตายที่เคยระบุนั้นถือเป็นกรอบระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ผ่อนปรนให้กับทางผู้ต้องหา เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ให้ความร่วมมือกับผู้ต้องหาทุกครั้งที่มีการติดต่อผ่านทนาย และยอมทำตามข้อเสนอของผู้ต้องหาเสมอ จึงอยากให้ประชาชนที่ติดตามมองว่า กรณีนี้เป็นเพียงผู้ต้องหาธรรมดาคนหนึ่ง แต่อาจมีศักยภาพมากกว่าคนปกติเท่านั้น ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ตนก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่า หากบริสุทธิ์ใจจริงเหตุใดจึงไม่เข้ามาพบเจ้าหน้าที่เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์       
         
          พลเอก ไพบูลย์ ระบุอีกว่า สำหรับเรื่องนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เน้นย้ำว่า ให้คุยกันให้เข้าใจ หรือหากมองว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ให้จัดผู้แทนเข้ามาพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันกับเจ้าหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่รวมถึงประชาชนทุกคนคงไม่อยากเห็นภาพการขัดขวางเจ้าหน้าที่ จนเกิดเรื่องบานปลาย จึงต้องมีการดำเนินการอย่างรัดกุมและรอบคอบ ส่วนเรื่องหมายค้นนั้นต้องรอความชัดเจนจากศาลเสียก่อน ว่าจะสามารถออกหมายค้นได้หรือไม่

          อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากได้ตัวผู้ต้องหาแล้ว จะสามารถส่งฟ้องศาลได้ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ เนื่องจากคดีดังกล่าวมีผู้เกี่ยวข้องหลายคน เรื่องนี้จะผิดหรือถูกอย่างไรก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งศาลเป็นผู้พิจารณา แต่หากผู้ต้องหาไม่มาพบเจ้าหน้าที่จริง ๆ เจ้าหน้าที่ก็คงต้องหาวิธีการฟ้องอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร และยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เข้ามาดำเนินการเรื่องดังกล่าว

          สำหรับมาตรการดำเนินการของเจ้าหน้าที่นั้น ล่าสุดทางอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ชี้แจงแล้วว่า ขอให้พนักงานสอบสวนทำตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งมีมาตรการขั้นตอน ดังนี้

1. ดำเนินการตามแผน ตามหมายจับ

2. แจ้งหมายจับไปยังฝ่ายปกครองและตำรวจ หากผู้ใดพบเห็นผู้ต้องหาก็สามารถเข้าจับกุมได้ทันที

3. ส่งหนังสือไปที่ทางมหาเถรสมาคมเพื่อชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้คณะสงฆ์ได้หารือกันตามระดับชั้น

4. ดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 โดยระบุว่า ผู้ใดที่ช่วยเหลือและให้ที่พักพิงจะถูกดำเนินคดี

พระธัมมชโย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รมว.ยุติธรรม เผย 4 มาตรการดำเนินการของเจ้าหน้าที่กรณี "ธัมมชโย" อัปเดตล่าสุด 27 พฤษภาคม 2559 เวลา 15:01:27 12,526 อ่าน
TOP