x close

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กับ 10 ประเด็นน่ารู้ ก่อนเข้าคูหาโหวต 7 ส.ค.นี้



ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

          เจาะร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กับ 10 ประเด็นน่ารู้ จับตา 7 สิงหาคมนี้ ทิศทางผลโหวตประชามติออกมาอย่างไร


          งวดเข้าไปทุกขณะกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้ แน่นอนว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ ถือเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ และเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายทั้งหลายในรัฐ ซึ่งกฎหมายใดที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญต้องถือเป็นโมฆะ อย่างไรก็ตามคงมีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่นำโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ วันนี้ทางทีมงาน Kapook.com จะพาไปทำความเข้าใจกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กันครับ
          ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ สาระสำคัญ

          ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 279 มาตรา 16 หมวด และบทเฉพาะกาล โดยแต่ละหมวดมีดังนี้

          1. หมวดทั่วไป
          2. หมวดพระมหากษัตริย์
          3. หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
          4. หมวดหน้าที่ของปวงชนชาวไทย
          5. หมวดหน้าที่ของรัฐ
          6. หมวดนโยบายแห่งรัฐ
          7. หมวดรัฐสภา
          8. หมวดคณะรัฐมนตรี
          9. หมวดขัดกันแห่งผลประโยชน์
          10. หมวดศาล
          11. หมวดศาลรัฐธรรมนูญ
          12. หมวดองค์กรอิสระ
          13. หมวดองค์กรอัยการ
          14. หมวดการปกครองท้องถิ่น
          15. หมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
          16. หมวดการปฏิรูปประเทศ

          บทเฉพาะกาล

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

          ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กับ 10 ประเด็นน่ารู้ และข้อเด่นของร่างรัฐธรรมนูญ 2559

          1. คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ

          รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนไม่น้อยกว่าเดิม ทั้งยังขยายให้มีเพิ่มมากขึ้น แม้จะยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมาบังคับใช้ ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ โดยรัฐมีหน้าที่จัดให้มีการดำเนินการเพื่อให้สิทธิเสรีภาพนั้นเป็นจริงในทาง ปฏิบัติโยที่ประชาชนไม่ต้องร้องขอ ถ้ารัฐไม่ดำเนินการ ประชาชนและชุมชนสิทธิที่จะติดตาม และเร่งรัดการทำงานของรัฐบาลและสามารถฟ้องร้องได้หากรัฐไม่ทำหน้าที่

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

          2. รัฐมีหน้าที่ทำให้สิทธิเป็นจริง

          ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ก็มีหน้าที่ต้องจัดให้ประชาชนได้รับสิทธิที่จำเป็น โดยที่ประชาชนไม่ต้องไปร้องขอ เพื่อบริการประชาชนและเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ และรัฐธรรมนูญคุ้มครองทั้งชีวิตตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

          3. หน้าที่ของประชาชน

          ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ เพื่อร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาประเทศ

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

          4. การเลือกตั้ง

          ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ปล่อยให้คะแนนเสียงสูญเปล่า โดยจะใช้การเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวแล้วนำคะแนนไปคำนวณหา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ วิธีนี้จะทำให้ทุกคะแนนเสียงถูกนำมาใช้เพื่อให้ได้ ส.ส. ที่เป็นตัวแทนจากประชาชนอย่างแท้จริง

          5. ประชาชนทั่วไปเป็น ส.ว. ได้

          รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วมเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ โดยไม่ต้องเป็นนักการเมือง เพื่อให้กฎหมายนั้นมาจากมุมมองของประชาชนหลากหลายกลุ่ม ส.ว. มี 200 คน แบ่งเป็น 20 กลุ่ม ตามสภาพความรู้ความสามารถและอาชีพ

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

          6. ปราบโกงอย่างจริงจัง

          ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่อาจพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้ เพราะงบประมาณแผ่นดินถูกโกงไปเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว ถ้าไม่สามารถขจัดปัญหาทุจริต ประเทศจะไม่สามารถเดินหน้าได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีเป้าหมายในการขจัดทุจริต ทั้งทุจริตการเลือกตั้งและทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่

          7. ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเข้มแข็งฉับไวขึ้น

          โดยองค์กรอิสระทั้งหมดต้องร่วมมือและช่วยเหลือหันทำงานและกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งประชาชน และ ส.ว. สามารถยื่นต่อ ป.ป.ช. ได้ หากพบว่า องค์กรอิสระประพฤติมิชอบ

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

          8. รู้ล่วงหน้าใครมีสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี

          โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะให้ นายกฯ เป็นคนที่พรรคการเมืองเลือกเฟ้นมา แล้วทางพรรคจะประกาศรายชื่อให้ประชาชนทราบก่อนเลือกตั้ง และ ส.ส. เป็นผู้เลือกนายกฯ จากรายชื่อพรรคที่ประกาศ

          9. ท้องถิ่นเป็นของประชาชน

          การบริหารการปกครองท้องถิ่นจะมีความอิสระในการบริหารงานต่าง ๆ เป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการประชาชน

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

          10. ปฏิรูปไทยสู่อนาคต

          โดยรัฐธรรมนูญได้ระบุให้มีการปฏิรูปประเทศในหลายด้าน อาทิ ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการ ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

          ร่างรัฐธรรมนูญกับการทำประชามติ และผลที่ออกมาจากการโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

          ผลที่ออกมาของการลงประชามติจะมีได้ 2 ทาง คือการรับร่างรัฐธรรมนูญ และไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากแยกเป็นกรณีจะเป็นดังนี้

          กรณีที่ 1 ผลที่ออกมาประชาชนส่วนใหญ่เห็นควรรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.เลือกตั้ง, พ.ร.บ.พรรคการเมือง เป็นต้น

          กรณีที่ 2 ผลที่ออกมาประชาชนส่วนใหญ่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 นั้นไม่ได้บัญญัติว่า จะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรต่อไป


          อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังมีในส่วนของคำถามพ่วงมาด้วย ซึ่งไม่ว่าผลของคำถามพ่วงประชามติจะออกมาทิศทางไหนก็จะไม่มีผลหากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติ แต่ในทางกลับกันหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ คำถามพ่วงก็จะตกตามไปด้วย

          ไม่ว่าผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร แต่อย่าลืมว่าวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เรามีนัดกันที่คูหาลงคะแนนเสียง แต่หากใครไม่สามารถไปได้ ทาง กกต. ก็เปิดช่องทางให้สามารถลงประชามตินอกเขตจังหวัดได้ โดยการเข้าไปลงทะเบียนที่ https://election.dopa.go.th/ectoutvote/ ตั้งแต่วันนี้-30 มิถุนายน 2559

เกาะติดข่าว ร่างรัฐธรรมนูญ ล่าสุด

ภาพและข้อมูลจาก คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ, senate.go.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 กับ 10 ประเด็นน่ารู้ ก่อนเข้าคูหาโหวต 7 ส.ค.นี้ อัปเดตล่าสุด 20 มิถุนายน 2559 เวลา 11:12:13 263,258 อ่าน
TOP