x close

เจาะเวทีบ่องตงประชามติ-ชี้ปราบโกงครบวงจร แลกสิทธิเสรีภาพที่ลดลง !?

 เวที บ่องตง ประชามติ

          บทสรุปเวทีบ่องตงประชามติ...เทไม่เท -ปราบโกงครบวงจรทั้งข้าราชการและนักการเมือง ภาคประชาชนห่วงเรื่องสิทธิเสรีภาพลดงลง ชี้ร่างรัฐธรรมนูญล้าหลัง กังวลรับรองประกาศ-คำสั่ง คสช.ไว้ในรัฐธรรมนูญ จำลองลงคะแนนเทไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่รับส.ว. เลือกนายกฯ

          วันลงประชามติ "7 สิงหาฯ" ใกล้เข้ามาทุกขณะจิต พร้อมกับสารพัดความเห็น ต่างมุมมอง จากหลายกลุ่มหลายค่ายหลายพรรค

          ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง เครือข่ายพลเมืองเสวนา จัดเวที บ่องตง ประชามติ เท ไม่เท ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

          ข้อใหญ่ใจความของการจัดเวทีครั้งนี้ ก่อให้เกิดการวิพากษ์เกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ใน 6 ด้าน ได้แก่ คอร์รัปชั่น สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิเสรีภาพ การศึกษา และคำถามพ่วงประชามติ
เวที บ่องตง ประชามติ

ปราบโกงครบวงจร นักการเมือง ข้าราชการโดนหมด

          สำหรับประเด็น คอร์รัปชัน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่าในร่างรัฐธรรมนูญ 279 มาตรา มีไม่น้อยกว่า 53 มาตราที่เกี่ยวข้องกับการปราบคอร์รัปชัน ตลอดจนมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งเป็นแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดการคอร์รัปชัน ขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเขียนโดยแบ่งหมวดหมู่การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในระบบ ราชการ เช่น ระบบงบประมาณ การแต่งตั้งโยกย้ายด้วยระบบคุณธรรม การเปิดเผยข้อมูลด้วยระบบสารสนเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการบัญญัติ “กฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างเป็นครั้งแรกในประเทศไทย”

          ส่วนการแก้ไข ปัญหาทุจริตภาคการเมือง ดร.มานะ กล่าวว่า “ร่างรัฐธรรมนูญมีการระบุถึงเกณฑ์การคัดกรองคนเข้าสู่ภาคการเมือง กำหนดบทลงโทษไว้ชัดเจน หากนักการเมืองมีส่วนได้เสียมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำงบประมาณ กำหนดมาตรฐานจริยธรรม ตลอดจนระบุแนวทางกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระเพิ่มไว้อีกด้วย”

          ด้านการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่นในภาคประชาชน ดร.มานะมีความเห็นว่า "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ในหลายมาตรา ประชาชนมีสิทธิและอำนาจของในการฟ้องร้อง และตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเชื่อมโยงสิทธิการเข้าถึงข้อมูข่าวสาร"

          อย่างไรก็ตามดร.มานะ เสริมว่า หากเปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีหลายๆ เรื่องที่ใจไม่ถึง เช่น การแต่งตั้งข้าราชการด้วยระบบคุณธรรม การกำหนดคุณธรรมจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้สูงกว่ามาตรฐานคนทั่ว ไป พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของส.ส. สมาชิก และผู้ปฏิบัติงาน และการแก้บทบาทเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักกาารเมือง เป็นต้น

เวที บ่องตง ประชามติ

หลักประกันไม่ชัดเจน ประชาชนไม่มีส่วนร่วม กังวลคำสั่ง คสช. กระทบความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม

          สำหรับ ประเด็นสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ นายศุภกิจ นัทะวรการ นักวิจัยมูลนิธินโยบายสุขภาพมีความเห็นว่าในร่างรัฐธรรมนุญฉบับเตรียมลง ประชามติมีหลักประกันไม่ชัดเจน มีเพียงเฉพาะในหมวดของการปฏิรูป มาตรา 258 ช. ด้านอื่น ๆ ที่กำหนดให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน และจัดระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งพอ จะมีหลักประกันอยู่บ้าง

          อย่างไรก็ดียังในร่างรัฐธรรมนูญยังขาดการให้ น้ำหนักของความเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินการของภาครัฐ ตลอดจนบทบัญญัติที่รับรองสิทธิของประชาชนเพื่อแสดงความเห็นก่อนที่รัฐจะวาง แผนการพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นโครงการที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชน หรือชุมชน หากไม่ได้เป็นโครงการที่สร้างผลกระทบรุนแรง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีการกำหนดมาตราที่ให้รัฐหรือผู้ดำเนินการจำเป็น ต้องเผยแพร่ข้อมูล

          ประเด็นสิทธิของประชาชน นายศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้ปรับเนื้อหาในส่วนที่เคยเป็นสิทธิของ ประชาชนไปเป็นหน้าที่ของรัฐ แม้จะให้สิทธิประชาชนฟ้องร้องรัฐได้ เมื่อรัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตรงนี้ถือเป็นประเด็นที่ไม่เหมาะสมเช่นกัน เนื่องจากจะเป็นภาระต่อประชาชนในการเรียกร้องสิทธิซึ่งเดิมเป็นสิทธิของ ประชาชนโดยตรง”

          สอดคล้องกับนายอัมรินทร์ สายจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายประจำมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ที่กล่าวถึงเสรีภาพในการชุมนุมหรือการจัดการชุมชนของภาคประชาชนต่อการแสดง ความเห็นหรือแสดงความกังวลต่อการดำเนินงานของภาครัฐในโครงการต่างๆ ว่า

          “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มีเนื้อหาเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คือ เพิ่มการห้ามชุมนุมที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง สงบเรียบร้อย ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐอาจมีการคตีความขยายกรอบจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุม มากขึ้น และจะทำให้การและทำให้เสรีภาพของการชุมนุมโดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการ กระทำของหน่วยงานรัฐทำได้อย่างจำกัด”

          นอกจากนั้นในประเด็นที่เกี่ยว ข้องคำสั่งและประกาศของ คสช.ซึ่งในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้อยู่ไปจนมี ครม.ชุดใหม่มาบริหารนั้น นายอัมรินทร์มองประเด็นนี้ว่า หากคำสั่งหรือประกาศของ คสช.กระทบต่อความผาสุกของประชาชน กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่ประชาชนทำอย่างไร

          “การประกาศยกเลิกคำสั่งหรือประกาศของ คสช. ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ ที่ต้องออกโดยรัฐสภาตรงนี้ ส.ว.ชุดแรกที่มาโดยการคัดสรรของ คสช. จะออกเสียงเห็นด้วยหรือไม่นั้น ตรงนี้ผมก็ยังสงสัยอยู่” นายอัมรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

เวที บ่องตง ประชามติ

ลดสวัสดิการถ้วนหน้า ขยายความเหลื่อมล้ำ

          ด้านนางสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นสาธารณสุขว่า แม้ว่าในเชิงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ได้ไปยกเลิก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 แต่แต่ต้องจับตาว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องจะถูกแก้ไขในชั้นของสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ (สนช.) หรือไม่

          นอกจากนั้นในเรื่องเนื้อหาบางส่วนที่เป็นปัญหานางสุรีรัตน์ได้กล่าวว่า

          “ใน เรื่องสวัสดิการของประชาชนบางประเด็นที่ยังกำหนดไว้ไม่ชัดเจน เช่น สิทธิของมารดาที่ได้รับความคุ้มครองช่วงก่อน ระหว่าง และหลังคลอดบุตรตามที่กฎหมายบัญญัติ หรืออย่างกรณีผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอ และบุคคลผู้ยากไร้ ตรงนี้ไม่ควรเขียนที่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเพราะจะทำให้เกิดการตีความและก่อ ปัญหาในการเลือกปฏิบัติได้” ถึงเนื้อหาบางส่วนที่เป็น

          ต่อกรณีที่นาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ระบุว่าการจัดสงเคราะห์ผู้ชราที่ยากไร้ ที่จะนำเงินจากผู้ชราที่ร่ำรวยมาเฉลี่ยให้คนจนนั้น นางสุรีรัตน์แสดงความกังวลว่าอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบหลัก สวัสดิการถ้วนหน้าอื่น ๆ เช่น การศึกษาและสุขภาพ ที่อาจถูกเลือกปฏิบัติทั้งที่ประชาชนต้องเสียภาษีเท่ากัน

          ตอนท้ายนาง สุรีรัตน์กล่าวว่า ตนและกลุ่มคนรักประกันสุขภาพมีมติร่วมกันว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนาย มีชัยเพราะ “ร่างฉบับนี้มีเนื้อหาที่ทำให้ระยะห่างของความเหลื่อมล้ำมีเพิ่มมากขึ้น”

เวที บ่องตง ประชามติ

การศึกษาขั้นพื้นฐานให้เปล่าลดลง สร้างชนชั้นทางการศึกษา

          ต่อเรื่องเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญด้านการศึกษา ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย ตั้งคำถามกับเนื้อหาด้านการศึกษาในร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 54 ที่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการจัดการศึกษาให้เปล่า 12 ปี จากที่รัฐให้เรียนฟรีตั้งแต่ชั้น ป.1- ม.6 เป็นจากระดับก่อนวัยเรียน หรืออนุบาล จนถึงระดับ ม. 3 โดยหลังจากนั้นจะไม่มีเงินช่วยการศึกษารายหัวเหมือนในรัฐธรรมนูญปี 2550

          “รัฐ เห็นความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กเล็ก และมองว่าการลงทุนในระดับก่อนวัยเรียนมีความคุ้มค่ามากกว่า แต่การตัดการศึกษาฟรีระดับมัธยมตอนปลาย หรือระดับอาชีวะออกนั้น ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของสังคมไทย ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมองเฉพาะประเด็นว่าทำอย่างไรการลงทุนในการจัดการศึกษามี ประสิทธิภาพและประสิทธิผล คุ้มค่างบประมาณ แต่กลับตนมองว่าการมีประสิทธิภาพการศึกษาคือการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำใน สังคม

          สำหรับการดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียนรัฐส่วนกลางควรส่งเสริมให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแลแทนร่วมกัน สำหรับกรณีที่ผู้เกี่ยวข้องกังวลว่าการดูแลดังกล่าวจะไม่มีคุณภาพ รัฐควรใช้วิธีประเมินผลหรือมีดัชนีชี้วัดจะเหมาะสมมากกว่าเข้ามาแทน" ผศ.อรรถพล กล่าว

          สำรหรับการตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาด แคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขั้นมาแทนนั้น ผศ.อรรถพล เห็นว่าเป็นการช่วยเหลือในรูปแบบการสงเคราะห์มากกว่าการกระจายคุณค่าการ ศึกษาหรือปฏิรูปการศึกษาที่เป็นรูปธรรม และทำให้ติดกับดักของการกดขี่ทางชนชั้นมากกว่าคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็น มนุษย์ที่สามารถพัฒนาศักยภาพตนเองได้

          ด้านนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือน้องเพนกวิน เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กล่าวถึงประเด็นการศึกษาว่า บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญต่อประเด็นการศึกษาได้รับการเขียนไว้อย่างเหมาะ สม ทว่าประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียวที่หายไปจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การตัดการเรียนฟรีในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือระดับที่สูงกว่านั้น

          “ประเด็น ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ต้องการเรียนต่อในระดับที่สูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอน ต้นสามารถยื่นความประสงค์ทางกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้ นั้น ผมมองว่าสิทธิการเรียนฟรีเป็นสิทธิของคนไทยทุกคน การศึกษาไม่ใช่การร้องขอการสงเคราะห์จากรัฐ ซึ่งกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญวางบทบัญญัติดังกล่าวไว้ ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสถาบันการศึกษาจะมากขึ้น” นายพริษฐ์ กล่าวสรุป

เวที บ่องตง ประชามติ

ย้ายสิทธิประชาชนไปเป็นหน้าที่รัฐ ความคลุมเครือที่ยังรอคำตอบ

          ในประเด็นสำคัญด้านสิทธิและเสรีภาพนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) มองว่า การการตัดสินใจลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่าจะรับหรือไม่รับร่าง ประชาชนต้องพิจารณาเนื้อหาในบทเฉพาะกาลอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นที่ให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อยู่ยกร่างพระราชบัญญัติประกอบร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับ อีก 8 เดือน

          “ผมมองว่าเหมือนเราตีเช็คเปล่าให้ กรธ. ไปเขียนกฎหมายลูกตามที่เขาต้องการได้เลย ตรงนี้เราไม่มีส่วนร่วมอะไรแล้ว” นายยิ่งชีพตั้งข้อสังเกหตุถึงเนื้อหาในบทเฉพาะกาล

          นอกจากนั้นยังพบ ว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ลดเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องศักดิ์ศรีความมนุษย์ ไปจากรัฐธรรมนูญฉบับ 40 และ 50 2 ประเด็น ได้แก่ 1.การใช้อำนาจรัฐต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความมนุษย์ และ 2. บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ความเป็นมนุษย์ได้ เปรียบได้กับว่าเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่รัฐมอบให้ แต่ประชาชนไม่สามารถอ้างสิทธิ์นี้ได้ด้วยตนเอง

          ยิ่งไปกว่านั้น เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้มีการย้ายสิทธิ์ของประชาชนจำนวนหนึ่ง ไปเป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งนายยิ่งชีพเห็นว่า สิทธิ์เดิมที่ประชาชนสามารถอ้างสิทธิ์เรียกร้องได้ หรือเรียกร้องได้จะหายไป โดยรัฐจะเป็นจัดการในเรื่องนั้นๆ ให้ประชาชนแทน ในทางปฏิบัติรัฐอาจหาเหตุผลเลี่ยงที่จะไม่ปฏิบัติได้ กรณีนี้ยังต้องดูกันต่อไปว่าจะเกิดปัญหาขึ้นหรือไม่

          ต่อประเด็น เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายยิ่งชีพ กล่าวว่า มีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ประเด็นหลัก คือ เมื่อมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ กำหนดว่าจะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา โดยต้องมี ส.ว.เห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ วาระที่ 3 ขั้นเห็นชอบ ต้องมี ส.ส.จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน

          กรณีที่จะแก้ไขเกี่ยวกับหมวดบททั่วไป หมวดพระมหากษัตริย์ หมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ ต้องจัดทำประชามติก่อน หากผลประชามติเห็นชอบ จึงจะดำเนินการแก้ไขได้

          “ประเด็นสำคัญ คือ ส.ว.ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช. เขาจะยอกมือสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตรงนี้ก็ยังน่าสงสัยอยู่” นายยิ่งชีพกล่าว

เวที บ่องตง ประชามติ

ให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายก คำถามพ่วงวัดใจคนไทย

          สุดท้ายประเด็นคำถามพ่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีเนื้อหาว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควร ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

          นายปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัทบัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่าจากคำถามพ่วงเมื่อถอดรหัสแล้วจะขั้นที่ 1 พบเนื้อความที่เข้าใจได้ง่ายว่า ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจร่วมแต่งตั้งนายกฯ ในระหว่าง 5 ปีแรกหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ ขั้นที่ 2 จะพบว่า ส.ว.ชุดแรก 250 คน (สรรหาโดยคสช.) มีสิทธิร่วมเลือกนายกฯ ได้ 2 วาระ ซึ่งรวมเวลาบริหารของรัฐบาลทั้งสิ้น 8 ปี

          ต่อกรณีนี้นาย ปรเมศวร์ให้ความคิดเห็นว่าบุคคลที่จะได้รับการคัดเลือกเป็น ส.ว. มีความเป็นไปได้ว่า เป็นบุคคลที่ผู้มีอำนาจปัจจุบันต้องการเพราะมีเงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องเป็นบุคคลที่ทำให้การปฏิรูปมีความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่รัฐบาลและคสช. กำหนดไว้แล้ว

          นายปรเมศวร์มีข้ประเด็นเพิ่มเติ่มว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบนี้ออกแบบให้ไม่มีพรรคใดสามารถเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียง ข้างมากโดยเด็ดขาดได้ จึงมีความเป็นไปได้ว่า พรรคที่ใหญ่ที่สุด คือ พรรค ส.ว.”  ประเด็นดังกล่าวนี้อาจทำให้ ส.ว.เป็นตัวเปรสำคัญในการเลือกนายก

          นอกจากนั้นนายปรเมศวร์ยังตั้งข้อสังเกตต่อ พ.ร.บ. ประชามติ ว่าเอกสารชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยคณะกรรมการการเลือก ตั้งมีหลายประเด็นที่ไม่ได้บอกให้ประชาชนรับทราบ เช่น ที่มาของส.ว. ชุดแรก 5 ปี คสช.แต่งตั้ง หรืออย่างกรณีที่ที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง ประเด็นนี้ก็ไม่มีการะบุไว้ในเอกสารดังกล่าว ที่สำคัญ คือ หากคำถามพ่วงผ่าน ประชาชนจะไม่มีรู้ตัวผู้มีสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีล่วงหน้าก่อนลงคะแนนเสียง เลือกตั้ง

เวที บ่องตง ประชามติ

ทดลองลงประชมติ ไม่รับร่างชนะขาดกระจาย

          นอกจากเวทีเสวนาจะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ในช่วงท้าย มีกิจกรรมจำลองการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และลงมติผ่านทางแอพพลิเคชั่นพีเพิล โพลล์ ไทยแลนด์ เป็นเวลา 3 นาที

          ผลปรากฏว่ามีผู้ร่วมลงมติ 68 คน ลงมติเห็นชอบ 59 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4 คน, ไม่เห็นชอบ 89.2 เปอร์เซ็นต์ หรือ 60 คน และไม่ไปใช้สิทธิ 2.9เปอร์เซ็นต์ หรือ 2 คน ขณะที่คำถามประกอบการออกเสียงประชามตินั้น ผลปรากฎว่า เห็นชอบ 4.4 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3 คน, ไม่เห็นชอบ 92.6 เปอร์เซ็นต์ หรือ 63 คน และไม่ไปใช้สิทธิ 1.5เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 คน

          แน่นอนว่าเป็นเพียงการ "จำลอง" เสียงสะท้อนจากเวทีวิชาการ ส่วนเมื่อถึงเวลาจริงจะเป็นเช่นไร คนไทยผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั่วประเทศ จะเป็นผู้ชี้ชะตา

เวที บ่องตง ประชามติ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจาะเวทีบ่องตงประชามติ-ชี้ปราบโกงครบวงจร แลกสิทธิเสรีภาพที่ลดลง !? อัปเดตล่าสุด 27 กรกฎาคม 2559 เวลา 08:52:00 6,124 อ่าน
TOP