x close

ป.ป.ช. ตีตกคำร้องถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ปมจัดซื้อจัดจ้างไม่เปิดเผยราคากลาง


ป.ป.ช. ตีตกคำร้องถอดถอน ยิ่งลักษณ์

          คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องถอดถอน อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีเผิดเฉยต่อหน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างไม่เปิดเผยราคากลาง แจงไม่มีหลักฐานมัดการกระทำผิด

          วันที่ 7 ตุลาคม 2559 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยผลการพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตามที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ถอดถอน กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 ในการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและประกาศราคากลางในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์
ป.ป.ช. ตีตกคำร้องถอดถอน ยิ่งลักษณ์

          จากการไต่สวนพบว่า ตามที่ ป.ป.ช. มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ปช0028/0053 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2554 ถึงอดีตนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ เรื่อง การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้นั้น

          ผู้ถูกกล่าวหามิได้เพิกเฉยต่อคำทักท้วงของ ป.ป.ช. และมีบัญชาให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบโดยจัดเข้าวาระการประชุมในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 และคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันดังกล่าว มีมติให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเร่งรัดจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเคร่งครัด และมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

          ภายหลังจาก ครม. มีมติดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ปช0028/0015 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ถึงอดีตนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ อีกฉบับ และยืนยันว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 13 ธันวาคม 2554 นั้นไม่สอดคล้องกับมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/6806 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2555 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอความเห็นกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1)ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวและมีความเห็นปรากฏตามเรื่องเสร็จที่ 663/2555 สรุปได้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่งได้ สิ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นเพียงมาตรการที่เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 19 (11) เท่านั้น

          อย่างไรก็เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงคลังเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปหารือร่วมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติในการตอบสนองมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและคณะกรรมการ ป.ป.ช.
และมีมติร่วมกันเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ว่า ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐถือปฏิบัติตามแนวทางการเปิดเผยราคากลาง เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามแนวทางที่กระทรวงคลังเสนอ หากหน่วยงานใดมีความพร้อมให้ดำเนินการทันที ส่วนหน่วยงานใดที่ยังไม่มีความพร้อมให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบ

          ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว เห็นว่าผู้ถูกกล่าวยังไม่มีพฤติการณ์ที่ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ตามคำร้องขอให้ถอดถอน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

เกาะติดข่าว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งหมด

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Y.Shinawatra
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก nacc.go.th, isranews




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ป.ป.ช. ตีตกคำร้องถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ปมจัดซื้อจัดจ้างไม่เปิดเผยราคากลาง อัปเดตล่าสุด 26 ตุลาคม 2559 เวลา 12:03:28 5,087 อ่าน
TOP