x close

พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ช่างหลวงผู้อยู่เบื้องหลังภาพทั้ง 4 พระองค์ทรงพระสรวล

พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น

          ย้อนอ่านชีวประวัติของ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น บรมครูแห่งสถาปัตยกรรมไทย บุคคลผู้ถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นที่มาของภาพแห่งความปีติ

          ภาพพระสรวลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะประทับอยู่ในรถ พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จยกยอดฉัตรพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทำให้พสกนิกรชาวไทยอดยิ้มตามไปกับภาพที่เห็นไม่ได้..
พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น

          เมื่อไล่เรียงถึงเบื้องหลังของภาพนี้จึงทราบว่า เหตุการณ์ในภาพนี้เกิดขึ้นในขณะที่ "พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น" ถวายรายงานต่อหน้าพระพักตร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตรัสว่า "จะอยู่ถึง 120 ปี" พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น เลยตอบว่า "ถ้าอย่างนั้นเกล้ากระหม่อมขอทูลลาไปก่อน" จึงทำให้ทุกพระองค์ทรงแย้มพระสรวลด้วยความสุข

          สำหรับ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์) สาขาย่อย สถาปัตยกรรม ประจำปี 2541 ซึ่งเมื่อครั้งถวายรายงานดังภาพที่ปรากฏนั้น ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ ท้องสนามหลวง

ชีวประวัติ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น

          พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2485 ที่อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี (ในอดีต) ปัจจุบันคือเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนโตของนายทองเปลว และนางละเมี้ยน เงินชูกลิ่น ชีวิตส่วนตัวได้สมรสกับนางชาริณี บุราวาศ มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ คือนายชวิน เงินชูกลิ่น และนายวทนะ เงินชูกลิ่น

          ในวัยเยาว์ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัจนรัตน์ และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนวัดราชโอรส ภายหลังได้รับคำแนะนำจากครูให้เรียนต่อทางด้านศิลปะ พลอากาศตรี อาวุธ จึงเลือกเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปศึกษา และเมื่อปี พ.ศ. 2502 จึงได้เรียนต่อที่คณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ทางด้านงานช่างสถาปัตยกรรมไทยจากพระพรหมพิจิตร พลอากาศตรี อาวุธ มีความชื่นชอบทางด้านศิลปะไทยมาก มักทำคะแนนได้ดีเสมอมา ก่อนจะจบการศึกษาปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมไทย เมื่อปี พ.ศ. 2507 ซึ่งในสมัยนั้นยังมิได้สถาปนาเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดังเช่นปัจจุบัน

พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น

          หลังจบการศึกษา พลอากาศตรี อาวุธ ได้ทำงานออกแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เห็นว่างานไม่มั่นคง จึงได้สมัครเข้ารับราชการเป็นสถาปนิก กรมช่างโยธา ของกองทัพอากาศ ทำงานอยู่นาน 9 ปี จึงได้รับพระราชทานยศนาวาอากาศเอก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2518 จึงได้โอนมารับราชการในตำแหน่งช่างศิลป์ สังกัดกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และในปี พ.ศ. 2521 ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบูรณะปฏิสังขรณ์ กองสถาปัตยกรรมไทย กรมศิลปากร

          พลอากาศตรี อาวุธ รับราชการในกองสถาปัตยกรรมไทย กรมศิลปากร เจริญเติบโตในหน้าที่การงานเรื่อยมา จนได้รับตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณะปฏิสังขรณ์ ระดับ 9 และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงานจากการได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2543 และมาดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทย และบูรณปฏิสังขรณ์สถาปนิกระดับ 10 เมื่อปี พ.ศ. 2545 พร้อม ๆ กับเกษียณอายุราชการในปีนั้นเอง ภายหลังยังได้รับพระราชทานยศพลอากาศตรีเป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น

          ตลอดช่วงชีวิตที่รับราชการในกรมศิลปากร พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ได้สร้างสรรค์ผลงานสำคัญมากมาย ทั้งงานด้านการอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ และออกแบบงานด้านสถาปัตยกรรมไทย เช่น งานบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์, งานบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งได้เป็นผู้รับผิดชอบในการบูรณปฏิสังขรณ์ โบราณสถานแห่งชาติที่สำคัญอีกหลายแห่ง

          นอกจากนี้ยังมีผลงานการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม เช่น ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง พระที่นั่งสันติชัยปราการ ในสวนสันติชัยปราการ, พระอุโบสถ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ฯลฯ รวมทั้งภารกิจสำคัญในฐานะผู้ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงถึง 3 พระองค์ คือ

          - เมื่อปี พ.ศ. 2538 เป็นผู้ออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้างพระเมรุมาศ ทรงปราสาทจตุรมุขยอดเกี้ยว และอาคารรายรอบที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

          - เมื่อปี พ.ศ. 2551 เป็นหัวหน้าคณะทำงานออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
      
          - เมื่อปี พ.ศ. 2555 เป็นหัวหน้าผู้ออกแบบพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี


พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น

          พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ยังได้นำความรู้ที่สั่งสมมาถ่ายทอดและเผยแพร่วิชาด้านสถาปัตยกรรมไทยด้วยการเป็นอาจารย์พิเศษให้ภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้บรรยาย และเป็นวิทยากรในกิจกรรมทางวิชาการมากมาย

          ด้วยผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยได้รับรางวัลมากมาย โดยเฉพาะการได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) พุทธศักราช 2541 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

          พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ยังคงทำงานและสอนลูกศิษย์แม้กระทั่งวันที่ล้มป่วยนอนอยู่บนเตียงคนไข้ ณ โรงพยาบาลศิริราช ก่อนจะเสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งตับ เมื่อเวลาประมาณ 05.40 น. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 รวมอายุ 71 ปี นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการสถาปัตยกรรมไทย เพราะท่านเป็นผู้ที่มีความรอบรู้งานช่างศิลป์ในทุก ๆ ด้าน และอุทิศตนทำงานเพื่อวงการสถาปัตยกรรมไทยมาตลอดชีวิต จึงนับเป็นช่างหลวงและบรมครูคนสำคัญของประเทศไทยที่ต้องจารึกชื่อไว้ต่อไปอีกนาน


พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น

พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น

          หลังการมรณกรรมของ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยม พร้อมฉัตรเบญจาตั้งประกอบเกียรติยศ และรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พร้อมทั้งพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ มีกำหนด 7 วัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2556 เวลา 17.00 น.

          และนี่ก็คือชีวประวัติคร่าว ๆ ของ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ผู้ถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังของการปรากฏภาพทรงพระสรวลด้วยความสุข

พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น

หน้าที่และตำแหน่งทางราชการ


          - พ.ศ. 2509 - 2518 เข้ารับราชการในกองทัพอากาศ ในตำแหน่งสถาปนิก ได้รับพระราชทานยศเป็นลำดับมาจนถึง "เรืออากาศเอก"
          - พ.ศ. 2518 โอนมารับราชการ ที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ในตำแหน่ง นายช่างศิลปกรรม
          - พ.ศ. 2521 ย้ายมาดำรงตำแหน่งสถาปนิก ในกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร มีหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรมไทย และบูรณปฏิสังขรณ์
          - พ.ศ. 2539 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น สถาปนิก 10 วช. (ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยและบูรณปฏิสังขรณ์)
          - พ.ศ. 2543 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น อธิบดีกรมศิลปากร
          - พ.ศ. 2545 เกษียณอายุราชการ และได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณปฏิสังขรณ์ และสถาปัตยกรรมไทย ของกรมศิลปากร
 
ยศทางทหาร

          - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 - นาวาอากาศเอก (เป็นกรณีพิเศษ)
          - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 - พลอากาศตรี (เป็นกรณีพิเศษ)

พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น

เกียรติคุณ

พ.ศ. 2539

          - ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ พุทธศักราช 2539 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
          - ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สถาปัตยกรรมไทย) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร

พ.ศ. 2540

          - ได้รับประกาศเกียรติคุณผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมไทย ประเภทบุคคล จากคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย

พ.ศ. 2541

          - ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) พุทธศักราช 2541 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

พ.ศ. 2551

          - ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

พ.ศ. 2552

          - ได้รับปริญญาดุษ์ฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาสถาปัตยกรรมไทย) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
          - ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราภิชาน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศาสตราภิชานเงินทุนเพื่อการบริหารวิชาการ และการศึกษา กองทุนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ถึง 30 กันยายน 2553

พ.ศ. 2553

          - ได้รับการคัดเลือกและยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย (ด้านสถาปัตยกรรมไทย) พุทธศักราช 2553 จากคณะอนุกรรมการคัดเลือกและเผยแพร่ผลงานดีเด่นของชาติ ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์


          - พ.ศ. 2551 - Order of the White Elephant - Special Class (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

          - พ.ศ. 2541 - Order of the Crown of Thailand - Special Class (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)

          - พ.ศ. 2550 - Order of Chula Chom Klao - 3rd Class upper (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.)

          - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 - Order of the Direkgunabhorn 4th class (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นจตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)


ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thai Royal Cremation Ceremony, สยามศิลปิน The Greatest Thai Artists

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ช่างหลวงผู้อยู่เบื้องหลังภาพทั้ง 4 พระองค์ทรงพระสรวล อัปเดตล่าสุด 18 ตุลาคม 2559 เวลา 14:04:56 58,710 อ่าน
TOP