x close

ญี่ปุ่นเริ่มหารือแก้กฎหมาย หลังจักรพรรดิอากิฮิโตะประสงค์สละราชสมบัติ



ชาวญี่ปุ่นใจหาย จักรพรรดิอะกิฮิโตะตรัสเป็นนัย เตรียมสละราชสมบัติ
ภาพจาก IMPERIAL HOUSEHOLD AGENCY / AFP


       รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเปลี่ยนแปลงกฎมณเฑียรบาล หลังสมเด็จพระจักรพรรดิมีราชประสงค์สละราชสมบัติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ชินโซ อาเบะ เผย ถือเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ

       เว็บไซต์นิวยอร์กไทมส์  รายงานว่า จากที่ก่อนหน้านี้ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ได้ทรงประกาศเป็นนัย ๆ ว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสละราชบัลลังก์  เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระชนมายุ 83 พรรษาแล้ว และด้วยวัยนี้ พระองค์ไม่สามารถที่จะปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถึงแม้ว่าพระองค์จะไม่ได้ทรงเอ่ยอย่างชัดเจนถึงการสละราชบัลลังก์ แต่ก็สามารถตีความได้ว่า พระองค์มีพระราชประสงค์เช่นนั้น
        สมเด็จพระจักรรดิอากิฮิโตะ ได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า  พระองค์ประสงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เพื่อให้การสืบต่อราชบัลลังก์เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ติดขัด พระองค์ทรงย้ำเตือนถึงช่วงเวลาอันยากลำบากที่พระองค์ได้ทรงผ่านพ้นมาสมัยที่พระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นรัชทายาท เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พระราชบิดาของพระองค์สวรรคตในปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) พระองค์ตรัสอีกว่า พระองค์ไม่ประสงค์ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ในช่วงเวลาที่ไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจใด ๆ ได้ ในขณะที่ผู้สำเร็จราชการแทนกลับต้องทำหน้าที่อย่างหนักแทนพระองค์

        ในพระชนพรรษา 80 พรรษา สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะยังคงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอยู่ตลอด ซึ่งนอกจากการต้อนรับพระราชอาคันตุกะต่างประเทศแล้ว พระองค์ยังทรงพระราชดำเนินไปทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมพิธีการต่าง ๆ อีกทั้งยังไปเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ประสบภัยอีกด้วย ซึ่งกว่า 80% ของประชาชนทั่วไป ต่างสนับสนุนแนวคิดการสละราชสมบัติของพระองค์ เนื่องจากว่า พระองค์ทรงมีพระชนพรรษามากแล้ว ถึงเวลาที่ควรจะได้ทรงพักผ่อนเพื่อพระพลานามัยของพระองค์เอง

        ทั้งนี้ กรณีการสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ยังได้จุดประกายให้เกิดความกังวลในด้านอื่นอีก ซึ่งก็คือ สถาบันกษัตริย์ที่มีอายุ 2,000 ปีของญี่ปุ่น กำลังประสบปัญหาขาดแคลนผู้สืบทอด อีกทั้งสมาชิกราชวงศ์หลายพระองค์ก็มีพระชันษามากแล้ว ซึ่งกรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาประชากรของญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจน ซึ่งก็คือ ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่วัยชรา ประเทศเต็มไปด้วยประชากรวัยสูงอายุและอัตราการเกิดของประชากรนั้นต่ำมาก

        สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและสมเด็จพระจักพรรดินีมิชิโกะ ทรงมีพระราชโอรส 2 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายนารุฮิโตะและเจ้าชายอาคิชิโนะ ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ มีพระโอรสธิดารวม 4 พระองค์ เป็นชายเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นคือพระโอรสของเจ้าชายอาคิชิโนะ แต่เนื่องจากระบบสืบราชสมบัติของญี่ปุ่น ทายาทเพศชายเท่านั้นที่มีสิทธิ์ขึ้นครองราชย์ จึงทำให้ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ในรุ่นต่อไป มีเพียงแค่พระโอรสของเจ้าชายอาคิชิโนะพระองค์เดียวเท่านั้น

        จากกฎมณเฑียรบาลฉบับปัจจุบันที่บัญญัติขึ้นในปี พ.ศ. 2490 นั้น ระบุว่า เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายและไร้เสถียรภาพทางการเมือง จักรพรรดิจึงไม่สามารถสละราชสมบัติได้ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นก็มีท่าทียินยอมทำตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ โดยการร่างกฎหมายขึ้นในกรณีพิเศษ และจะมีเนื้อหาที่ระบุขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การสามารถแต่งตั้งรัชทายาทที่เป็นผู้หญิงได้ ในกรณีที่ไม่มีผู้สืบทอดที่เป็นชาย เป็นต้น

        ด้วยความที่ระบอบกษัตริย์ของญี่ปุ่นมีระเบียบปฏิบัติแตกต่างจากประเทศในแถบยุโรปที่ซึ่งการสละราชสมบัติเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยในหน้าประวัติศาสตร์ แต่ด้วยกฎมณเฑียรบาลของประเทศญี่ปุ่น พระมหากษัตริย์ไม่สามารถสละราชสมบัติได้ อีกทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ญี่ปุ่นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีสถานะเป็นสัญลักษณ์ของชาติและไม่มีอำนาจใด ๆ ทางการเมือง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อให้สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตทรงสามารถสละราชสมบัติได้นั้น จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งคำถามมากมายในภายหลัง กฎหลายอย่างจะถูกเปลี่ยนแปลง สถานะของพระองค์และสถานที่ประทับก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย

        ในการนี้ ทางรัฐบาลจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อหารือกันในเรื่องการแก้กฎมณเฑียรบาล คณะกรรมการทั้ง 6 ท่านประกอบด้วย นักวิชาการ 5 ท่าน และผู้บริหารในภาคธุรกิจอีก 1 ท่าน โดยนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ได้กล่าวว่า การหารือดังกล่าวจะเป็นไปด้วยดี เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งและจะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ญี่ปุ่นเริ่มหารือแก้กฎหมาย หลังจักรพรรดิอากิฮิโตะประสงค์สละราชสมบัติ อัปเดตล่าสุด 18 ตุลาคม 2559 เวลา 18:00:32 32,328 อ่าน
TOP