x close

จอร์แดนเตรียมใช้ "ฝนเทียม" เทคโนโลยีจากพระอัจฉริยภาพของในหลวง ร.9

จอร์แดน

          กรมอุตุนิยมวิทยาของจอร์แดน ส่งทีมเรียนรู้วิธีการทำฝนเทียมหรือฝนหลวง จากพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 9 ที่ประเทศไทย เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาภัยแล้งของประเทศ

          ตลอดระยะเวลา 70 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทุ่มเททั้งพระราชหฤทัยและพระวรกายเพื่อพสกนิกรชาวไทย ทรงคิดริเริ่มโครงการหลวงมากมายออกมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับราษฎร ให้ชาวไทยทุกคนได้มีกินมีใช้อย่างยั่งยืนไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นหนึ่งในโครงการจากพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรม พระองค์จึงทรงดำเนินการศึกษาค้นคว้าและทดลองพัฒนาเทคโนโลยีฝนเทียมขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้วยวิธีการใช้เครื่องบินบรรทุกวัสดุเคมีเข้าไปโปรยใส่ในเมฆเพื่อเพิ่มความชื้น แล้วเกิดการรวมตัวกลั่นกลายเป็นน้ำฝน แต่จะมีสักกี่คนรู้ว่า สิ่งที่พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยสร้างเอาไว้มากมายนั้น ไม่เพียงแต่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ชาวไทยเท่านั้น แต่ยังเผื่อแผ่ไปถึงประเทศอื่นอีกด้วย
จอร์แดน

          เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา เว็บไซต์ The Jordan Times ของประเทศจอร์แดน เพิ่งจะเปิดเผยรายงานว่า นายโมฮัมหมัด ซามาวี ผู้อำนวยการกรมอุตุนิยมวิทยาของจอร์แดน ได้เตรียมการนำเทคโนโลยีฝนเทียมหรือฝนหลวงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ของประเทศไทยมาปรับใช้กับประเทศของตน หลังจากประสบปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เกิดวิกฤตภัยแล้งขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ปริมาณน้ำฝนลดลงถึง 15-60 เปอร์เซ็นต์

          โดยประเทศจอร์แดนเอง ได้เคยทดลองทำฝนเทียมด้วยตัวเองมาแล้วในระหว่างปี พ.ศ. 2532-2538 แต่ก็ต้องล้มเหลวไป อันเนื่องมาจากเครื่องบินและอุปกรณ์ที่ใช้ไม่ทำงาน รวมทั้งประสบปัญหาหลายประการ ซึ่งทำให้การดำเนินการไม่สำเร็จในที่สุด

          กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2552 จอร์แดนได้รับการยินยอมจากประเทศไทยให้ใช้เทคโนโลยีฝนหลวง พร้อมกับมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม จากนั้นทางกรมอุตุนิยมวิทยาของจอร์แดนจึงได้ส่งทีมนักอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งนักบินและนักวิศวกร จำนวน 6 ราย ไปเข้าฝึกอบรมปฏิบัติการทำฝนเทียมในประเทศไทย

          หลังจากการฝึกอบรม ทีมปฏิบัติการทำฝนเทียมจอร์แดนก็สามารถวิเคราะห์อากาศ ทิศทางลม ที่เหมาะสมกับการทำฝนเทียม และสามารถกำหนดปริมาณสารเคมีที่ใช้ใส่เข้าไปในเมฆได้แม่นยำมากขึ้น รวมทั้งยังได้ข้อมูลว่า ก้อนเมฆมีคุณสมบัติทางฟิสิกส์ที่หลากหลาย ซึ่งสามารถใส่สารเร่งปฏิกิริยา อาทิ น้ำแข็งแห้ง ไอโอไดด์สีเงิน และผงเกลือ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนที่ได้

          สำหรับกระบวนการทำฝนเทียมนี้ ได้เตรียมการและจะมีปฏิบัติการต่อเนื่องระหว่างปี 2559-2560 เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนของประเทศจอร์แดน ภายใต้การสนับสนุนจากกองทัพอากาศและกระทรวงการน้ำและการเกษตรของประเทศจอร์แดน

ภาพจาก
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จอร์แดนเตรียมใช้ "ฝนเทียม" เทคโนโลยีจากพระอัจฉริยภาพของในหลวง ร.9 อัปเดตล่าสุด 16 มกราคม 2562 เวลา 10:51:30 19,931 อ่าน
TOP