x close

จากใจ "นาวาเอก ทองย้อย" ผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

นาวาเอก ทองย้อย

          เปิดเรื่องราวจากใจ นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ปลาบปลื้มได้ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทจนเกษียณอายุราชการ

          จากบทประพันธ์กาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งมีการใช้บทประพันธ์กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติปีกาญจนาภิเษก ในมหามงคลวโรกาสทรงครองราชสมบัติครบ 50 ปี ประพันธ์โดย นาวาเอก (พิเศษ) ทองย้อย แสงสินชัย โดยมี นาวาโท ณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ หัวหน้าแผนกเรือพระราชพิธี เป็นผู้ขับลำนำ
นาวาเอก ทองย้อย

          ล่าสุดวันที่ 19 ตุลาคม 2559 นาวาเอก (พิเศษ) ทองย้อย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ทหารเรือ วัย 72 ปี ได้บอกเล่าเรื่องราวความปลื้มปีติที่ได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท เป็นผู้ประพันธ์บทกาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยแต่งกาพย์เห่เรือถึง 6 คราว คือ

          - ปี 2539 ในบทเฉลิมพระเกียรติปีกาญจนาภิเษก
          - ปี 2542 บทกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
          - ปี 2546 บทกาพย์เห่เรือเอเปค ในโอกาสประชุมเอเปค ในประเทศไทย เมื่อ 20 ตุลาคม 2546
          - ปี 2549 บทกาพย์เห่เรือฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
          - ปี 2550 บทกาพย์เห่เรือ 80 พรรษา
          - ปี 2555 บทกาพย์เห่เรือ ครบ 7 รอบ


          ทั้งนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้กองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค นับว่าตนเองได้รับเกียรติอย่างสูงสุดที่ได้เป็นผู้ประพันธ์ โดยนำความรู้ความสามารถประกอบกับความจงรักภักดีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งใจและประพันธ์บทกาพย์เห่เรือถวายงานใต้เบื้องพระยุคลบาท

นาวาเอก ทองย้อย

          นาวาเอก (พิเศษ) ทองย้อย ยังเผยด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครืออีกว่า การประพันธ์บทกาพย์เห่เรือที่ประทับใจมากที่สุดคือ "แผ่นดินที่ทรงครอง แผ่นดินทองแผ่นดินธรรม คราวเข็ญเข้าครอบงำ ทรงดับเข็ญทุกคราวครัน เหน็ดเหนื่อยนั้นหนักนัก ทรงงานหนักอเนกอนันต์ วันพักเพียงสักวัน ก็แสนน้อยดูนานเกิน วังทิพย์คือท้องทุ่ง ม่านงามรุ้งคือเขาเขิน ร้อนหนาวในราวเนิน มาโลมไล้ต่างรสสุคนธ์ ย่างพระบาทที่ยาตรา ยาวรอบหล้าฟ้าสากล พระเสโทที่ถั่งทน ถ้าไหลรวมคงท่วมไทย"

          นอกจากนี้ยังมีบทที่ภาคภูมิใจอีกบทคือแต่งกาพย์เห่เรือเอเปค ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเอเปค ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้นำของชาติต่าง ๆ ที่เข้าชมในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นอย่างมาก

          ทั้งนี้หลังจากที่ตนได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต ตนและครอบครัวต่างรู้สึกโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากตนและครอบครัวได้รับใช้งานใต้เบื้องพระยุคลบาทมาโดยตลอด เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแม้จะเกษียณอายุราชการมาแล้วก็ยังคงทำหน้าที่เพื่อสังคมและถ่ายทอดพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ ให้กับเยาวชนและนักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้สืบไป




ภาพจาก workpointtv

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จากใจ "นาวาเอก ทองย้อย" ผู้ประพันธ์กาพย์เห่เรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค อัปเดตล่าสุด 20 ตุลาคม 2559 เวลา 14:16:17 4,881 อ่าน
TOP