x close

เผยเรื่องราวนายแพทย์ผู้ถวายพระประสูติกาล ร.9 พระสหายคนแรกของในหลวง



เผยเรื่องราวนายแพทย์ผู้ถวายพระประสูติกาล ร.9 พระสหายคนแรกของในหลวง

         เผยเรื่องราวของ ดร.ดับบลิว. สจ๊วต วิตต์มอร์ แพทย์ผู้ถวายพระประสูติกาล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ...พระสหายคนแรกของพระองค์

         วันนี้ (20 ตุลาคม 2559) ทีมงานกระปุกดอทคอม ขอหยิบข้อมูลจากเฟซบุ๊ก ชมรมประวัติศาสตร์สยาม กับเรื่องราวความทรงจำของแพทย์ผู้ถวายพระประสูติกาล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้กลายเป็น "พระสหายคนแรก" ของพระองค์ โดยในวันนั้น เขาไม่อาจรู้ได้เลยว่า "ในหลวง ร.9" จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่...พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย ที่ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานถึง 70 ปี 
         สำหรับเนื้อหาทั้งหมด มีดังนี้..

         เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมาต์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา โดยแพทย์ผู้ถวายการประสูติคือ ดร.ดับบลิว. สจ๊วต วิตต์มอร์ (Dr.W. Stewart Whittemore)

         นายแพทย์สจ๊วต วิตต์มอร์ จดจำเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ในวันพระบรมราชสมภพได้ทั้งหมด ดังที่บันทึกไว้ในวารสาร บอสตันโกลบ ฉบับปี  2503 โดยคุณหมอทบทวนความทรงจำเมื่อครั้งหลัง ความว่า "พระองค์ทรงมีพระพลานามัยดีเยี่ยม หม่อมแม่ของพระองค์ ทรงเป็นคนไข้ที่ยอดเยี่ยมไม่ทรงบ่นใด ๆ"

         ในเวลานั้นคุณหมอมิอาจทราบได้เลยว่า พระนามภาษาอังกฤษ "baby Songkla" ในบัตรพระประสูติกาลของโรงพยาบาลเมาต์ ออเบิร์น ใน 19 ปีต่อมาจากนั้น จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศสยาม ทั้งยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในไทย ที่มีพระประสูติกาล ณ สหรัฐอเมริกา และได้ทรงครองราชบัลลังก์ต่อเนื่องยาวนานกว่า 70 ปี

         วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงพยาบาลเมาต์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเสตส์ สหรัฐอเมริกา สถานที่ซึ่งเป็นที่ทรงพระราชสมภพ โอกาสนี้ได้พระราชทานของที่ระลึกแก่ "พระสหายคนแรก" ดร.ดับบลิว. สจ๊วต วิตต์มอร์ นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติ และแก่นางพยาบาลทั้ง 4 คน คือ

         - มิสซิสเลสลี่ เลตัน
         - มิสเจนีเวียฟ เวลด้อน
         - มิสซิสมาร์กาเร็ท เฟย์
         - มิสรูธ แฮริงตัน


         เหตุการณ์ในวันนั้นมีบันทึกอยู่ในหนังสือเรื่อง "เสด็จพระราชดําเนิน: สหรัฐอเมริกา พุทธศักราช ๒๕๐๓, ปากีสถาน พุทธศักราช ๒๕๐๕, และ สหพันธรัฐมลายา พุทธศักราช ๒๕๐๕" พระนิพนธ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต มีความว่า

         หมอชรา ดร.ดับบลิว. สจ๊วต วิตต์มอร์ ผู้ซึ่งถวายการประสูติ ที่ทรงพบครั้งแรกแล้วที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก่อนเสวยพระกระยาหารกลางวัน ได้รับพระราชทานหีบบุหรี่ถมทอง มีพระปรมาภิไธยข้างนอก และตัวหนังสือสลักไว้ข้างในว่า "ให้เพื่อนคนแรกของฉัน ดร.ดับบลิว. สจ๊วต วิตต์มอร์ เพื่อเป็น token of affectionate sentiment" จะแปลให้ถูกใจก็ไม่สำเร็จ เลยลอกภาษาฝรั่งให้ "ยาย" อ่านเอาเอง

         หมอวิตต์มอร์ มาคอยรับเสด็จฯ พร้อมด้วยนางพยาบาล 4 คน ที่เมื่อ 32 ปีมาแล้วคงจะเป็นนางพยาบาลสาว ๆ สำเร็จใหม่ ตัวเล็กบอบบาง บัดนี้กลายเป็นนางพยาบาลแก่ ๆ สวมแว่นตาหนา ตัวอ้วน ๆ แต่ท่าทางยังตุ้งติ้ง ทั้ง 4 คน เมื่อพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานตลับแป้งถมทอง มีพระปรมาภิไธยที่ฝาตลับแก่ทุกคน และตรัสคล้าย ๆ ว่า "ต้องใช้บ้างนะ" คนหนึ่งก็เปิดฝาตลับแป้งขึ้นส่องกระจกในนั้น พลางทำตาหวานร้องว่า "จะใช้ตลอดชีวิต และจะนึกถึงท่านตลอดเวลา" อีกคนหนึ่งร้องว่า "You were such a nice baby !" พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงแย้มพระสรวล มีพระราชดำรัสตอบว่า "I hope I have grow into something nice too" ตอนนี้ทั้ง 4 คนก็เข้ามาใกล้พระองค์ ร้องว่า "Of course, of course" ดังลั่น เมื่อทั้ง 2 พระองค์เสด็จฯ เลยไปทรงทักทายกับคนอื่นแล้ว แม่แก่ทั้ง 4 คนก็ยังคุยต่อไม่จบ เสียงแหลมทีเดียว หญิงอดไม่ได้ ก็เข้าไปยืนฟังใกล้ ๆ ต่างคนร้องว่า "ท่านช่างดีเหลือเกิน" "น่ารักเหลือเกิน" What a nice boy ! "ฉันจะไม่มีวันลืมวันนี้เลย" มิสซิสเลตัน นึกถึงความหลัง ก็ทำตาลอยบอกกับคนที่มาหยุดฟังว่า "พระองค์ท่านเป็นทารกที่น่าเอ็นดูที่สุด พ่อแม่ของพระองค์ท่านทำตนเป็นคนธรรมดา ๆ ไม่ชอบเป่าแตร ตีกลอง"

         ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินออกจากบอสตัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักหนังสือพิมพ์อเมริกันเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานสัมภาษณ์เป็นเวลานานอย่างไม่ถือพระองค์ ในช่วงหนึ่งของการพระราชทานสัมภาษณ์ นักหนังสือพิมพ์ได้กราบทูลฯ ถามความรู้สึกส่วนพระองค์ว่า "นี่เป็นการเสด็จฯ เยือนอเมริกาเป็นครั้งแรก ทรงรู้สึกอย่างไรบ้าง ?" พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า "ตื่นเต้นที่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด เพราะข้าพเจ้าเกิดที่นี่...ที่เมืองบอสตัน"


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เฟซบุ๊ก ชมรมประวัติศาสตร์สยาม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยเรื่องราวนายแพทย์ผู้ถวายพระประสูติกาล ร.9 พระสหายคนแรกของในหลวง อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2559 เวลา 14:21:43 37,868 อ่าน
TOP