x close

เรื่องเล่าจากประธานองคมนตรี เกี่ยวกับในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่น้อยคนจะได้รู้

ข่าวในหลวง

          ธานินทร์ กรัยวิเชียร ประธานองคมนตรีคนใหม่ เผย "ในหลวง ร.9"  มีพระราชดำรัสให้สร้างถนนแทน หลังมีผู้ขอสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวาย

          ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าดี ๆ จากประธานองคมนตรีคนใหม่ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่เคยเขียนบอกเล่าความรู้สึกประทับใจในการทำงานสนองพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไว้ในหนังสือเรื่อง "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี" ซึ่งถูกจัดทำในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554
          และวันนี้ (21 ตุลาคม 2559) เราขอนำใจความบางส่วนบางตอนจากเรื่อง "พระบารมีคุ้มเกล้าฯ" ที่นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (ขณะนั้นเป็นองคมนตรี) ได้เขียนไว้ มาให้ทุก ๆ คนได้อ่านกัน

พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          ท่านธานินทร์เขียนเล่าไว้ว่า การได้สนองพระมหากรุณาธิคุณเบื้องพระยุคลบาทมาช้านาน ทำให้ผมตระหนักในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง การพัฒนา การเกษตร ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี การกีฬา ภาษาไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอัจฉริยภาพด้านกฎหมาย

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเป็นนักกฎหมายโดยวิชาชีพ แต่ทรงเข้าถึงแก่นแท้และจิตวิญญาณของกฎหมายอย่างแท้จริง พระอัจฉริยภาพของพระองค์เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ผมอยู่เสมอ จากพระบรมราชวินิจฉัยฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษในคดีต่าง ๆ หรือจากพระราชกระแสเกี่ยวกับปัญหาทางด้านกฎหมายที่พระราชทานให้คณะองคมนตรีพิจารณา

          นอกจากนี้ พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานในหลายโอกาส ยังแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่นักกฎหมายและบุคคลทั่วไปถึงพระอัจฉริยภาพทางกฎหมายอันลึกซึ้งยิ่งนัก ซึ่งเราอาจเรียนรู้อุดมการณ์ เจตนารมณ์และหลักการของกฎหมาย ตลอดจนข้อบกพร่องของกฎหมาย หรือแม้กระทั่งข้อจำกัดของผู้ใช้กฎหมาย จากพระองค์ได้เป็นอย่างดี บ่อยครั้งที่พระองค์ทรงชี้ทางสว่างให้นักกฎหมายได้เห็นช่องทางที่จะแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งในตัวบทกฎหมายและในตัวนักกฎหมายเอง

          พระอัจฉริยภาพทางกฎหมายเรื่องหนึ่งที่ประทับอยู่ในดวงใจของผมตลอดมา คือ พระราชดำริในเรื่องความยุติธรรม...

          สำหรับในเรื่องนี้มีพระบรมราโชวาทองค์หนึ่งเกี่ยวกับความยุติธรรมกับกฎหมาย ซึ่งให้แง่คิดที่ควรใคร่ครวญและศึกษาอย่างลึกซึ้งคือ 

          "...กฎหมายทั้งปวงนั้น เราบัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นปัจจัยสำหรับรักษาความยุติธรรม กล่าวโดยสรุปคือ ใช้เป็นแบบแผนแห่งความประพฤติปฏิบัติของมหาชนสถานหนึ่ง กับใช้เป็นแม่บทในการพิจารณาตัดสินความประพฤติปฏิบัตินั้น ๆ ให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงตรงอีกสถานหนึ่ง

          โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายเท่านั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องคำนึงถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมาย และได้ผลที่ควรจะได้..."


ข่าวในหลวง

          แนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ในเรื่อง "ความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย" นี้ สอดคล้องต้องกันอย่างยิ่งกับสามัญสำนึก...

          และเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า แนวพระราชดำริดังกล่าวได้รับการน้อมนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มาตรา 197 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์"

          นับเป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มคำว่า "โดยยุติธรรม" เข้ามาในรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน และวางไว้เป็นลำดับแรกก่อนคำว่า "ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย" น่าคิดได้ว่าผู้ร่างมีเจตนารมณ์ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมมาเป็นลำดับแรก อันสอดคล้องกับพระบรมราโชวาทดังกล่าวข้างต้น ส่วนในทางปฏิบัติควรจะเป็นเช่นไรนั้น คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่ช่วยกันใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เจาะทางตันสู่ความยุติธรรมต่อไป

พระบรมราชานุสรณ์

          ท่านองคมนตรีเล่าถึงกรณีที่เคยมีผู้ขอสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวาย พระองค์มีพระราชดำรัสตอบอย่างไร

          "ขอเถิดอนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนน เรียกว่า วงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน..." นี่คือพระราชดำรัสตอบอดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า รัฐบาลจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสรณ์ น้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชดาภิเษกที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี

          น้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น มิได้ทรงมีเฉพาะต่อชาวชนบทในท้องถิ่นทุรกันดารเท่านั้น หากแต่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยทั่วทุกคนอย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ

          ทรงเข้าพระราชหฤทัยและทรงเห็นใจชาวกรุงที่ต้องประสบกับปัญหาการจราจรคับคั่ง จึงมีพระราชดำรัสให้จัดสร้างถนนวงแหวนรอบกรุงเทพฯ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรคับคั่งในเมืองหลวง และยังช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่สัญจรเข้า-ออกระหว่างใจกลางเมืองกับชุมชนส่วนนอก ตลอดจนผู้ที่มาจากต่างจังหวัดให้สามารถเดินทางผ่านกรุงเทพฯ ได้โดยไม่ต้องผ่านศูนย์กลางของเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น

ข่าวในหลวง

          จากพระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น เป็นที่มาของวงแหวน "ถนนรัชดาภิเษก" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2514

          พระองค์ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ และติดตามความคืบหน้าด้วยพระองค์เองเสมอมา เมื่อรัฐบาลชุดของผมเข้าทำงาน พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า "ถนนสายนี้เริ่มสร้างมาหลายปีแล้วยังไม่เสร็จเรียบร้อย ยังไม่ครบวง ให้เร่งสร้างให้เสร็จโดยเร็วด้วย"

          ขณะนั้น ถนนสายนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างช่วงสี่แยกอโศกกับถนนพหลโยธิน รัฐบาลจึงได้เร่งรัดให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ และรัฐบาลชุดต่อ ๆ มาก็ได้รีบเร่งดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองพระราชดำริ จนสำเร็จเป็นวงแหวนถนนรัชดาภิเษกโดยสมบูรณ์ ในปี 2536 ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของกรุงเทพฯ ชั้นในให้คลี่คลายไปได้อย่างมาก

เรื่องที่น่าใคร่ครวญ

          ท่านองคมนตรีเล่าถึงสถานการณ์ที่พระองค์ท่านถูกจาบจ้วงล่วงละเมิดว่า

          เมื่อมีผู้ใดจาบจ้วงล่วงละเมิดพระองค์ ไม่ว่าจะโดยการบิดเบือนสถานการณ์หรือข้อเท็จจริงต่าง ๆ หรือโดยการปั้นน้ำเป็นตัว จะเห็นเป็นที่ประจักษ์แจ้งทั่วกันว่า ไม่เคยทรงตอบโต้หรือทรงมีปฏิกิริยาในทางใด ๆ ทั้งสิ้น พระองค์ทรงสงบนิ่ง เสมือนหนึ่งไม่เคยทรงมีเรื่องเหล่านี้มาแผ้วพานให้ทรงระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทเลย พระองค์ทรงปฏิบัติได้อย่างไร ?

          เรื่องนี้จะคิดเห็นเป็นอื่นคงจะยาก นอกจากว่า พระองค์ทรงปฏิบัติทศพิธราชธรรม ประการที่ 7 "อกฺโกธ" หรือ "ความไม่โกรธ" และทรงบำเพ็ญ "อภัยทาน" ได้อย่างบริสุทธิ์และสมบูรณ์

          ขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลากว่า 65 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติ พระองค์ทรงดำรงคงมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม และทรงแน่วแน่ในอันที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ สมดังพระราชปณิธานในพระปฐมบรมราชโองการอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ด้วยพระพลังแห่งพระจิตอันหนักแน่น เด็ดเดี่ยว มั่นคง และด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการส่งเสริมพระบารมีในพระองค์ ซึ่งสูงส่งและสดใสอยู่แล้วให้ยั่งยืนต่อไปชั่วกาลนาน

ข่าวในหลวง

          สำหรับประชาชนชาวไทยนั้น เราทั้งหลายอาจเรียนรู้วิธีการทำงาน จากการทรงงานในโครงการตามพระราชดำริและพระราชกรณียกิจทั้งปวง ที่ดำเนินไปอย่างมีแบบแผน รัดกุม เป็นขั้นเป็นตอน ทั้งมีการติดตามงานและประเมินผลงานทุกระยะ เพื่อการพัฒนาปรับปรุงงานของตนให้ดียิ่งขึ้นไป และที่สำคัญเคียงคู่ไปกับการพัฒนางาน คือ การพัฒนาจิตใจ

          "เราสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้จากพระราชจริยวัตร และพระบรมราโชวาทอันล้ำค่าทั้งมวล พึงน้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม นำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ทั้งเป็นหลักใจในการยึดมั่นทำแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม เพื่อความผาสุกของแต่ละบุคคลและครอบครัว และเพื่อความเจริญมั่นคงเป็นปรกติสุขของบ้านเมืองสืบไป"

          อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงบางส่วนบางตอนจากประสบการณ์ของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถวายงานใกล้ชิดพระองค์ ทั้งยังเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง


ภาพและข้อมูลจาก หนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะองคมนตรี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องเล่าจากประธานองคมนตรี เกี่ยวกับในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่น้อยคนจะได้รู้ อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2559 เวลา 15:00:25 70,215 อ่าน
TOP